ไนตรัสออกไซด์ (Nitrous oxide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยา/แก๊สไนตรัสออกไซด์(Nitrous oxide เรียกย่อว่า Nitrous)หรือเรียกกันว่า แก๊สหัวเราะ(Laughing gas) เป็นสารประกอบที่มีสูตรเคมีเป็นโมเลกุลของไนโตรเจนและออกซิเจน ดังนี้คือ “N2O” คุณสมบัติของแก๊สนี้ในสภาพบรรยากาศปกติจะไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่ติดไฟ มีรสหวานเล็กน้อย การสูดดมแก๊สนี้สามารถทำให้หมดสติ/ไร้ความรู้สึก ทางคลินิกจึงนำแก๊สไนตรัสออกไซด์มาใช้เป็นยาสลบช่วยลดความรู้สึกเจ็บปวดโดยใช้ในห้องผ่าตัดและห้องทันตกรรม แก๊สนี้มีการใช้ครั้งแรกในคลินิกทันตกรรมเมื่อ ปี ค.ศ.1863 (พ.ศ.2406) การออกฤทธิ์ของแก๊สนี้กับผู้ป่วยแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น น้ำหนักตัวของผู้ป่วย หรือมีการใช้ยาสลบตัวอื่นร่วมด้วยหรือไม่ หลังจากได้รับแก๊สนี้ ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม ตัวชา ตาพร่า รู้สึกสับสน วิงเวียน หมดสติ ไม่สามารถควบคุมการทรงตัวรวมถึงการควบคุมกล้ามเนื้อที่ใบหน้าก็ทำไม่ได้อย่างปกติ

*การได้รับแก๊สไนตรัสออกไซด์ออกไซด์เกินขนาด สามารถทำให้เสียชีวิตได้ ระหว่างที่ให้แก๊ศไนตรัสออกไซด์กับผู้ป่วย แพทย์จะคอยควบคุมและตรวจสอบสัญญาณชีพต่างๆร่วมด้วย อาทิเช่น ความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจ

*นอกจากนั้น การได้รับแก๊สไนตรัสออกไซด์เป็นปริมาณมาก ยังทำให้เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซด์ (Lymphocytes) มีปริมาณต่ำ ส่งผลทำให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายอ่อนแอลง ทั้งยังรบกวนการเจริญเติบโตของร่างกาย และเกิดภาวะ Hyperhomocysteinemia(ภาวะมีกรดอะมิโนชนิด Cysteine ในเลือดสูง ซึ่งภาวะนี้จะก่อให้เกิดการบาดเจ็บเสียหายกับเซลล์ของหลอดเลือด)ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดตามมา

*การได้รับแก๊สไนตรัสออกไซด์ออกไซด์เป็นเวลานานๆ ยังส่งผลยับยั้งการสังเคราะห์วิตามินบี 12 ของร่างกาย หากร่างกายขาดวิตามินบี 12 จะทำให้เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทและต่อสมอง สังเกตจากผู้ป่วยจะมีความรู้สึกเหมือนเป็นเหน็บ/ชาตามลำตัวและแขนขา และเกิดความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน

ข้อควรระวังและข้อห้ามใช้ของแก๊สไนตรัสออกไซด์ที่ผู้บริโภคควรทราบ เช่น

  • หลังได้รับแก๊สไนตรัสออกไซด์ ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให้รู้สึกคลื่นไส้มากยิ่งขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์ปริมาณมากกับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ด้วยมี การศึกษาสนับสนุนว่า สามารถทำให้ตัวอ่อนในครรภ์ของสัตว์ทดลองพิการ ดังนั้นการใช้แก๊สนี้กับสตรีมีครรภ์ จะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ แก๊สไนตรัสออกไซด์ได้ถูกนำไปใช้ร่วมกับยาสลบหลายตัว อาทิเช่น การใช้กับยา Desflurane, Enflurane, Halothane, Isoflurane, Sevoflurane, ซึ่งการเลือกใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์ร่วมกับยาสลบตัวใดนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่เห็นเหมาะสม

สิ่งสำคัญอีกประการคือ แก๊สไนตรัสออกไซด์สามารถทำปฏิกิริยากับยาได้หลายรายการ ก่อนเข้ารับการผ่าตัด แพทย์จึงจำเป็นต้องทราบประวัติการใช้ยาที่เป็นปัจจุบันของผู้ป่วย และอาจต้องสั่งหยุดยาเหล่านั้นก่อนที่จะใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์ จึงถือเป็นข้อปฏิบัติสำคัญที่ผู้ป่วยต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล ทราบทุกครั้งว่า ตนเองมีโรคประจำตัวและมีการใช้ยาประเภทใดอยู่ก่อนบ้าง

