ไส้เลื่อนไปไหนกัน (ตอนที่ 2)

ไส้เลื่อนไปไหนกัน-2

ชนิดของโรคไส้เลื่อน (ต่อ)

  • แบบ Indirect inguinal hernia – เกิดจากความผิดปกติตั้งแต่ตอนเป็นตัวอ่อนในครรภ์ อัณฑะซึ่งอยู่ในช่องท้องจะเคลื่อนตัวลงมาอยู่ในช่องที่บริเวณขาหนีบและเคลื่อนตัวลงไปที่ถุงอัณฑะ (Scrotum) และช่องบริเวณขาหนีบจะปิดก่อนคลอด หากเกิดความผิดปกติกล่าวคือ ช่องไม่ปิด ลำไส้ก็จะเคลื่อนตัวมาอยู่ในช่องนี้ และบางครั้งอาจเคลื่อนลงไปจนถึงถุงอัณฑะได้ แม้จะเป็นความผิดปกติที่มีมาแต่กำเนิด แต่อาการมักปรากฏในตอนวัยกลางคน
  • แบบ Direct inguinal hernia - ไส้เลื่อนชนิดนี้ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติเหมือนข้างต้น แต่เกิดจากเนื้อเยื่อพังผืดที่อยู่บริเวณขาหนีบเกิดความหย่อนยานไม่แข็งแรง ลำไส้จะเคลื่อนตัวดันพังผืดเหล่านี้จนปรากฏออกมาเป็นถุงบริเวณขาหนีบได้ แต่จะไม่ลงไปอยู่ในถุงอัณฑะ ไส้เลื่อนชนิดนี้จะพบแต่เฉพาะในผู้ใหญ่โดยเฉพาะวัยกลางคนถึงวัยสูงอายุ
  1. ไส้เลื่อนบริเวณที่ต่ำกว่าขาหนีบ (Femoral hernia) พบได้ค่อนข้างน้อย เกือบทั้งหมดจะพบแต่ในผู้หญิงและเช่นกันมีความสัมพันธ์กับอายุที่มาก
  2. ไส้เลื่อนที่สะดือ (Umbilical hernia) หรือที่เรียกกันว่า สะดือจุ่น มักพบตั้งแต่แรกเกิด ถ้าเป็นทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีโอกาสพบมากขึ้น เพศหญิงพบบ่อยกว่าเพศชายในสัดส่วน 3:1 และพบว่าทารกชาวผิวดำพบเกิดเป็นไส้เลื่อนชนิดนี้มากกว่าทารกชาวผิวขาวถึง 8 เท่า ส่วนใหญ่จะหายได้เองก่อนอายุ 2 ขวบ กรณีที่ไม่หายมักจะให้ทำการผ่าตัดระหว่างอายุ 2-4 ปี อย่างไรก็ดีไส้เลื่อนชนิดนี้อาจกลับมาเป็นได้อีก เช่น ในกรณีของหญิงตั้งครรภ์
  3. ไส้เลื่อนกระบังลม (Hiatal hernia) เกิดในคนที่อายุมากกว่า 50 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเล็กน้อย ไส้เลื่อนชนิดนี้อาจจะไม่สังเกตเห็น และบางครั้งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux) ในบางคนได้
  4. ไส้เลื่อนตรงหน้าท้องเหนือสะดือ (Epigastric hernia) อยู่ระหว่างสะดือ (Navel) และกระดูกสันอก (Sternum) พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงในสัด ส่วน 3:1 พบได้น้อยเช่นกัน
  5. ไส้เลื่อนตรงข้างๆ กล้ามเนื้อหน้าท้อง (Spigelian hernia) ใต้สะดือ พบในผู้หญิงมากกว่าในผู้ชายเล็กน้อย ส่วนมากพบตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป
  6. ไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน (Obturator hernia) เป็นชนิดที่พบได้ยาก เกิดจากบางส่วนของสำไส้เคลื่อนที่ผ่านรูที่เรียกว่า Obturator foramen ซึ่งอยู่ตรงกระดูกเชิงกราน ส่วนใหญ่จะเกิดในเพศหญิงเพราะลักษณะของกายวิภาคบริเวณเชิงกรานของผู้หญิงเอื้อต่อการเกิดมากกว่าในเพศชาย
  7. ไส้เลื่อนที่เกิดหลังผ่าตัด (Incisional hernia) เกิดในตำแหน่งที่เคยผ่าตัดมาแล้ว โดยร้อยละ 2-10 มักเกิดหลังจากการผ่าตัดช่องท้อง พบได้ในทุกเพศทุกวัย

แหล่งข้อมูล:

  1. Hernia. http://www.emedicinehealth.com/hernia/article_em.htm [2017, July 14].
  2. Hernia. http://www.nhs.uk/conditions/hernia/Pages/Introduction.aspx [2017, July 14].
  3. Hernia. http://www.healthline.com/health/hernia#causes3 [2017, July 14].