ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen ) เป็นยาในกลุ่มยาแก้ปวด โดยอยู่ในพวกเดียวกับยาเอ็นเสด (NSAIDs, non- steroidal antiinflammatory drugs) แปลเป็นไทยว่า "ยาต้านการอักเสบที่ไม่ ใช่ยาสเตียรอยด์"

ยาไอบูโปรเฟนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไอบูโปรเฟน

ยาไอบูโปรเฟนมีสรรพคุณ/ ข้อบ่งใช้ เพื่อ

  • เป็นยาแก้ปวดระดับน้อยถึงปานกลาง สามารถใช้บรรเทาอาการปวดจากข้ออักเสบ ปวดประจำเดือน และใช้เป็นยาลดไข้ได้
  • นอกจากนี้ทางการ แพทย์ยังนำไปใช้รักษาอาการปวดจากโรคข้อบางชนิดและบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน

ยาไอบูโปรเฟนออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไอบูโปรเฟน โดยจะไปยับยั้งการทำงานของสารไซโคลออกซิจีเนส (Cyclooxygenase) กล่าวง่ายๆว่าเป็นสารเคมีในร่างกายชนิดหนึ่งซึ่งจะไปเปลี่ยนสารเคมีบางกลุ่มให้กลายเป็นสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) โพรสตาแกลนดินเป็นตัวชักนำให้เกิดอาการปวด การอักเสบ และก่อให้เกิดอาการไข้ของร่างกาย นอกจากนั้นไอบูโปรเฟนยังสามารถออกฤทธิ์โดยตรงที่สมองและบริเวณอวัยวะที่มีอาการปวดได้

ยาไอบูโปรเฟนมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?

ไอบูโปรเฟน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ชนิดเม็ด ขนาด 200 และ 400 มิลลิกรัม
  • ชนิดน้ำ ขนาด 100 มิลลิกรัมในน้ำ 1 ช้อนชา

ยาไอบูโปรเฟนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไอบูโปรเฟน

  • ควรรับประทานพร้อมหรือหลังอาหารทันทีเพื่อลดการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร
  • สำหรับผู้ใหญ่ขนาดสูงสุดที่รับประทานไม่ควรเกิน 2.4 กรัม/วัน
  • ไอบูโปรเฟนจัดเป็นยาอันตรายและมีผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง) มากมาย จึงไม่ควรซื้อยากินเอง
  • *ขนาดของยานี้ที่รับประทานในผู้ใหญ่และเด็กมีขนาดที่ต่างกัน ดังนั้นจึงควรได้รับคำแนะนำการใช้ยาจาก แพทย์ หรือ เภสัชกรเท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาไอบูโปรเฟน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด และอาการจากการแพ้ยา เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ เพราะยาไอบูเฟนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือไม่ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยามักผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก ก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไอบูโปรเฟน สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยาใกล้กับมื้อถัดไปให้รับประทานขนาดปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ยาไอบูโปรเฟนมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?

ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) ของยาไอบูโปรเฟน เช่น

  • ในการรับประทานขนาดต่ำๆ มีผลระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้ และสามารถทำให้ระบบการทำงานของกล้ามเนื้อหัว ใจผิดปกติได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ลำไส้ และ/หรือระบบหัวใจ
  • มีบางรายงานกล่าวว่า การใช้ยาตัวนี้จะทำให้สภาพร่างกายทนต่อแสงแดดได้น้อยลงเช่น เกิดอาการปวดแสบร้อนเมื่อออกแดดนานๆ กล่าวคือผิวหนังไวต่อแสงแดดเกินกว่าปกติที่เคยเป็น
  • ผลอันไม่พึงประสงค์ฯอื่นๆของยาไอบูโปรเฟน เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย เลือดออกในทางเดินอาหาร ปวดศีรษะ ง่วงนอน เกิดผื่นคันทางผิวหนัง และหอบหืด

ยาไอบูโปรเฟนมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?

การกินยาไอบูโปรเฟนอาจมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • เมื่อกินร่วมกับเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์จะเพิ่มความเสี่ยงมีเลือดออกในกระเพาะอา หารและลำไส้
  • เมื่อกินร่วมกับยาลดความดันโลหิตจะทำให้ประสิทธิภาพการลดความดันโลหิตลดลง และทำให้ไตทำงานบกพร่อง กลุ่มยาลดความดันโลหิต เช่น
    • อะทีโนลอล (Atenolol)
    • โปรปาโน ลอล (Propanolol)
    • เมโทรโปลอล (Metropolol)
    • แคนดีซาร์แทน (Candesartan)
    • โลซาร์แทน (Losartan)
    • และโอลมีซาร์แทน (Olmesartan)
  • เมื่อกินร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดจะเสริมฤทธิ์กันและก่อให้เกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ง่าย กลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือดเช่นยา
    • แอบซิไซแมบ (Abciximab)
    • และวอร์ฟาริน (Warfarin Sodium)
  • เมื่อกินร่วมกับยารักษาโรคหัวใจบางชนิดจะทำให้การออกฤทธิ์ของยารักษาโรคหัวใจมีมากขึ้นจนอาจเป็นพิษต่อร่างกายได้ อาจส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ คลื่นไส้ อาเจียน การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน ยารักษาโรคหัวใจ เช่นยา ไดจอกซิน (Digoxin)

มีข้อควรระวังไหมเมื่อกินยาไอบูโปรเฟน?

ข้อควรระวังในการใช้ยาไอบูโปรเฟนที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ เช่น

  • ผู้ป่วยที่แพ้ยาไอบูโปรเฟน
  • เป็นโรคกระเพาะอาหาร
  • ในผู้ที่มีประวัติหอบหืด
  • ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ
  • ในโรคความดันโลหิตสูง
  • ในผู้ที่มีประวัติการแพ้ยาแอสไพริน
  • หรือการแพ้ยาในกลุ่มเอนเสดทั้งหลาย
  • นอกจากนั้นคือ
    • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
    • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
    • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวม ถึงยาไอบรูโปรเฟน) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ควรเก็บรักษายาไอบูโปรเฟนอย่างไร?

การเก็บรักษายาไอบูโปรเฟน เช่น

  • ยาเม็ด:
    • สามารถเก็บได้ที่อุณหภูมิห้อง
    • และควรเก็บให้พ้นแสงแดดและความชื้น
  • ยาน้ำ: หลังเปิดขวดใช้แล้ว สามารถใช้ต่อได้ไม่เกิน 3 เดือน (เมื่อยาไม่มีการเปลี่ยนสีหรือ กลิ่นหรือผิดปกติอื่นๆ) และ
  • ควรเก็บยาทุกชนิด
    • ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
    • และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาไอบูโปรเฟนมีชื่ออื่นๆอีกไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่อทางการค้า และบริษัทผู้ผลิตยาไอบูโปรเฟน เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Aprofen (อะโปรเฟน)Medicine Supply
Brufen (บรูเฟน)Abbot
Brusil (บรูซิล) Silom Medical
Cefen junior (ซีเฟน จูเนียร์) Pharmasant Lab

บรรณานุกรม

  1. MIMS. Pharmacy. Thailand. 9th Edition 2009.
  2. MIMS Thailand. TIMS. 110th Ed 2008.
  3. พิสิฐ วงศ์วัฒนะ. (2547). ยา. THE PILL BOOK.
  4. สุภาภรณ์ พงศกร. (2528). ปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยา (Drug Interactions). เภสัชวิทยา เล่ม 1. ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.