แก๊สไนตรัสออกไซด์จัดเป็นแก๊สที่มีอันตราย ต้องบรรจุอยู่ในภาชนะ/ถังที่ทนแรงดันสูง การขนส่งและการจัดเก็บต้องมีขั้นตอนปฏิบัติตามมาตรฐานสากล และการใช้แก๊สนี้จะต้องอยู่ภายในคำสั่งของแพทย์แต่ผู้เดียว โดยจะพบเห็นการใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

ไนตรัสออกไซด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไนตรัสออกไซด์

แก๊สไนตรัสออกไซด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ คือ ใช้เป็นยาดมสลบ ลดความรู้สึกเจ็บปวด โดยมากแพทย์จะใช้ร่วมกับยาสลบชนิดอื่น

ไนตรัสออกไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

แก๊สไนตรัสออกไซด์ที่ให้ผู้ป่วยสูดดมมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยา/แก๊สจะแทรกซึมผ่านปอดเข้าไปยังศูนย์ควบคุมความรู้สึกเจ็บปวดของสมองและของไขสันหลัง ส่งผลปิดกั้นการส่งกระแสประสาท จึงทำให้ร่างกายเกิดอาการเคลิบเคลิ้ม สูญเสียการรับรู้และหมดสติในที่สุด สำหรับแก๊สออกซิเจนที่ใช้เป็นตัวเจือจางแก๊สไนตรัสออกไซด์ จะช่วยทำให้สมองและร่างกายยังคงมีอากาศมาหล่อเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ทำให้อวัยวะต่างๆของร่างกายคงสภาพการมีชีวิต และไม่ก่อให้เกิดการตายของเซลล์ภายในร่างกาย

ไนตรัสออกไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

แก๊สไนตรัสออกไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น แก๊สที่บรรจุในถังทนแรงดันสูงโดยผสมร่วมกับแก๊สออกซิเจนในอัตราส่วน Nitrous oxide 50% + Oxygen 50%

ไนตรัสออกไซด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ทางคลินิก แพทย์สามารถใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์ได้ทั้งในผู้ใหญ่และในเด็ก โดยขั้นตอนการให้แก๊สไนตรัสออกไซด์เป็นยาดมสลบ สรุปให้เห็นภาพอย่างง่ายๆ ดังนี้

1. นำท่อแก๊สไนตรัสออกไซด์ที่ผสมร่วมกับออกซิเจน(O2)ในสัดส่วนที่เหมาะสมมาต่อกับเครื่องพ่นยาสลบ

2. ทำการตั้งและกำหนดแรงดันที่จะส่งแก๊สเข้าทางเดินหายใจของผู้ป่วย

3. ปกติผู้ป่วยจะต้องอยู่ในท่านอนหงายและสวมหน้ากากที่จะนำแก๊สไนตรัส ออกไซด์ + ออกซิเจนเข้าร่างกาย

4. แพทย์จะดำเนินการปล่อยแก๊สเข้าทางเดินหายใจของผู้ป่วยโดยคำนวณจากน้ำหนักตัวผู้ป่วย

5. สัดส่วนของ N2O + O2 อาจใช้ 70 : 30 หรือ 50 : 50 เป็นไปตามคำสั่งแพทย์

6. แพทย์ พยาบาล จะเฝ้าสังเกตอาการว่า ผู้ป่วยอยู่ในภาวะหมดสติ ไร้ความรู้สึก ร่วมกับควบคุมสัญญาณชีพของผู้ป่วยให้เป็นไปอย่างปกติ จากนั้นจึงเริ่มทำหัตถการต่างๆต่อไป

อนึ่ง:

  • ในหลายสถานพยาบาล ไม่มีการใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์ แต่จะใช้ยาสลบชนิดอื่นที่มีการออกฤทธิ์อย่างเหมาะสมที่เพียงพอกับหัตถการผ่าตัดนั้นๆ
  • หลังการใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์ แพทย์จะให้ออกซิเจนที่ความเข้มข้น 100% กับผู้ป่วยเป็นเวลาประมาณ 5 นาที เพื่อลดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ของแก๊สไนตรัสออกไซด์ เช่น คลื่นไส้ ภาวะเคลิบเคลิ้ม/กึ่งรู้สึกตัว เป็นต้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา/แก๊สไนตรัสออกไซด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมทั้งกำลัง กินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะแก๊สไนตรัสออกไซด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ไนตรัสออกไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

แก๊สไนตรัสออกไซด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการชาตามร่างกาย วิงเวียน ปวดศีรษะ ความจำด้อยลง ได้ยินเสียงในหู/หูอื้อ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น เคลิบเคลิ้ม รู้สึกสับสน ซึม อาการทางจิตประสาท เช่น ประสาทหลอน
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ไม่สามารถควบคุมการทรงตัวได้ตามปกติ ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อของใบหน้าได้
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจล้มเหลว เกิดโรคหลอดเลือดด้วยร่างกายขาดวิตามินบี 12
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ชะลอการสังเคราะห์วิตามินบี 12 ในร่างกาย
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่นระบบภูมิคุ้มกันฯต่ำลงด้วยมีภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซด์(Lymphocytes)ต่ำ

