AFM ในลูกน้อย (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

AFMในลูกน้อย-2

      

      ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการแขนขาอ่อนแรงเฉียบพลันหรือไม่มีรีเฟล็กซ์ และในบางรายอาจพบอาการดังต่อไปนี้

  • ใบหน้าตก/อ่อนแรง
  • ไม่สามารถเคลื่อนไหวลูกตา
  • หนังตาตก
  • กลืนลำบาก
  • พูดไม่ชัด

      แม้ว่าบางรายจะมีอาการปวดที่แขนหรือขา แต่อาการชาหรือเป็นเหน็บนั้นพบได้น้อย ส่วนอาการที่รุนแรงก็คือ ภาวะการหายใจล้มเหลวเนื่องจากกล้ามเนื้อที่ควบคุมการหายใจไม่ทำงาน ซึ่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอย่างเร่งด่วน และในบางกรณี (พบยาก) อาจทำให้ให้เกิดอาการแทรกซ้อนทางระบบประสาทที่สามารถทำให้เสียชีวิตได้

      การวินิจฉัยโรค AFM ทำได้ค่อนข้างยากเพราะมีอาการหลายอย่างที่เหมือนกับโรคเกี่ยวกับประสาททั่วไป เช่น ไขสันหลังอักเสบ (Transverse myelitis) และกลุ่มอาการกิลแลน-แบเร (Guillain-Barre syndrome = GBS)

      [กลุ่มอาการกิลแลน-แบเร คือ กลุ่มอาการที่เกิดจากการอักเสบเฉียบพลันของเส้นประสาทหลายๆ เส้นพร้อมๆ กัน จนก่อให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน ซึ่งในรายที่รุนแรงอาจถึงขั้นเป็นอัมพาต]

      ทั้งนี้ การวินิจฉัยโรค AFM ทำได้ด้วยการตรวจระบบประสาท (Nervous system) ที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง การตรวจด้วยการกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า (Nerve conduction) ควบคู่กับการดูภาพสมองและไขสันหลัง โดยอาจใช้การตรวจ MRI และการตรวจน้ำไขสันหลัง ซึ่งควรทำการตรวจทันทีเมื่อเริ่มมีอาการ

      ในส่วนของการรักษาโรค AFM ยังไม่มีวิธีรักษาเฉพาะสำหรับโรคนี้ อายุรแพทย์ทางระบบประสาทอาจแนะนำให้ทำกายภาพบำบัดหรือกิจกรรมบำบัด (Occupational therapy) เพื่อช่วยเรื่องแขนขาที่อ่อนแรง

      ซึ่งกรมควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ได้ทำการเก็บข้อมูลของผู้ป่วยในปี พ.ศ.2557 ที่มีผู้ตอบกลับ 56 ราย พบว่า มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่อาการดีขึ้นหลังจาก 4 เดือน ในขณะที่บางรายอาการไม่ดีขึ้น

      ขณะที่เรายังรู้ไม่ถึงวิธีการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ เราควรล้างมือให้สะอาดและทำความสะอาดพื้นผิววัสดุอยู่เสมอ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และเนื่องจากบางครั้ง Poliovirus และ West Nile virus อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรค AFM ได้ จึงอาจใช้วิธีการป้องกันด้วยการ

  • ฉีดวัคซีน
  • ป้องกันอย่าให้ยุงกัดเพราะอาจทำให้ติดเชื้อ West Nile virus ได้ ด้วยการใช้ยากันยุง กำจัดแหล่งเพาะยุง

      อนึ่ง จากเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม พ.ศ.2557 กรมควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ได้พบผู้ป่วยโรคนี้ 120 ราย ใน 34 รัฐ ต่อมาในปี พ.ศ.2558 ยอดผู้ป่วยที่พบลดลงเป็น 21 ราย ใน 16 รัฐ แต่สำหรับปี พ.ศ.2561 ยอดกลับมาสูงขึ้นโดยถึงเดือนสิงหาคมพบผู้ป่วยแล้ว 50 ราย ใน 24 รัฐ ที่ยืนยันว่าเป็นโรค AFM แต่ยังไม่มีรายงานถึงการเสียชีวิตแต่อย่างใด

      

แหล่งข้อมูล:

  1. About Acute Flaccid Myelitis. https://www.cdc.gov/acute-flaccid-myelitis/about-afm.html [2018, October 24].
  2. Acute Flaccid Myelitis Cases Rising in Kids: FAQ. https://www.webmd.com/children/news/20161010/faq-acute-flaccid-myelitis#1 [2018, October 24].