เสื้อโหล ก็ยังดีกว่าไม่มีเสื้อใส่

drsomsaktalk-33


      

      ก่อนนอื่นผมต้องขอบอกว่าเรื่องที่ผมเล่านี้ คือ เรื่องจริงที่เกิดขึ้นมานานพอสมควร เรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนที่ประเทศไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองที่เราเรียกกันง่าย ตอนนั้นผมเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 ได้ดูแลผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นหญิงอายุประมาณ 50 ปี รักษาด้วยอาการไตวายเรื้อรัง ต้องได้รับการรักษาด้วยการฟอกเลือดทางหลอดเลือด (hemodialysis) ผมได้คุยกับสามีผู้ป่วยเพราะทางสามีได้มาเยี่ยมผู้ป่วยได้เฉพาะตอนกลางคืน เนื่องจากกลางวันต้องค้าขายอยู่ที่อีกจังหวัดหนึ่ง ผมเป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ 4 ก็ต้องรอสอบถามประวัติจากญาติก็เลยได้พูดคุยกัน

      ครอบครัวนี้มีฐานะดีพอสมควรครับ สามีบอกว่าตอนนี้เขามีเงินเก็บประมาณ 5 ล้านบาท กิจการก็ดีครับมีผลกำไรมาตลอด ลูกชาย 2 คนเรียนมัธยมปลาย สามีผู้ป่วยได้ถามผมว่าการรักษานี้จะยาวนานแค่ไหน ใช้เงินแค่ไหน และการรักษาระหว่างการฟอกเลือด กับการล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) อะไรจะดีกว่ากัน สุดท้ายก็เลือกการรักษาด้วยการฟอกเลือด ผมก็อธิบายว่า การรักษานี้ต้องรักษาไปตลอดชีวิต (ตอนนั้นยังไม่มีการผ่าตัดเปลี่ยนไต) ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนก็ประมาณ 7 หมื่นบาท ทั้งค่าฟอกเลือด ค่ายา ค่าเดินทาง ถ้ามีเงิน 5 ล้านบาท ก็ลองคำนวณดูว่าจะรักษาได้นานกี่ปี ก็ประมาณ 72 เดือน ก็ประมาณ 6 ปี แล้วกิจการก็ยังดี ดังนั้นทางสามีก็เลือกวิธีการรักษาดังกล่าว เพราะมั่นใจว่าน่าจะมีรายได้เพียงพอต่อการรักษา ซึ่งตอนนั้นผมก็หวั่นๆ ใจเหมือนกันว่ามันจะไม่พอ ถ้าสามีไม่สามารถทำงานได้ทุกวัน ต้องพาภรรยามาฟอกเลือด 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และถ้าภรรยาไม่สบายต้องนอนโรงพยาบาลอีก จะเกิดอะไรขึ้น ลูกๆ 2 คนจะทำอย่างไร

      และแล้วสิ่งที่ผมคาดไว้ก็เกิดขึ้นจริงๆ พอรักษาไปได้ 2 ปี ภรรยาเริ่มต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล เงินจาก 5 ล้านบาท เหลือ 3 ล้านบาท กิจการที่บ้านเริ่มไม่ปกติ เพราะต้องปิดบ่อยๆ ตอนนั้นผมเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 แล้วครับ เริ่มมีความรู้ ประสบการณ์มากขึ้น ก็ได้พบกับผู้ป่วยและสามีอีกครั้ง เรายังจำกันได้ พูดคุยกันอีกแต่คราวนี้คุยลึกมากขึ้น ไว้ใจกันมากขึ้น สามีผู้ป่วยถามผมว่า หมอเห็นว่าเราควรทำอย่างไร ผมมองออกแล้วว่าถ้าเรายังเดินหน้าแบบนี้ไป เงินที่เหลือและกิจการที่บ้านก็ไม่พอแน่ ผมจึงให้ความเห็นกับสามีผู้ป่วยไปว่า “ผมว่าเราน่าจะเก็บเงินไว้ให้ลูก 2 คนเรียนหนังสือ และประคับประคองผู้ป่วยดีกว่า เราจะรักษาไปเรื่อยๆ ถึงอย่างไรสุดท้ายเราก็แพ้อยู่ดี เมื่อเงินหมด ทุกอย่างก็หมด ผู้ป่วยก็เสียชีวิต ลูกๆ ก็จะไม่มีเงินเรียนหนังสือ กิจการที่บ้านก็หมด “ ผมให้ความเห็นไปแบบนั้นจริงๆ ครับ ทางสามีผู้ป่วยก็เข้าใจ แต่ด้วยความรักที่มีต่อภรรยา และการแคร์ต่อสังคมว่าทำไมไม่รักษาภรรยา มีเงินตั้งหลายล้าน กิจการก็มี ทำให้สามีก็ยังคงตัดสินใจเดินหน้ารักษาภรรยาแบบเดิม

