อะไรเอ่ย ? NCD

“โรค NCD ฆ่าคนทุก 2 นาที ...... ระวัง ! เป็นรายต่อไป” ถ้าคุณสังเกตเห็น นี่คือคำเตือนของ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ที่ติดอยู่ข้างรถประจำทาง ขสมก. (องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ)

“NCD” คืออะไร ?

NCD (Non-communicable disease) คือ โรคที่ไม่ติดต่อ แต่เป็นโรคร้ายที่เราสร้างเอง เป็นโรคที่ไม่สามารถแพร่กระจายโรคจากคนสู่คนได้ โดยทั่วไปอาจเรียกว่า กลุ่มโรคเรื้อรังซึ่งหมายถึงโรคที่เกิดต่อเนื่องยาวนาน และมีการดำเนินของโรคเป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งอาจมีผลให้เสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบตันอย่างเฉียบพลัน (Sudden stroke)

ตัวอย่างของโรค NCD ได้แก่ โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune diseases) โรคหัวใจ (Heart disease) โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน (Stroke) โรคมะเร็งหลายชนิด โรคหอบหืด (Asthma) โรคเบาหวาน (Diabetes) โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease) โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) โรคต้อกระจก (Cataracts)

ในอดีตมีความเชื่อว่า NCD เป็นโรคของคนรวย (Diseases of the rich) แต่ปัจจุบันกลับพบว่ามีอัตราการเกิด NCD มากขึ้นในคนที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง นอกจากนี้ยังมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าคนรวยด้วย ทั้งนี้เพราะคนรวยมีความสามารถในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้มากกว่า

องค์การอนามัยโลก (The World Health Organization = WHO) ได้ระบุว่า โรค NCD เป็นสาเหตุหลักของการตายทั่วโลก โดยในปี พ.ศ.2551 มีคนเสียชีวิตด้วย NCD มากกว่า 36 ล้านคนต่อปี (มากกว่าร้อยละ 60 ของการตายทั้งหมด) ในจำนวนนี้ร้อยละ 80 หรือ 29 ล้านคนเป็นคนในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง

มากกว่า 9 ล้านคนเสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี โดยมีโรคหัวใจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุด กล่าวคือ มีจำนวน 17.3 ล้านคนต่อปี ตามด้วยโรคมะเร็ง 7.6 ล้านคน โรคทางเดินหายใจ 4.2 ล้านคน และโรคเบาหวาน 1.3 ล้านคน

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค NCD ได้แก่ วิถีการใช้ชีวิต สภาพแวดล้อม เพศ พันธุกรรม พฤติกรรม เช่น การสูบบุหรี่ การกินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ การไม่ออกกำลังกาย

ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุดได้แก่ ระดับความดันโลหิต กล่าวคือมีประมาณร้อยละ 16.5 ในขณะที่การสูบบุหรี่มีประมาณร้อยละ 9 ระดับน้ำตาลในเลือดร้อยละ 6 การไม่ออกกำลังกายร้อยละ 6 และการมีน้ำหนักเกินร้อยละ 5

จริงๆ แล้ว ต้องถือว่า NCD เป็นโรคที่ป้องกันได้เพียงแต่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงเท่านั้น โดยมีการประเมินว่าหากปัจจัยเสี่ยงพื้นฐานเหล่านี้ได้ถูกขจัดไปแล้ว เราจะสามารถป้องกันการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน และเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ถึงร้อยละ 80 ในขณะที่ป้องกันการเกิดมะเร็งได้ร้อยละ 40

แหล่งข้อมูล

1. Non-communicable disease. http://en.wikipedia.org/wiki/Non-communicable_disease [2014, June 17].
2. Noncommunicable diseases. http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs355/en/ [2014, June 17].