ไวรัสลงกระเพาะ (ตอนที่ 1)

ก่อนลุยศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป รุ่น U-21 รอบคัดเลือกกับ ฟินแลนด์ และ ซาน มาริโน กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ขุนพลทีมชาติอังกฤษชุดใหญ่และรุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี มีเหตุต้องย้ายสถานที่พำนักและแคมป์เก็บตัว เพื่อป้องกันนักเตะจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสลงกระเพาะอาหาร หลังมีผู้มาเยือนที่พักที่ เซนต์ จอร์จ ปาร์ก หลายรายมีอาการป่วยโรคดังกล่าว

โดยแถลงการณ์จากสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) ระบุว่า เอฟเอได้รับรายงานผู้เจ็บป่วยจากโรคไวรัสลงกระเพาะอาหาร ซึ่งถูกพบ ณ เซนต์ จอร์จ ปาร์ก และมีผลต่อผู้มาเยือนจำนวนหนึ่งตลอดสุดสัปดาห์

ไวรัสลงกระเพาะอาหาร หรือ โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นกลุ่มของไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบในบริเวณกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ (Gastroenteritis) ในสหรัฐอเมริกา

บางทีก็เรียกโนโรไวรัสว่า โรคอาหารเป็นพิษ (Food poisoning) เพราะโรคนี้สามารถแพร่เชื้อผ่านอาหารที่มีเชื้อไวรัส หรือบางทีก็เรียกว่า โรคหวัดลงกระเพาะ (Stomach flu) ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อไวรัสหวัด (Influenza virus) เลย (โรคอาหารเป็นพิษอาจเกิดจากเชื้อตัวอื่นด้วย)

นอกจากนี้โนโรไวรัส ยังมีชื่อเรียกในสหราชอาณาจักรอังกฤษว่า “Winter vomiting bug” ทั้งนี้เพราะมีไวรัสเป็นสาเหตุให้อาเจียนและแพร่ได้ง่ายในฤดูหนาว ขณะที่คนส่วนใหญ่จะใช้เวลาอยู่ในบ้านและใกล้ชิดกัน

โนโรไวรัสที่เกิดจากการอักเสบของกระเพาะหรือลำไส้หรือทั้ง 2 อย่าง จะเรียกว่า โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute Gastroenteritis)

ในแต่ละปี คนทั่วโลกประมาณ 267 ล้านคน จะติดเชื้อนี้ และเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200,000 คน ซึ่งมักเกิดในประเทศที่ไม่ค่อยพัฒนา ที่เป็นเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (Immunosuppressed)

ในสหรัฐอเมริกา ทุกปีจะมีคนป่วยด้วยโรคนี้และเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 56,000-71,000 ราย และมี 570-800 ราย ที่เสียชีวิต ซึ่งถือได้ว่า โนโวไวรัสเป็นโรคเกี่ยวกับอาหารที่เกิดมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา

สัตว์น้ำจำพวกมีเปลือก (Shellfish) เช่น หอย กุ้ง ปู ฯลฯ และผักสลัด เป็นอาหารที่มักจะทำให้เกิดการระบาดของเชื้อโนโรไวรัส การกินสัตว์น้ำจำพวกมีเปลือกโดยไม่ได้ใช้ความร้อนที่พอ เช่น หอยนางรมสด ทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง ส่วนอาหารอย่างอื่นก็อาจจะติดเชื้อได้จากการสัมผัสอาหารโดยผู้ป่วย (Infected food handlers)

นอกจากนี้ยังติดต่อได้ทางน้ำดื่ม การสัมผัสวัตถุสิ่งของที่มีเชื้อแล้วนำมาแตะจมูก ปาก หรือตา และยังสามารถติดต่อโดยละอองเสมหะ (Aerosolized) จากอาเจียนของผู้ป่วยและจากการกดชักโครกที่มีคราบอาเจียนหรือท้องเสียอยู่

แหล่งข้อมูล:

  1. “สิงโต” วุ่นย้ายแคมป์หนีไวรัสลงกระเพาะ http://www.manager.co.th/Sport/ViewNews.aspx?NewsID=9560000140626&Keyword=%e2%c3%a4 [2013, December 10].
  2. Norovirus. http://en.wikipedia.org/wiki/Norovirus [2013, December 10].
  3. Norovirus. http://www.cdc.gov/norovirus/about/overview.html [2013, December 10].
  4. Norovirus. http://children.webmd.com/norovirus-symptoms-and-treatment [2013, December 10].