ไดโคลฟีแนค (Diclofenac)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) เป็นยาในกลุ่มยาแก้ปวด โดยอยู่ในพวกเดียวกับยา เอนเสด (NSAIDs, Non-steroidal inflammatory drugs) ดังนั้น จึงเป็นทั้งยาแก้ปวดและยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ และเป็นยาที่ใช้บ่อยตัวหนึ่งในบ้านเรา

ยาไดโคลฟีแนคมีสรรพคุณอย่างไร?

ไดโคลฟีแนค

ยาไดโคลฟีแนคมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • เป็นยาต้านการอักเสบ (ยาในกลุ่มเอ็นเสด) ใช้ลดและบรรเทาอาการปวด เช่น ปวดข้อ ปวดกระดูก หรือการปวดชนิดเฉียบพลันด้วยสาเหตุถูกกระแทก และสามารถลดอาการปวดประจำเดือน ปวดฟัน ใช้เป็นยาลดอาการปวดจากนิ่วในไตและนิ่วในถุงน้ำดี ในหลายประเทศ (รวมทั้งในประเทศเรา) พัฒนาเป็นยาทาในรูปของเจล (Gel) ซึ่งใช้ทาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อหลังเล่นกีฬาหรือจากการทำงานหนัก นอกจากนี้ยังช่วยลดไข้/ อาการไข้ได้ด้วย

ยาไดโคลฟีแนคออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไดโคลฟีแนคคือ ตัวยาจะไปยับยั้งขบวนการสร้างสารเคมีที่ชื่อ โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำให้ร่างกายเกิดอาการปวด

ยาไดโคลฟีแนคมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไดโคลฟีแนคมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดทั่วไป ขนาด 25 และ 50 มิลลิกรัม
  • ยาเม็ดชนิดออกฤทธิ์นาน ขนาด 75, 100 และ 150 มิลลิกรัม
  • ยาเจลสำหรับทา
  • ยาน้ำเชื่อม ขนาด 100 มิลลิกรัมใน 1 ช้อนชา
  • ยาฉีด ขนาด 50 และ 75 มิลลิกรัม
  • ยาเหน็บทวาร ขนาด 50 และ 100 มิลลิกรัม

ยาไดโคลฟีแนคมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไดโคลฟีแนค จัดเป็นยาอันตราย และมีผลข้างเคียงมากมาย จึงไม่ควรซื้อยานี้กินเอง และขนาดของยาที่กินในผู้ใหญ่และในเด็กมีขนาดที่ต่างกัน ดังนั้นจึงควรได้รับคำแนะนำการใช้ยาจากแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนกินยาเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาไดโคลฟีแนค ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด และอาการที่เกิดจากการแพ้ยา เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เช่น โรคหัวใจ, โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด (โรคหัวใจ2), และโรคความดันโลหิตสูง, เพราะยาไดโคลฟีแนคอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือไม่ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยามักผ่านรก หรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก ก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไดโคลฟีแนค สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยาใกล้กับมื้อถัดไป ให้รับประทานขนาดปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ยาไดโคลฟีแนคมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ของยาไดโคลฟีแนค เช่น

  • ตัวยามีฤทธิ์ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร แพทย์มักจะให้ยาลดกรด ร่วมไปด้วยเช่นยา แรนิทิดีน (Ranitidine) หรือ โอมีปราโซล (Omeprazole) รับประทานก่อนนอนเพื่อป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
  • อาการอื่นๆที่อาจพบได้ เช่น
    • ปวดศีรษะ/ ปวดหัว
    • เวียนหัว
    • ผื่นคัน
    • ตับอักเสบ
    • ไตล้มเหลว /ไตวาย เฉียบพลัน
    • กดไขกระดูก

ยาไดโคลฟีแนคมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?

ปฏิกิริยาระหว่างยาอื่นๆเมื่อกินยาไดโคลฟีแนค เช่น

  • การกินร่วมกับเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ จะเพิ่มความเสี่ยงมีเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ (เลือดออกในทางเดินอาหาร)
  • การกินร่วมกับยาลดความดันโลหิต(ยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง)จะทำให้ประสิทธิภาพการลดความดันโลหิตน้อยลง กลุ่มยาลดความดันโลหิต เช่น ยาอะทีโนลอล (Atenolol), โปรปาโนลอล (Propanolol), เมโทรโปลอล(Metropolol), แคนดีซาร์แทน (Candesartan), โลซาร์แทน (Losartan), และโอลมีซาร์แทน(Olmesartan)
  • การกินร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดจะเสริมฤทธิ์กัน และก่อให้เกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ง่าย กลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา แอ็บซิกซิแมบ (Abciximab), และ วอร์ฟาริน (Warfarin Sodium)
  • การกินร่วมกับยาโรคหัวใจจะทำให้การออกฤทธิ์ของยาโรคหัวใจมีมากขึ้นจนอาจเป็นพิษต่อร่างกายได้ อาจส่งผลให้ หัวใจเต้นผิดจังหวะ คลื่นไส้-อาเจียน การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน ตัวอย่างยาโรคหัวใจ เช่นยา ไดจอกซิน (Digoxin)
  • การกินร่วมกับยาจิตเวช อาจเพิ่มผลไม่พึงประสงค์ของยาทางจิตเวชให้สูงขึ้น เช่น ยากลุ่มยาลิเทียม (Lithium Sulphate) เป็นต้น

มีข้อควรระวังไหมเมื่อกินยาไดโคลฟีแนค?

