ไอกรน ไอ 100 วัน (ตอนที่ 1)

ไอกรนไอ100วัน

นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไอกรน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 11 สิงหาคม 2559 พบผู้ป่วยแล้ว 47 ราย อยู่ในพื้นที่จังหวัดยะลา 29 ราย นครราชสีมา 3 ราย กรุงเทพฯ เพชรบุรี และนราธิวาส จังหวัดละ 2 ราย

นอกจากนี้ ยังพบในพื้นที่ปทุมธานี สระบุรี สมุทรปราการ สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สตูล ปัตตานี อุบลราชธานี และบุรีรัมย์ จังหวัดละ 1 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 4 ปี รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 5-14 ปี และ 25-34 ปี โดยภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคใต้ รองลงมาคือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ส่วนภาคเหนือยังไม่พบผู้ป่วย

จึงขอแนะนำให้ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอยู่ในช่วงแรกเกิดจนถึง 4 ปี นำบุตรหลานไปรับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนให้ครบตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และหากท่านใดที่มีอาการไอมาก ไอเป็นชุด หรือไอนานเกินกว่า 1 สัปดาห์ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรับการรักษาทันที หรือหากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ไอกรน (Pertussis / Whooping cough) เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ในประเทศจีนจะเรียกโรคนี้ว่า “โรคไอ 100 วัน” (100 day cough) ซึ่งผู้ป่วยหลายคนแสดงออกด้วยอาการไอแค็กๆ อย่างรุนแรง ตามด้วยเสียงการหายใจที่ออกไปทางแหลมเล็ก (High Pitch)

ไอกรนมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Bordetella pertussis (B. pertussis) เมื่อคนที่เป็นโรคไอหรือจาม ละอองเชื้อจะกระจายอยู่ในอากาศ ทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้สูดดมเข้าไปในปอดได้

การติดเชื้อไอกรนที่เพิ่มขึ้น น่าจะมาจาก 2 สาเหตุ คือ 1) วัคซีนป้องกันไอกรนที่ได้รับตั้งแต่เด็กหมดแล้ว และ 2) เด็กยังไม่มีภูมิต้านทานโรคไอกรนที่สมบูรณ์จนกว่าจะได้รับวัคซีน 3 ครั้ง ดังนั้น จึงทำให้ทารกที่อายุ 6 เดือนหรือน้อยกว่า มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ

เมื่อเริ่มติดเชื้อไอกรน จะใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน หรือมากกว่า จึงจะปรากฏอาการ โดยระยะแรกจะเป็นอาการอ่อนๆ และคล้ายกับอาการเป็นหวัด ซึ่งได้แก่

  • มีน้ำมูก (Runny nose)
  • คัดจมูก (Nasal congestion)
  • ตาแดง มีน้ำตาไหล (Watery eyes)
  • เป็นไข้
  • ไอ

แหล่งข้อมูล

1. เด็กเล็กระวังป่วย 'โรคไอกรน'. http://www.thaihealth.or.th/Content/32345-เด็กเล็กระวังป่วย 'โรคไอกรน' html [2016, September 8].

2. Whooping cough. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/whooping-cough/basics/definition/con-20023295 [2016, September 8].

3. Pertussis (Whooping Cough). http://www.cdc.gov/pertussis/about/ [2016, September 8].