ไตวาย ตายไว (ตอนที่ 1)

ไตวาย ตายไว

พญ.ธนันดา ตระการวนิช หัวหน้าหน่วยโรคไต คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ระบุว่า “ไต” เป็นอวัยวะสำคัญทำหน้าที่ในการขับของเสียออกจากร่างกาย ถ้าวันหนึ่งอวัยวะที่ว่าเกิดความ “เสื่อม” ถึงขั้นก่อโรค จะส่งผลต่อการดำรงชีวิตที่เหลือต่อจากนี้

พญ.ธนันดา เปรียบเทียบว่า หากยังมองไม่ออกจะอธิบายคร่าว ๆ ให้เห็นภาพก็คือ ภาพผู้ป่วยผิวหนังดำและหยาบกร้าน ข้างสะเอวมีถุงรองปัสสาวะห้อยระโยงระยาง ซึ่งทุกวันนี้ยังมีให้เห็นอยู่มากในสังคม ถึงขั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต้องออกมายอมรับว่าสถานการณ์ค่อนข้างน่าเป็นห่วง

เนื่องจากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ที่ร้อยละ 10-17 โดยมีรายงานตัวเลขผู้ป่วยที่ลงทะเบียนฟอกเลือดของสมาคมโรคไต 48,000 ราย ยอดผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องผ่านโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 39,000 ราย ยอดรวม 2 กลุ่มอยู่ที่ 80,000 กว่าราย ทั้งนี้ยังเหลือกลุ่มประกันสังคม และข้าราชการที่ยังไม่ได้นับรวม

ไต (Kidney) มีขนาดใหญ่เท่ากำปั้นมือ (ประมาณ 11 ซม. x 7 ซม. x 3 ซม.) มีอยู่ 2 ข้าง บริเวณชายโครงสุดท้าย ไตแต่ละข้างจะประกอบด้วยหน่วยไตที่เรียกว่า Nephron เป็นจำนวนล้านหน่วย โดยแต่ละหน่วยจะประกอบด้วยหลอดเลือดเล็กๆ ที่เรียกว่า กลุ่มเส้นโลหิตฝอยโกลเมอรูลัส (Glomerulus) เมื่อเลือดเข้ามาโกลเมอรูลัสจะทำหน้าที่กรองของเสียออกจากเลือด

ไตจะทำหน้าที่กรองเลือดประมาณ 200 ควอต (Quarts) ทุก 24 ชั่วโมง โดยปริมาณ 198 ควอตจะหมุนเวียนในร่างกาย ส่วนอีก 2 ควอต จะถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ โดยสะสมที่กระเพาะปัสสาวะ (Bladder) ตั้งแต่ 1-8 ชั่วโมง

ไตมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมความสมดุลของสารเคมีในร่างกายอย่าง เกลือแร่ โปแตสเซียม และกรด นอกจากนี้ยังผลิตฮอร์โมนที่มีผลต่อการทำงานของอวัยวะอื่นในร่างกาย เช่น ฮอร์โมนที่กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด ฮอร์โมนที่ควบคุมความดันเลือด และควบคุมเมตะบอลิสึมของแคลเซียม (Calcium metabolism)

ไตถือเป็นโรงงานเคมีที่ทรงพลังของร่างกายในการทำหน้าที่ต่อไปนี้

  • ขับของเสียออกจากร่างกาย
  • กำจัดยาออกจากร่างกาย
  • รักษาความสมดุลของของเหลวในร่างกาย
  • ปล่อยฮอร์โมนและควบคุมความดันเลือด
  • ผลิตวิตามินดีในรูปแบบที่มีส่วนสำคัญในการมีกระดูกที่แข็งแรง
  • ควบคุมและผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง

แหล่งข้อมูล

  1. ‘โรคไต’ ป้องกันได้แต่เนิ่นๆ http://www.dailynews.co.th/article/331055 [2015, July 1].
  2. How Your Kidneys Work. https://www.kidney.org/kidneydisease/howkidneyswrk [2015, July 16].
  3. Kidney Pain. http://www.medicinenet.com/kidney_pain/article.htm [2015, July 16].