ไพโรซิแคม (Piroxicam)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ : คือยาอะไร?

ยาไพโรซิแคม (Piroxicam) คือ ยาแก้ปวดในกลุ่มจำพวกยาเอ็นเสด (NSAIDs, Non- steroidal anti inflammatory drug) ซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์

ยาไพโรซิแคมมีสรรพคุณรักษาโรคอะไร?

ไพโรซิแคม

ยาไพโรซิแคมมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • ใช้บรรเทาอาการปวดจาก
    • โรคเกาต์ (Gout)
    • โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
  • อาการปวดแผลหลังผ่าตัด
  • ช่วยลดการปวดข้อซึ่งไม่ทราบสาเหตุในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)

ยาไพโรซิแคมออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไพโรซิแคม คือ ยับยั้งการสร้างสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ในร่างกายซึ่งเป็นตัวชักนำให้เกิดการอักเสบและการเจ็บปวดตามมา

ยาไพโรซิแคมมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาไพโรซิแคม: เช่น

  • ยาแคปซูล ขนาด 10 และ 20 มิลลิกรัม
  • ยาเจล 0.5% ขนาด 10 และ 25 กรัม

ยาไพโรซิแคมมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไพโรซิแคมมีขนาดรับประทาน: เช่น

ยาไพโรซิแคมสำหรับผู้ใหญ่ : เช่น ขนาดสูงสุดที่รับประทานไม่ควรเกิน 40 มิลลิกรัม/วัน ควรรับประทานพร้อมหรือหลังอาหารทันทีเพื่อลดการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร

ยาไพโรซิแคมจัดเป็นยาอันตรายและมีผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)สูง จึงไม่ควรซื้อยากินเอง ขนาดของยาที่รับประทานควรได้รับคำแนะนำการใช้ยาจากแพทย์หรือเภสัชกรเสมอ

อนึ่ง:

  • ขนาดยานี้ในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) จะขึ้นกับอายุและน้ำหนักตัวของเด็ก ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาไพโรซิแคม ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด และอาการจากการแพ้ยา เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่น/หายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • โรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้ง กำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ เพราะยาไพโรซิแคม อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือไม่ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยาต่างๆมักผ่านรก หรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารกก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไพโรซิแคม สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยา ใกล้กับมื้อถัดไปให้รับประทานขนาดปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ยาไพโรซิแคมมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ของยาไพโรซิแคม เช่น

  • ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้
  • อาจเกิดเลือดออกในกระเพาะอาหาร(เลือดออกในทางเดินอาหาร)
  • อาจทำให้เกล็ดเลือดต่ำ จึงทำให้เลือดออกง่ายและหยุดยาก
  • อาจปวดหัว
  • ง่วงนอน
  • เห็นภาพไม่ชัด
  • หูอื้อ
  • ผื่นคัน
  • ผื่นแพ้แสง/ ผื่นแพ้แสงแดดง่าย

ยาไพโรซิแคมมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?

ปฏิกิริยาระหว่างยา ไพโรซิแคมกับยาตัวอื่น เช่น

  • การกินยาไพโรซิแคม ร่วมกับ เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ จะเพิ่มความเสี่ยงมีเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ (เลือดออกในทางเดินอาหาร)
  • การกินยาไพโรซิแคม ร่วมกับ ยาลดความดัน จะทำให้ประสิทธิภาพการลดความดันโลหิตลดลง และอาจก่อให้เกิดภาวะไตวาย กลุ่มยาลดความดันฯ เช่นยา อะลาซีพริล (Alacepril), อัลพรีโนลอล (Alprenolol), อะทีโนลอล (Atenolol), โปรปาโนลอล (Propanolol), เมโทรโปลอล (Metropolol), แคนดีซาร์แทน (Candesartan), โลซาร์แทน (Losartan), โอลมีซาร์แทน (Olmesartan)
  • การกินยาไพโรซิแคม ร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือดจะเสริมฤทธิ์กัน และก่อให้เกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ง่าย กลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา อะซีโนคูมารอล (Acenocoumarol) และ วอร์ฟาริน (Warfarin sodium)
  • การกินยาไพโรซิแคม ร่วมกับ ยาจิตเวช อาจเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ทางจิตเวชเพิ่มขึ้น เช่น ยาลิเทียม (Lithium Sulphate) เป็นต้น

มีข้อควรระวังในการใช้ยาไพโรซิแคมไหม?

ข้อควรระวังการใช้ยาไพโรซิแคม เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
  • ควรระวังการใช้ยานี้ใน ผู้สูงอายุ และในเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสภาวะติดเชื้อ หอบหืด ภูมิแพ้ โรคเลือด โรคไต โรคตับ เพราะอาจเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยานี้ให้สูงขึ้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาไพโรซิแคม) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ควรเก็บรักษายาไพโรซิแคมอย่างไร?

ยาไพโรซิแคมควรเก็บรักษา เช่น

  • เก็บยาในที่มิดชิด พ้นแสง/แสงแดดและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ หรือในรถยนต์
  • ควรต้องเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาไพโรซิแคมมีชื่ออื่นๆไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่อทางการค้า และบริษัทผู้ผลิตยาไพโรซิแคม เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Butacinon Fort (บิวตาซินอน)TP Drug
Dexalin (เดซาลิน)General Drug House
Flamic (ฟลามิค)Siam Bheasach
Roxycan (โรซีแคน)T Man Pharma