กลุ่มอาการ Economic class (Economic Class Syndrome)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

การเดินทางโดยสารเครื่องบินในยุคปัจจุบันเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกๆปี ทำให้มีข่าวเกี่ยวกับอาการผิดปกติที่เรียกว่า “Traveler’s thrombosis” หรือที่เราคุ้นเคยที่เรียกว่า “Economic class syndrome หรือ Economy class syndrome) หรือบางท่านเรียกว่า กลุ่มอาการชั้นประหยัด” บ่อยขึ้น โดยพบว่า มีอาการบริเวณ ขา ของผู้โดยสารที่เดินทางไกล ใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง และนั่งอยู่ในที่นั่งจำกัดเป็นเวลานาน โดยไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกายระหว่างการเดินทาง ซึ่งพบว่าโรคนี้มีส่วนเกี่ยว ข้องอย่างมากกับผู้ที่มีปัญหาของหลอดเลือดดำบริเวณขา คือ ภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกอุดตันจากลิ่มเลือด/ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดดำที่อาจส่งผลต่อเนื่องให้เกิด ภาวะ สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด (Pulmonary Embolism)

Economic class syndrome เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำใหญ่ที่อยู่ในส่วนลึกของร่างกาย (Deep vein thrombosis หรือ DVT ) มักเกิดกับหลอดเลือดดำที่บริเวณน่อง (Calf) และต้นขา ซึ่งสามารถเกิดอาการได้แม้กระทั่งถึง 4 สัปดาห์หลังจากเดิน ทางในที่นั่งประจำ อยู่กับที่นานๆบน เครื่องบิน รถไฟ หรือ รถยนต์ โดยอาจมีหรือไม่มีภาวะลิ่มเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดของปอด (Pulmonary Embolism หรือย่อว่า PE) เกิดร่วมด้วย

กลุ่มอาการนี้ ที่เกิดหลังเดินทางโดยเครื่องบินหลายๆชั่วโมง เรียกว่า “Air traveler thrombosis” ส่วนที่เรียกว่า “Economic class syndrome หรือ Economy class syndrome” เป็นชื่อทั่วไปที่เริ่มใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1977 (พ.ศ. 2520) จากข่าวในหนังสือพิมพ์ประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะมีรายงานทางการแพทย์ สังเกตพบว่า ผู้ที่โดยสารเครื่องบินในชั้นประหยัด (Economy class) มีแนวโน้มที่จะเกิดกลุ่มอาการนี้ แต่ทางการแพทย์แนะนำให้ใช้ชื่อเรียกที่ถูกต้อง คือ "Traveler’s thrombosis" ซึ่งหมายถึง การเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ สาเหตุจากการเดินทางระยะเวลานาน โดยร่างกายมีการเคลื่อนไหวน้อย ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ.2007 (พ.ศ. 2550) องค์การอนามัยโลก (WHO, World Health Organization) ได้ศึกษาและรายงานสนับสนุนว่า กลุ่มอาการนี้เกิดจากการไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเป็นระยะเวลานาน ที่เกิด ขึ้นได้จากทั้งการเดินทางโดย เครื่องบิน รถไฟ หรือ รถยนต์ ทั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ ความกดดันอากาศ หรือ จากการขึ้นที่สูง

Economic class syndrome เป็นกลุ่มอาการอันตรายที่เกิดจากมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Deep vein thrombosis ย่อว่า DVT ภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกอุดตันจากลิ่มเลือด) โดยปัจจัยเสี่ยงคือ การเดินทางระยะไกลๆ ในสภาพค่อนข้างแออัด และสภาพร่างกายที่จำกัดการเคลื่อนไหว ผลจากแรงโน้มถ่วง/แรงดึงดูดของโลกทำให้เลือดดำที่ขาไหลย้อนกลับไปเข้าหัว ใจได้ไม่ดี จึงเกิดการคั่งของเลือดที่บริเวณขา ทำให้บวมแน่น เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำส่วนลึก และเกิดการอุดตันจากลิ่มเลือด (DVT) เป็นสาเหตุสำคัญก่อให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดที่ปอด หรือ PE (Pulmonary Embolism) ซึ่งเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันที (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ)

