Vaginal seeding

Vaginal_seeding-1

      

      จากรายงานที่เปิดเผยในวารสาร BJOG: An International Journal of Obstetrics and Gynaecology พบว่า สูติแพทย์ชาวเดนมาร์กมากกว่าร้อยละ 90 ได้ถูกร้องขอจากคุณแม่ที่ผ่าคลอดให้ทำ Vaginal seeding

      ในขณะที่ แพทย์เตือนคุณแม่ทั้งหลายว่า ไม่ควรใช้ Vaginal seeding กับลูกน้อยที่เกิดจากการผ่าคลอด เพราะอาจมีความเสี่ยงสูงสำหรับโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน

      Dr Tine Clausen จาก Nordsjaellands Hospital ในเดนมาร์ก กล่าวว่า การใช้ผ้าก็อซซับภายในช่องคลอดของแม่และนำไปป้ายทารกนั้น อาจจะไม่ได้รับจุลินทรีย์แบบเดียวการคลอดตามธรรมชาติ และแนะนำให้หลีกเลี่ยงการผ่าคลอดโดยไม่จำเป็น ทั้งควรให้แม่สัมผัสทารกให้เร็วที่สุด (Early skin-to-skin contact) และให้ใช้นมแม่เลี้ยงทารกเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน เด็กก็จะได้รับภูมิคุ้มกันได้

      ในขณะที่ Dr Patrick O'Brien จาก The Royal College of Obstetricians and Gynaecologists ในอังกฤษ พบว่า มีร้อยละ 25 ของทารกที่ทำการคลอดด้วยการผ่าคลอด แต่เขาไม่แนะนำให้ทำ Vaginal seeding จนกว่าจะมีงานวิจัยที่เชื่อถือได้ว่า การทำ Vaginal seeding จะไม่เป็นอันตราย และช่วยเรื่องระบบการย่อยและระบบภูมิคุ้มกันได้จริง

      เช่นเดียวกัน The American College of Obstetricians and Gynecologists (ACOG) ก็ประกาศไม่เห็นด้วยกับการทำ Vaginal seeding

      Vaginal seeding เป็นการใช้จุลินทรีย์จากช่องคลอดเพื่อเสริมสร้างสุขภาพของลูกน้อย โดยการใช้ผ้าก็อซหรือสำลีซับน้ำภายในช่องคลอด (Vaginal fluids) ของแม่ และนำไปป้ายในปากของทารก รวมทั้งจมูก รอบๆ ดวงตา และผิวหนัง มักใช้กับกรณีที่มีการผ่าคลอด (Cesarean delivery)

      ด้วยความเชื่อว่า Vaginal seeding อาจช่วยกระตุ้นการเติบโตของกลุ่มจุลินทรีย์แบบเดียวกับที่มีในทารกคลอดตามธรรมชาติ และยังช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพของทารกต่อไปในอนาคตด้วย เช่น โรคหอบหืด (Asthma) โรคภูมิแพ้ (Atopic disease) และ ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน (Immune disorders)

      Vaginal seeding เป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบันเนื่องจากมีปริมาณเด็กที่มีปัญหาเรื่อง หอบหืด ภูมิแพ้ และระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยตัวเลขเพิ่มขึ้นตามอัตราของการผ่าคลอด

      อย่างไรก็ดี ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่า อาการดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการผ่าคลอด หรือมาจากปัจจัยสภาพแวดล้อม อาหารการกิน และยีน genetic factors กันแน่

      ทั้งยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะตัดสินได้ว่าการทำ Vaginal seeding จะมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพราะการป้ายปาก จมูก หรือผิวหนัง ด้วย Vaginal fluid หลังคลอด แม่อาจถ่ายทอดโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสให้ลูกได้ เช่น

      อาจทำให้เกิดการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ป บี (Group-B streptococcus = GBS) เชื้ออีโคไล (E. coli) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted infections) เช่น เชื้อเฮชไอวี (HIV) หนองในเทียม (Chlamydia) เริม (Herpes) และ โรคหนองใน (Gonorrhoea)

แหล่งข้อมูล:

  1. Vaginal seeding after Caesarean 'risky', warn doctors.http://www.bbc.com/news/health-41011589 [2018, Jun 1].
  2. Vaginal Seeding Not Recommended for Infants. https://www.acog.org/About-ACOG/News-Room/News-Releases/2017/Vaginal-Seeding-Not-Recommended-for-Infants [2018, Jun 1].
  3. Vaginal Seeding: What Is It And Why Is It So Controversial. https://www.acog.org/About-ACOG/News-Room/News-Releases/2017/Vaginal-Seeding-Not-Recommended-for-Infants [2018, Jun 1].
  4. Vaginal Seeding. https://www.acog.org/Clinical-Guidance-and-Publications/Committee-Opinions/Committee-on-Obstetric-Practice/Vaginal-Seeding [2018, Jun 1].