มีข้อควรระวังการใช้ไนตรัสออกไซด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยา/แพ้แก๊สนี้
  • หลังจากได้รับแก๊สไนตรัสออกไซด์ห้ามรับประทานหรือดื่มเครื่องดื่มที่มี แอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให้มีภาวะคลื่นไส้อาเจียนเพิ่มขึ้น
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีระบบเดินหายใจอุดตัน ผู้พิการที่ไม่สามารถสื่อสารหรือ ตอบสนองต่อการซักถามของ แพทย์ พยาบาล ได้ ผู้ที่มีภาวะความดันในสมองสูง/ความดันในกะโหลกศีรษะสูง
  • ห้ามใช้แก๊สนี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ระหว่างการใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์ ต้องควบคุมสัญญาณชีพของผู้ป่วยให้เป็นปกติเสมอ เช่น ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และรวมถึงปริมาณออกซิเจนในเลือด
  • ระวังการใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์กับ ผู้ป่วยโรคปอด ผู้ที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ที่มีภาวะหูหนวกหรือไม่สามารถรับรู้การสื่อสารทางเสียงได้
  • หลังได้รับแก๊สไนตรัสออกไซด์ เมื่อฟื้นคืนสติ แพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยพักฟื้นที่สถานพยาบาลเพื่อรอดูและสังเกตอาการหลังจากทำหัตถการต่างๆจนแน่ใจว่า ปลอดภัยจึงจะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้
  • ห้ามใช้แก๊สนี้ที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บแก๊สนี้ที่หมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมแก๊สไนตรัสออกไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตเสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไนตรัสออกไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

แก๊สไนตรัสออกไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยา/แก๊สไนตรัสออกไซด์ร่วมกับยา Isocarboxazid, Selegiline, ด้วยจะทำให้ความดันโลหิตของผู้ป่วยผิดปกติ(อาจสูง หรือต่ำก็ได้) เพื่อความปลอดภัยควรเว้นระยะเวลาของการใช้ยาดังกล่าวห่างจากการใช้แก๊สนี้ประมาณ 10–14 วันเป็นอย่างต่ำ
  • หลีกเลี่ยงการใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์ร่วมกับยา Methotrexate ด้วยจะทำให้เกิดอาการ ผิวมีสีซีด เลือดออกง่าย อ่อนเพลีย เป็นแผลในช่องปาก อาเจียน ถ่ายมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะน้อย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
  • การใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์กับผู้ที่ได้รับยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เป็นยาเสพติด อย่างเช่นยา Codeine, Fentanyl, แพทย์จะลดปริมาณการใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์ลงเพื่อให้ได้ฤทธิ์สงบประสาทอย่างเหมาะสม และเกิดความปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้แก๊สไนตรัสออกไซด์ร่วมกับยา Reserpine ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากแก๊สไนตรัสออกไซด์มากยิ่งขึ้น

ควรเก็บรักษาไนตรัสออกไซด์อย่างไร?

สามารถเก็บแก๊สไนตรัสออกไซด์ที่อุณหภูมิห้อง ควรต้องเก็บในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก จัดวางถังแก๊สอยู่บนพื้นที่หรือมีฐานรองรับที่มั่นคง เพื่อป้องกันการล้มของถังแก๊สได้เป็นอย่างดี และต้องมีการป้องกันมิให้ผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าถึงถังแก๊สได้ง่าย

ไนตรัสออกไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

แก๊สไนตรัสออกไซด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มีชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
ENTONOX (เอนโทนอกซ์)BOC Ltd.

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/mmx/nitrous-oxide.html [2017,Jan28]
  2. https://www.drugs.com/uk/medical-nitrous-oxide-leaflet.html [2017,Jan28]
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/nitrous-oxide-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Jan28]
  4. http://www.druginfo.adf.org.au/images/nitrous-oxide-24may16.pdf [2017,Jan28]
  5. https://drugs-forum.com/forum/showwiki.php?title=Nitrous_Oxide [2017,Jan28]
  6. http://www.mims.com/thailand/drug/search?q=nitrous%20oxide [2017,Jan28]
  7. http://www.bochealthcare.co.uk/internet.lh.lh.gbr/en/images/entonox_essential_guide_hlc401955_Sep10409_64836.pdf [2017,Jan28]
  8. http://emedicine.medscape.com/article/1413427-overview#showall [2017,Jan28]
  9. http://icourses.uthscsa.edu/courses/nitrous/indications.html [2017,Jan28]
  10. http://www.boconline.co.uk/internet.lg.lg.gbr/en/images/entonox410_43539.pdf [2017,Jan28]