ได้มีการศึกษาในกลุ่มคนที่นั่งเครื่องบินในชั้นประหยัดและใช้ระยะเวลาเดินทางเป็นเวลา นานหลายชั่วโมง พบอุบัติการณ์ของกลุ่มอาการนี้ได้ประมาณ 3-5% และในกลุ่มคนที่เกิดกลุ่มอาการนี้ พบโอกาสเกิดอาการชนิดรุนแรง หรือ PE (Pulmonary Embolism) ได้ประมาณ 5-10 %

กลุ่มอาการ Economic class เกิดขึ้นได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

Economic-Class-Syndrome

จากการศึกษาการทำงานและการเกิดโรคของร่างกาย (Pathophysiology) นั้น สาเหตุที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการนี้ อาจแบ่งได้ตามคำอธิบายของ นพ. Virchow ที่เรียกว่า Virchow’s Triad (ภาวะสามประการโดยนายแพทย์ Rudolph Virchow ชาวเยอรมัน) คือ

  • มีการไหลเวียนของเลือดข้าลง (Venous stasis) จากหลอดเลือดดำบริเวณข้อต่างๆโดยเฉพาะข้อเข่าพับคดงอ และไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกายระหว่างการเดินทางในที่นั่งจำกัด เป็นเวลานานๆ
  • เลือดมีการแข็งตัวง่ายกว่าปกติ (Hypercoagulability)
  • การที่ผนังหลอดเลือดมีพยาธิสภาพ/มีความผิดปกติ

นอกจากนี้ ยังมีภาวะอื่นที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย คือ

  • ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ที่เกิดจาก
    • ความชื้นในห้องโดยสารที่ต่ำมาก (Significantly low humidity)\
    • การดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ
    • มีการสูญเสียน้ำโดยทางเดินปัสสาวะ/การปัสสาวะบ่อยหรือปัสสาวะมาก
    • และการดื่มน้ำน้อย อาจเพราะไม่สะดวกในการปัสสาวะ
  • ความกดดันของออกซิเจน (O2) ลดลงในห้องโดยสารบนเครื่องบิน ทำให้ขบวนการละลายลิ่มเลือดลดลง (Fibrinolytic activity)

อนึ่ง ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการนี้ แบ่งออกเป็น

  • ปัจจัยที่เกิดขึ้นภายหลัง (Acquired) ได้แก่
    • จากไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย (Immobilized)
    • มีการผ่าตัดนำมาก่อน
    • มีการบาดเจ็บ (Trauma) ของร่างกายทำให้จำกัดการเคลื่อนไหว
    • การตั้งครรภ์
    • ภาวะหลังคลอด
    • ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
    • การใช้ยาคุมกำเนิด
    • การใช้ฮอร์โมนเพศ
    • โรคหัวใจ
    • โรคหลอดเลือดดำขอด
    • อ้วน
    • ผู้สูงอายุ
    • สูบบุหรี่
  • ปัจจัยจากพันธุกรรม (Genetic) ได้แก่
    • โรคที่มีการแข็งตัวเร็วของเลือด
    • โรคขาดสารต้านการแข็งตัวของเลือด (Anti thrombin)
    • โรคขาดสาร Protein C หรือ S ที่ต้านการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น

กลุ่มอาการ Economic class มีอาการอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

ส่วนใหญ่ของกลุ่มอาการนี้ ไม่มีอาการ แต่บางรายอาจพบ อาการที่ขา โดยมีอาการ เจ็บ ปวด บวม รู้สึกอุ่นๆ ที่ขา และ/หรือ มีอาการแดง หรือ มีสีคล้ำ ที่ ขา น่อง เห็นหลอดเลือดขอด โป่ง และ/หรือ ขาเปลี้ย อ่อนแรง

อนึ่ง ถ้าลิ่มเลือดเกิดอุดตันที่ปอดก็มีอันตรายถึงชีวิตได้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ และเรื่อง สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด)

ทั้งนี้ เมื่อมีอาการดังกล่าว โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นหลังการเดินทาง ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ

วินิจฉัยกลุ่มอาการ Economic class ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการนี้ได้จาก

  • ประวัติทางการแพทย์ ที่สำคัญคือ อาการ และ อาการแสดงของผู้ป่วย ซึ่งมีประวัติเดิน ทาง และอาการเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ไม่มีอาการเฉพาะเจาะจง นอกจากนั้น คือ
  • ตรวจเลือดดูความเข้มข้นของเลือด โดยการตรวจค่าสาร D-Dimer (สารที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด)
  • ตรวจหลอดเลือดดำที่สงสัยมีลิ่มเลือด เพื่อดูภาพภายในหลอดเลือดดำที่เรียกว่า Veno graphy หรือ CT-Venography (เรียกทั่วไปว่า การฉีดสี/สารทึบแสงดูหลอดเลือด ดำ)
  • ตรวจ อัลตราซาวด์หลอดเลือดดำ (Venous ultrasound)

รักษากลุ่มอาการ Economic class อย่างไร?