ข้อควรระวังการใช้ยาไดโคลฟิแนค นอกจากกล่าวแล้วในหัวข้อผลไม่พึงประสงค์และปฎิกิริยาฯกับยาตัวอื่นแล้ว ยังควรต้อง

  • ระวังการใช้ยากับผู้ที่เคยแพ้ยา (การแพ้ยา) ไดโคลฟีแนค
  • ผู้ที่มีประวัติโรคภูมิแพ้อาจเกิดอาการโรคภูมิแพ้กำเริบเมื่อใช้ยานี้
  • ห้ามใช้กับหญิงมีครรภ์เพราะอาจมีผลต่อทารกในครรภ์จนถึงเกิดการแท้งบุตรได้
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้(แผลเปบติค)เพราะเสี่ยงกับสภาวะเลือดออกจากแผลฯได้ง่าย
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือผู้ที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจมาใหม่ๆ ด้วยเหตุผลดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวม ถึงยาไดโคลฟีแนคด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ควรเก็บรักษายาไดโคลฟีแนคอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาไดโคลฟีแนค เช่น

  • ยาเม็ด: ควรอยู่ในแผงยาของบริษัทผู้ผลิต
  • นอกจากนั้น ยาในทุกรูปแบบ
    • ควรเก็บให้พ้นแสงแดด
    • ไม่ควรเก็บในที่ที่มีอุณหภูมิสูง
    • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
    • ควรเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
    • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาไดโคลฟีแนคมีชื่ออื่นๆไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไดโคลฟีแนค มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า ผู้ผลิต
Ammi–Votara (แอมมิโวทารา) Macro Phar
Amminac (แอมมิแนค) Macro Phar
Antenac (แอนทีแนค) GPO
Bufenac (บูฟีแนค) Burapha
Cataflam (คาทาแฟลม) Novartis
Catanac (คาทาแนค) Pharmasant Lab Trading
Cencenac (เซนซีแนค) Pharmasant Lab Trading
D–Fiam (ดีแฟม) Osoth Interlab
Demac (ดีแมค) Osotspa
Demac Gel (ดีแมคเจล) Osotspa
Diclofenac T.O.(ไดโคลฟีแนคทีโอ) T.O. Chemicals
Diclogel (ไดโคลเจล) Polipharm
Diclogesic (ไดโคลเจสิค) T Man Pharma
Diclosian (ไดโคลเซียน) Asian Pharm
Difaren (ไดฟาเรน) P P Lab
Difelene (ไดฟีลีน) Thai Nakorn Patana Health Care
Difelene Gel (ไดฟีแนคเจล) Thai Nakorn Patana Health Care
Difenac (ไดฟีแนค) T P Drug
Dosanac (โดซาแนค) Siam Bheasach Pharmaceutical
Dosanac Gel (โดซาแนคเจล) Siam Bheasach Pharmaceutical
Fenac (ฟีแนค) L.B.S.
Fenacaine (ฟีนาเคน) L.B.S.
Fenacil (ฟีนาซิล) Macro Phar
Flexy Gel (เฟลคซี เจล) T P Drug
Inflanac (อินฟลาแนค) Biolab
Klyzen (ไคลเซน) Pharmahof
Klyzen Tablet (ไคลเซน) Pharmahof
Lesflam (เลสแฟลม) Unison
Manfenac (แมนฟีแนค) T Man Pharma
Masaren (มาซาร์เรน) Masa Lab
Myfenax (ไมฟีแนค) Greater Pharma
Myonac (ไมโอแนค) M & H Manufacturing
Myonac Gel (ไมโอแนค เจล) M & H Manufacturing
N–ZEN Gel (เอนเซน เจล) T. C. Pharma–Chem
N–ZEN tab (เอนเซน แทบ) T. C. Pharma-Chem
Ostaren (ออสทาเรน) Utopian
Ostaren Cream (ออสทาเรน) Utopian
Ostaren Injection (ออสทาเรน ชนิดฉีด) Utopian
Pai–Noren (ไพ-นอเรน) 2 M (Med–Maker)
Painelief (ไพนีลีฟ) British Dispensary Trading
Remethan (รีมีแธน) Remedica
Remethan Gel (รีมีแธน เจล) Remedica
Rhumanol Creamagel (รูมานอล ครีมาเจล) T.O. Chemicals
Sefnac (เซฟแนค) Unison
Sefnac Gel (เซฟแนค เจล) Unison
Tarjen (ทาร์เจน) Union Drug
Tarjena (ทาร์จีนา) Union Drug
Uniren (ยูนิเรน) Patar Lab
V–Therlen Patar (วีเธอร์เลน พาตาร์) PatarLab
Unison V–Therlen Gel (วีเธอร์เลน เจล) Patar Lab
Vasalen (วาซาเลน) Millimed
Ventarone (เวนทาโรน) Umeda
Vesconac (เวสโคแนค) Vesco Pharma
Vesconac Injection (เวสโคแนค ชนิดฉีด) Vesco Pharma
Volfen (โวลเฟน) General Drugs House
Volnac (โวลแนค) T.O. Chemicals
Voltaren (โวลทาเรน) Novartis
Voltaren Emulgel (โวลทาเรน อีมัลเจน) Novartis
Voltaren Ophtha (โวลทาเรน ออฟธา) Novartis

บรรณานุกรม

1. MIMS. Pharmacy. Thailand. 9th Edition 2009.

2. MIMS Thailand . TIMS. 110th Ed 2008.

3. พิสิฐ วงศ์วัฒนะ.(2547). ยา. THE PILL BOOK.

4. สุภาภรณ์ พงศกร.(2528). ปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยา (Drug Interactions). เภสัชวิทยา เล่ม 1. ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.