สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดกับการรักษาพยาบาลไทย

drsomsaktalk-32


      

      ผมเรียนแพทย์ตั้งแต่ปี 2527 จบทำงานในปี 2533 ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ผมเริ่มทำงานในฐานะแพทย์ใช้ทุน จนเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม และระบบประสาท ทำงานทั้งในบทบาทแพทย์ผู้ให้การรักษา อาจารย์แพทย์สอนนักศึกษาแพทย์ แพทย์ฝึกอบรมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมและประสาทวิทยา แต่ละสัปดาห์ผมเองได้ตรวจคนไข้มากกว่า 300 คน ผมพบความเปลี่ยนแปลงมาตลอดเกือบ 30 ปีมานี้ โดยเฉพาะช่วง 5 ปีหลังมานี้ ถามว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเกิด ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เราคงมีความสุขถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งที่นำมาสู่ความเจริญ ความสุข คุณภาพชีวิตที่ดี แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นส่งผลตรงกันข้ามกับข้างต้น เราก็คงไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ผมลองมองย้อนไปในอดีต และลองคาดการณ์ไปในอนาคตว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นกับการรักษาพยาบาลคนไข้ในประเทศไทยของเรา

      1. ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจะสูงขึ้นอย่างมาก ทั้งค่าตรวจรักษา ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะการส่งตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ ตรวจเลือด เอกซเรย์ต่างๆ จะมีค่าใช้จ่ายมากมาย เพราะมีเทคโนโลยีต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้ได้การวินิจฉัยโรคที่แน่นอน ค่ายาก็จะแพงสูงขึ้น เพราะยาจะมีการออกฤทธิ์ที่จำเพาะ ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น ซึ่งทั้งหมดก็ดูว่าน่าจะดี แต่ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นนั้นมันสูงมากกว่าเศรษฐานะในภาพรวมของประเทศ ที่จะทำให้คนไทยทุกคนได้รับการรักษาดังกล่าวเทียบเท่ากัน

      2. การบริหาร 3 กองทุนด้านสุขภาพ คือ ส่วนของข้าราชการ ประกันสังคม และ สปสช. นั้นจะมีความยากลำบากมากขึ้น เพราะคนในสังคมตอนนี้รู้แต่ว่าเรามีสิ่งที่ต้องการอะไร รู้ว่าเราต้องมีสิทธิ์ได้รับอะไร ทำให้เกิดการเรียกร้องความยุติธรรมว่า ฉันต้องได้ แต่ความเหมาะสมหรือความเป็นจริงในประเทศของเรานั้นกลับไม่ได้มีการพูดถึงอย่างจริงจัง

      3. โรงพยาบาล สถานพยาบาลของรัฐจะมีผู้ป่วยเข้ามารักษาพยาบาลมากขึ้น เพราะศักยภาพ และการเข้าถึงที่มากขึ้น การบริการที่ดีมากขึ้น ซึ่งก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่อภาพรวมของระบบสุขภาพไทย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ความคาดหวังของคนในสังคมไทยที่มีความต้องการการรักษาที่ดี รวดเร็ว สะดวกสบาย ไม่รอนาน พูดจาไพเราะ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าโรงพยาบาลของรัฐนั้นมีผู้มาใช้บริการในแต่ละวันมากมาย เจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานกันอย่างหนักเกินความเหมาะสม อาจส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการบริการได้

      4. การร้องเรียน ฟ้องร้องจะมีมากขึ้น เกิดจากความคาดหวังในผลการรักษาที่มีสูงว่า แพทย์ต้องรักษาให้หาย ถ้าหายก็เสมอตัว ไม่หายคือผิดพลาด ตายคือความผิดขั้นร้ายแรง ร่วมกับปัญหาการสื่อสาร การส่งต่อข้อมูลในโลกออนไลน์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็จะยิ่งทำให้การตรวจรักษาเป็นไปด้วยความยากลำบาก แพทย์จะต้องส่งตรวจเพิ่มเติมมากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันความผิดพลาด เช่น การวินิจฉัยไส้ติ่งก็ต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง ปวดหัวก็ต้องเอกซเรย์หรือเอ็มอาร์ไอสมอง เป็นต้น

      5. เมื่อมีการฟ้องร้องมากขึ้น แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐก็จะขาดแคลน เพราะมีการลาออกมากขึ้น แพทย์ก็จะไปฝึกอบรมเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น อาจส่งผลให้ขาดแคลนแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป รวมทั้งแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวด้วย

      6. ประชาชนจะมีความต้องการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่มั่นใจในแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ตรงนี้เองก็จะทำให้เกิดปัญหาในการรักษาพยาบาล ผู้ป่วยต้องการให้โรงพยาบาลส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลทั้งทางตรงและอ้อมก็สูงขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาการแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ การบริการในโรงพยาบาลขนาดเล็กอาจไม่มีผู้มารับบริการ ส่งผลให้เกิดความสูญเสียด้านการลงทุนของโรงพยาบาลชุมชน หรืออาจต้องปิดโรงพยาบาลขนาดเล็กเลยก็ได้

      7. ประชาชนจะมีการสืบค้นข้อมูลด้านสุขภาพมาก่อนที่จะพบแพทย์ ซึ่งก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ในมุมหนึ่งคือข้อมูลที่ประชาชนสืบค้นมานั้น ประชาชนเข้าใจไม่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดการดูแลตนเองไม่ถูก หรือเกิดปัญหาด้านการสื่อสารกับแพทย์ ว่าสิ่งที่แพทย์อธิบายนั้นไม่ตรงกับข้อมูลที่ได้มา หรือต้องการการตรวจเพิ่มเติมมากขึ้น ต้องการการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น

      8. การพัฒนาด้านการรักษาพยาบาลระดับสูงจะทำได้น้อยมาก เพราะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณการรักษา อาจทำได้เฉพาะโรงเรียนแพทย์ในส่วนกลางเท่านั้น ที่มีงบประมาณ รายได้จากหลายทางมาช่วย ส่วนโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์จะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณมากขึ้น

      9. สุดท้ายก็คงต้องมีการร่วมจ่ายในการรักษาพยาบาลแน่นอน ซึ่งก็คงจะมีการขัดแย้งกันในสังคม แต่ละกลุ่มก็จะมีเหตุผลสนับสนุน ขัดค้าน ไม่เห็นด้วย ถ้าไม่สามารถหาข้อสรุปที่ดีได้ ระบบสุขภาพไทยก็ต้องเวลาปฏิวัติครั้งใหญ่ เพื่อให้คนไทยทุกคนมีส่วนรับรู้ความจริง ยอมรับความจริง และร่วมกันรับผิดชอบ มิใช่ให้กระทรวงใดกระทรวง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งรับผิดชอบ โดยประชาชนเป็นผู้เรียกร้องทุกอย่างที่คิดว่าตนเองควรต้องได้จากรัฐ

      สิ่งที่ผมคาดการณ์นั้นอาจจะถูกหรือไม่นั้น ผมไม่กังวลใจ เพราะใจจริงก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับประเทศไทย ผมอยากเพียงฝากข้อคิดไว้ว่า เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของคนไทยทั่วทั้งประเทศ เราควรรับผิดชอบร่วมกันครับ แล้วสิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้นกับระบบสุขภาพไทย