จุดประสงค์ของการรักษากลุ่มอาการนี้ เพื่อ

  • ลดอันตรายจากภาวะ PE (Pulmonary embolism, ภาวะลิ่มเลือดอุดที่หลอดเลือดของปอด) (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ และเรื่อง สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด)
  • ป้องกันการเกิดซ้ำของ DVT (ภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกอุดตันจากลิ่มเลือด) (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ)
  • ลดการเกิด Post-thrombotic syndrome (อาการเรื้อรังที่เกิดขึ้นในระยะยาวจากขาขาดเลือด เช่น ปวดขา เป็นตะคริว ขาบวม หลอดเลือดดำขาขอด และเกิดแผลเรื้อรังที่ขา)

ทั้งนี้ ในการรักษากลุ่มอาการ Economic class จะโดยการใช้ยาต้านการเกิดลิ่มเลือด/ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulation) เช่น ยา Heparin และ ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytic drugs)

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเกิดกลุ่มอาการ Economic class?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อเกิดมีกลุ่มอาการนี้ คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์แนะนำอย่างถูกต้อง ครบถ้วน
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ
  • เคลื่อนไหวร่างกายเสมอ
  • เมื่อกินยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด ต้องระวังการเกิดบาด เจ็บ อุบัติเหตุ และ แผลต่างๆ เพราะจะทำให้มีเลือดออกมากและหยุดยาก
  • สวมใส่ถุงเท้าชนิดช่วยพยุง (Compression Stocking) ตามข้อและหลอดเลือดขา เมื่อต้องทำงาน เดิน ยืน นานๆ
  • เลือกสวม รองเท้า ถุงเท้า และเครื่องแต่งกายที่ไม่รัดแน่น
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยายาลก่อนนัดเสมอ เมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น ขาบวมมากขึ้น หายใจลำบากมากขึ้น
    • อาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น ไอเป็นเลือด มีจำห้อเลือดตามตัวมาก
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เลือดออกจากเหงือกทุกครั้งที่แปรงฟัน อุจจาระเป็นเลือดต่อเนื่อง
    • เมื่อกังวลในอาการ

มีวิธีป้องกันกลุ่มอาการ Economic class อย่างไร?

วิธีป้องกันกลุ่มอาการนี้ ที่สำคัญ คือ

  • ระมัดระวังไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ
  • หลีกเลี่ยงการดื่ม แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มกาเฟอีน (เช่น กาแฟ ชา เครื่องดื่มโคล่า) เพราะเป็นเครื่องดื่มช่วยขับน้ำออกทางปัสสาวะ
  • หลีกเลี่ยงยานอนหลับระหว่างเดินทาง เพราะจะทำให้หลับนาน ร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหว
  • เคลื่อนไหวร่างกายเสมอ โดยการ ยืน เดิน เป็นพักๆ ขยับเท้า ข้อเท้าบ่อยๆ
  • ใส่ เสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า อย่าให้รัดแน่นเกินไป
  • ถ้ามีความเสี่ยงต่อ DVT (Pulmonary Embolism, เคยมีอาการนี้มาก่อน หรือ เลือดออกแล้วหยุดเร็ว หรือมีเกล็ดเลือดสูงกว่าปกติ) ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทาง
  • สวมใส่ถุงน่องชนิดช่วยพยุงตามข้อและหลอดเลือดขาเสมอ เมื่อต้องเดินทาง นั่ง นอน ยืน นานๆ

บรรณานุกรม

  1. Russell B.Rayman et.al : Clinical Aviation Medicine ,2001
  2. นพ.พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ.-ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาล รามาธิบดี : อายุรศาสตร์ฉุกเฉิน. 2551
  3. Joint Aviation Authorities : JAA Manual of Civil Aviation Medicine. 2005
  4. Claus Curdt-Christiansen et al : Principles and Practice of Aviation.2010
  5. http://www.airhealth.org/prevention.html [2018,Nov24]
  6. https://www.otsuka.co.jp/en/health-and-illness/thrombosis/ [2018,Nov24]