ไวรัสซิกา (ตอนที่ 1)

ไวรัสซิกา

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ (CDC) ได้ออกคำเตือนแนะนำชาวอเมริกันที่ตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศบราซิลและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคละตินอเมริกา และประเทศในแถบแคริบเบียน อาทิ บราซิล โคลอมเบีย เอลซาวาดอร์ เนื่องจากกำลังเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสซิกา โดยเฉพาะที่ บราซิล พบเด็กแรกเกิดมีศีรษะขนาดเล็กผิดปกติ เนื่องจากแม่ติดเชื้อไวรัสซิกาเพิ่มมากขึ้น

เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขบราซิล แจ้งว่า นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 จนถึงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเด็กแรกเกิดมีภาวะศีรษะขนาดเล็กจำนวนเพิ่มเป็น 3,893 รายแล้ว โดยเพิ่มจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีอยู่ 3,500 ราย อีกทั้ง ไวรัสซิกา ยังได้คร่าชีวิตเด็กทารกในบราซิลไปแล้ว 5 ราย ขณะที่ กระทรวงสาธารณสุขบราซิลกำลังตรวจสอบอยู่ว่า การตายของเด็กทารกอีก 44 ราย มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่

ข่าวแจ้งว่า ในช่วงนี้มีการพบคนไข้ติดเชื้อไวรัสซิกาเพิ่มมากขึ้นในประเทศแถบละตินอเมริกา โดยที่ประเทศโคลอมเบีย มีรายงานมีผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาแล้วกว่า 13,500 ราย ส่วนที่โบลิเวีย พบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นรายแรก ทั้งที่ไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ

ส่วนสำนักข่าวกลางไต้หวันได้รายงานสถานการณ์เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิกา โดยอ้างการเปิดเผยของนายหลิว ติง-ผิง ผู้อำนวยการศูนย์จับตาโรคระบาดไต้หวัน ที่ระบุว่า ได้มีการกักตัวชาวไทย เพศชาย วัย 24 ปี ไม่เปิดเผยชื่อ ไว้ในโรงพยาบาลท้องถิ่นแห่งหนึ่ง เพื่อดูอาการอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา ชายไทยรายดังกล่าวได้เดินทางมาทำงานที่ไต้หวันเป็นครั้งแรก ถูกด่านตรวจสนามบินนานาชาติเถาหยวนกรุงไทเป พบว่ามีไข้สูง และจากตรวจอาการเพิ่มเติมพบว่าติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งถือเป็นผู้ติดเชื้อซิการายแรกที่ถูกตรวจพบในไต้หวัน ทั้งนี้ ชาวไทยที่ถูกกักตัวได้เดินทางมาจากภาคเหนือของไทยพร้อมกับพรรคพวกอีก 2 คน ที่ไม่พบเชื้อซิกาแต่อย่างใด

อนึ่ง เชื้อไวรัสซิกามียุงลายบ้านเป็นพาหะในการแพร่เชื้อเหมือนกับไข้เด็งกี (ไข้เลือดออก) และไข้เหลือง ผู้ติดเชื้อจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะและปวดข้อ หลังติดเชื้อ 3-12 วัน แต่อัตราการเสียชีวิตต่ำ กระนั้นจะอันตรายพิเศษต่อทารกในครรภ์ของมารดาที่ติดเชื้อ โดยทารกมีโอกาสสมองฝ่อ ศีรษะเล็ก และเสียชีวิตได้

เชื้อไวรัสซิกา (Zika virus) เกิดจากการติดเชื้อที่มียุงลาย (Aedes mosquitos) เป็นพาหะ ซึ่งยุงชนิดนี้สามารถแพร่เชื้อไวรัสเดงกี (Dengue viruses) และเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya viruses) ได้เช่นเดียวกัน

โดยยุงชนิดนี้มักจะอาศัยอยู่รอบๆ ตึกในเขตเมือง และมักจะออกหากินในตอนกลางวัน (ช่วงเวลาที่ยุงจะกัดมากที่สุดอยู่ในช่วงเช้าและช่วงบ่าย)

เชื้อนี้สามารถมีผลต่อพัฒนาการของทารกที่อยู่ในมดลูก โดยทำให้ทารกมีศีรษะเล็กกว่าปกติ (Microcephaly) สมองโตไม่เต็มที่ ซึ่งสามารถทำให้ทารกเสียชีวิตได้เพราะสาเหตุจากการที่สมองพัฒนาไม่ได้จึงทำให้ไม่สามารถควบคุมการทำงานที่สำคัญของร่างกายได้ ส่วนทารกที่ติดเชื้อและรอดชีวิตมักจะพิการหรือมีพัฒนาการที่ล่าช้า

แหล่งข้อมูล

1. มะกันแนะหญิงตั้งครรภ์เลี่ยงไปลาตินอเมริกา ไวรัสซิการะบาด ทารก‘หัวเล็ก’พุ่ง. http://www.thairath.co.th/content/566157 [2015, January 27].

2. ไต้หวันกักหนุ่มไทยตรวจพบไวรัสซิกา. http://www.thairath.co.th/content/566292 [2015, January 27].

3. Zika Virus. http://www.cdc.gov/zika/index.html[2015, January 27].

4. Zika Virus. http://www.wpro.who.int/mediacentre/factsheets/fs_05182015_zika/en/[2015, January 27].

5. The alarming threat of Zika virus. http://www.bbc.com/news/health-35370848 [2015, January 27].