ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

วงการแพทย์ ได้นำไฮโดรควิโนน(Hydroquinone) มาใช้เป็นยาทาผิวรักษาผิวที่เป็นฝ้า, ตกกระให้ขาวขึ้น แต่ต่อมาพบว่าสารไฮโดรควิโนนมีแนวโน้มก่อให้เกิดภาวะผิวหนังอักเสบและถูกเพิกถอนจากการใช้เป็นยาในบางประเทศของแถบยุโรป วงการเครื่องสำอางจึงตื่นตัวถึงผลข้างเคียงดังกล่าว และ หลีกเลี่ยงการใช้ไฮโดรควิโนนเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์

สำหรับประเทศไทยยังมีการใช้ยาไฮโดรควิโนนในรูปแบบยาครีมและยาเจล โดยระบุการใช้เพื่อรักษา ฝ้า กระ และ ขี้แมลงวัน อย่างไรก็ตาม ยาไฮโดรควิโนนจัดเป็นยาอันตราย การใช้ที่ผิดพลาดสามารถส่งผลเสียต่อผิวพรรณได้ในระยะยาว *ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการใช้ยานี้ ควรต้องใช้ตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น และไม่แนะนำให้ผู้บริโภคไปหาซื้อยาไฮโดรควิโนนมาใช้เอง

อนึ่ง ไฮโดรควิโนน เป็นสารประเภท อะโรมาติกอินทรีย์ (Aromatic organic compound สารเคมีที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมหลายชนิดเช่น พลาสติก) สามารถพบได้ในธรรมชาติจากแมลงประเภทเต่าทองที่มีชื่อว่า Bombardier beetles และยังพบในสายพันธุ์ของเห็ดชนิดหนึ่งชื่อ Agaricus hondensis ประโยชน์โดยทั่วไปของไฮโดรควิโนนได้แก่ ใช้เป็นสารเคมีของกระบวนการถ่ายภาพของฟิล์มขาว - ดำ

ไฮโดรควิโนนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

ไฮโดรควิโนน

ยาไฮโดรควิโนนมีสรรพคุณรักษา/ ข้อบ่งใช้:

  • รักษาความผิดปกติของผิวหนังที่ทำให้ผิวมีเม็ดสีเพิ่มขึ้น (Hyperpigmented skin conditions) เช่น ฝ้า, กระ, ขี้แมลงวัน

ไฮโดรควิโนนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไฮโดรควิโนนคือ ตัวยาจะยับยั้งหรือกดกระบวนการทางเคมีของเซลล์สร้างเม็ดสี (เมลาโนไซต์, Melanocyte) ทำให้การก่อตัวของเม็ดสี (Melanin) ลดลง จากกลไกนี้ทำให้ยาไฮโดรควิโนนมีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ

ไฮโดรควิโนนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไฮโดรควิโนนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเจลทาผิว ขนาดความเข้มข้น 2 และ 4 กรัม/เนื้อเจล 100 กรัม
  • ยาครีม ขนาดความเข้มข้น 4 กรัม/เนื้อครีม 100 กรัม
  • ยาครีมที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น Hydroquinone 4% + Tretinoin 0.05% + Fluocino lone acetonide 0.01%

ไฮโดรควิโนนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาไฮโดรควิโนนมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: ทายาขนาดความเข้มข้นตามที่แพทย์แนะนำในบริเวณผิวหนังที่เป็นฝ้า กระ ขี้แมลงวัน เพียงบางๆวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น ควรล้างมือก่อนและหลังทายาทุกครั้ง
  • เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยานี้ในเด็กต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้น ต้องใช้ยาอย่างเคร่งครัดตามคำสั่งแพทย์ และไม่ควรใช้ยาในเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี

*****หมายเหตุ:

  • ก่อนทายานี้ควรทำความสะอาดผิวให้ปราศจากคราบไคลเหงื่อและซับผิวให้แห้ง
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

การสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไฮโดรควิโนน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไฮโดรควิโนนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

หากลืมทายาไฮโดรควิโนน สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทายาในครั้งถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ไฮโดรควิโนนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไฮโดรควิโนนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • เกิดอาการเป็นตุ่มแดงในบริเวณผิวหนังที่ทายา และ/หรืออาจรู้สึกแสบร้อนเล็กน้อย
  • เกิดภาวะผิวคล้ำมากขึ้นในบริเวณที่ทายา

*อนึ่ง: ลักษณะของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดอาจเกิดจากตัวยาดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถกระตุ้นให้ร่างกายมีอาการ สั่น หรือ เกิดภาวะลมชัก หรือ กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ยาได้

มีข้อควรระวังการใช้ไฮโดรควิโนนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไฮโดรควิโนน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามเผลอรับประทานยานี้และหลีกเลี่ยงไม่ให้ยาเข้าตา เข้าปาก
  • ห้ามทายานี้ในบริเวณผิวหนังที่เป็นแผลด้วยจะทำให้ตัวยาดูดซึมเข้ากระแสเลือด
  • ห้ามใช้ยานี้รักษาอาการผิวคล้ำจากการตากแดดหรือจากภาวะผิวไหม้จากแสงแดด
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี การจะใช้ยานี้กับเด็กจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเด็กเท่านั้นโดยพิจารณาเป็นกรณีๆไป
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร การจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ห้ามใช้ยานี้ด้วยตนเองโดยเด็ดขาด
  • ระหว่างการใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดโดยตรงโดยไม่จำเป็น
  • หลังใช้ยานี้ถ้ามีอาการคันหรืออักเสบให้หยุดการใช้ และกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ประเมินแนวทางการรักษาใหม่
  • การทายานี้ที่ผิวหนังบริเวณต่างๆเช่น ใบหน้า คอ มือหรือแขน ไม่ควรทาเป็นบริเวณกว้าง ให้ทาเฉพาะส่วนของผิวหนังที่ต้องการรักษาเท่านั้น
  • หลังใช้ยานี้ไปแล้วประมาณ 2 เดือนหากอาการไม่ดีขึ้นให้หยุดการใช้ยานี้ และกลับไปขอคำ ปรึกษาจากแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อประเมินแนวทางการรักษาใหม่
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไฮโดรควิโนนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไฮโดรควิโนนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

เนื่องจากไฮโดรควิโนนเป็นยาทาผิวภายนอก (ยาใช้ภายนอก) จึงยังไม่มีข้อมูลปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดรับประทานใดๆ

ควรเก็บรักษาไฮโดรควิโนนอย่างไร?

ควรเก็บยาไฮโดรควิโนน:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนตร์

ไฮโดรควิโนนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไฮโดรควิโนน มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Delanin (เดลานิน) Charoon Bhesaj
MelloDerm-HQ (เมลโลเดอร์ม-เฮชคิว) Berich
Persatina (เพอร์ซาทินา) 2M (Med-Maker)
Tri-Luma (ไตร-ลูมา) Galderma

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Hydroquinone [2021, March27]
  2. https://www.mims.com/singapore/drug/info/fluocinolone%20+%20hydroquinone%20+%20tretinoin?mtype=generic [2021, March27]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/hydroquinone?mtype=generic [2021, March27]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/hydroquinone-topical.html [2021, March27]
  5. https://www.drugs.com/cdi/hydroquinone.html [2021, March27]