      อีกหนึ่งปีต่อมา ผมก็พบผู้ป่วยอีกครั้ง ตอนนี้ผมเป็นแพทย์ใช้ทุนอายุรศาสตร์ครับ ได้รักษาผู้ป่วยอีกครั้ง คราวนี้สถาณการณ์เลวร้ายมากยิ่งขึ้น ผู้ป่วยอาการหนักมาก เงินที่เหลือก็เกือบหมดแล้ว กิจการที่ร้านก็ต้องปิดตาย เพราะสามีต้องมาเฝ้าภรรยาตลอดเวลา สรุปสุดท้ายเงิน 5 ล้านบาทก็หมด ร้านก็ต้องปิดตาย ผู้ป่วยก็เสียชีวิต หมดทุกอย่าง

      ผมพบกับสามีผู้ป่วยในวันที่ผู้ป่วยเสียชีวิตนั้น เรา 2 คนมองหน้ากันและเข้าใจว่าเราอยากพูดอะไรกัน แต่ไม่มีเสียงพูดออกจากทั้ง 2 คน เราต่างมองหน้าซึ่งกันและกัน โค้งศีรษะทักทายกัน แล้วก็เดินจากกันไป ผมจำภาพทุกภาพ ทุกเหตุกาณ์นี้ได้เป็นอย่างดีตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้าย ผมจำมาเล่าให้นักศึกษาแพทย์บางรุ่นได้ฟังว่า อดีตก่อนที่ไม่มีบัตรทองนั้น คนไทยลำบากอย่างไร โดยเฉพาะผู้ป่วยไตวาย เราไม่มีเงิน ก็ต้องปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตต่อหน้าต่อตาเราไป เราทำอะไรไม่ได้จริงๆ

      ด้วยเหตุนี้ที่คณะแพทย์ขอนแก่นจึงได้พัฒนาระบบการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังด้วยการล้างไตทางช่องท้อง เพราะสามารถให้ผู้ป่วยไปทำการรักษาได้เองที่บ้าน ยังทำงานได้ ไปไหนมาไหนได้ ถึงแม้จะมีผลการรักษาดีไม่เท่าเทียมกับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ก็ตาม แต่ผมยังคิดว่า ก็ยังดีกว่าไม่ได้รับการรักษาเลย และก็สามารถลดการล้มละลายของครอบครัวได้มากมาย ผมเองไม่ใช่หมอโรคไต ผมเป็นหมอสมอง ผมเองไม่มีความรู้ดีเกี่ยวกับโรคไต ผมอาจคิดผิด เพราะไม่รู้ดีเกี่ยวกับโรคไต แต่ผมก็ยังเชื่อมั่นว่า เมื่อมีการรักษาที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและสามารถช่วยเหลือชีวิตคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม ถึงจะไม่ดีสูงสุด แต่ก็ไม่เป็นภาระกับคนอื่นๆ มาก ที่จะต้องพาผู้ป่วยเดินทางมาฟอกเลือด ผมก็คงไม่รู้หรอกครับว่าใครควรฟอกเลือด ใครควรล้างไตทางช่องท้อง ก็คงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็น เพียงแต่ผมมองด้วยใจและประสบการณ์ตรงว่า

      การมีเสื้อโหลใส่ ผมว่าก็ยังดีกว่าไม่มีเสื้อใส่เลย เราคงไม่สามารถให้คนไทยทุกคนใส่เสื้อที่ตัดออกจากร้าน มีการวัดตัวที่ละคนได้หรอกครับ

      หมายเหตุ เรื่องเล่านี้มีวัตถุประสงค์เพียงแค่อยากให้คนไทยทุกคนฉุกคิดกับความเป็นจริงว่าประเทศเรามีความมั่งคั่งทางการเงินแค่ไหน เราจะบริหารจัดการสิ่งที่เรามีอย่างไรให้เหมาะสมกับประเทศของเรา ไม่ได้มีเจตนาเปรียบเทียบคุณภาพการรักษาของ 2 วิธี และอยากให้ทุกคนเห็นความจริงก่อนที่จะมีบัตรทองว่า คนไทยเราลำบากแค่ไหน 5 ล้านก็ยังหมดกับภาวะไตวายเรื้องรัง