ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) จัดเป็น ยาปฏิชีวนะ กลุ่มควิโนโลน (Quinolones) มีใช้แพร่หลายในโรงพยาบาล ชื่อที่คุ้นหู ได้แก่ ไซโปรเบ หรือ ซิโปรเบ (Ciprobay)

ยาไซโปรฟลอกซาซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไซโปรฟลอกซาซิน

ยาไซโปรฟลอกซาซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้รักษาการติดเชื้อของอวัยวะต่างๆ เช่น
    • หูชั้นกลาง
    • ไซนัสอักเสบ
    • ทางเดินปัสสาวะอักเสบ /โรคติดเชื้อระบบทางดินปัสสาวะ
    • กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
    • และการติดเชื้อในกระแสเลือด / กระแสโลหิต

ยาไซโปรฟลอกซาซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไซโปรฟลอกซาซิน มีกลไกการออกฤทธิ์ ยับยั้งการสังเคราะห์สารพันธุ กรรมของแบคทีเรียที่เรียกว่า ดี เอน เอ (DNA) จึงส่งผลยับยั้งการแพร่พันธุ์ของแบคทีเรีย

ยาไซโปรฟลอกซาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไซโปรฟลอกซาซิน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดขนาด 250 มิลลิกรัม และ 500 มิลลิกรัม
  • ยาฉีดขนาด 100 มิลลิกรัม ในน้ำยา 50 มิลลิลิตร
  • ยาฉีดขนาด 200 มิลลิกรัม ในน้ำยา 100 มิลลิลิตร
  • ยาฉีดขนาด 400 มก. ในน้ำยา 200 มิลลิลิตร
  • ยาหยอดหู

ยาไซโปรฟลอกซาซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไซโปรฟลอกซาซินมีขนาดรับประทานได้หลายแบบ สำหรับผู้ใหญ่ ขนาดที่รับประทานอยู่ในช่วง 250-750 มิลลิกรัม/ครั้ง วันละ 1-2 ครั้ง ขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของโรค ซึ่งสามารถรับประทานยาไซโปรฟลอกซาซินก่อนอาหาร หรือพร้อมอาหารเพื่อลดการระคายเคืองของกระเพาะ

อย่างไรก็ตาม ควรให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัย สั่งจ่าย และแนะนำวิธีกินยาที่เหมาะสม (โดยเฉพาะในเด็ก) ไม่ควรซื้อรับประทานเอง หรือควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาทุกครั้ง

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมทั้งยาไซโปรฟลอกซาซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติ แพ้ยา ทุกชนิด และอาการที่เกิดจาก การแพ้ยา เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่น/หายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไซโปรฟลอกซาซิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือ อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่า อยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือไม่ หรือ กำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยามักผ่านรก หรือ ผ่านเข้าสู่น้ำนม และเข้าสู่ทารกก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไซโปรฟลอกซาซิน สามารถรับประทานยาไซโปรฟลอกซาซินเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยาฯ ใกล้กับมื้อถัดไป ให้รับประทานขนาดปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาฯเป็น 2 เท่า

ยาไซโปรฟลอกซาซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ( ผลข้างเคียง /อาการข้างเคียง) ของ ยาไซโปรฟลอกซาซิน เช่น

  • ก่อการระคายเคืองระบบกระเพาะอาหาร และลำไส้
  • ผื่นคัน
  • ปวดข้อ
  • อาการสั่นทั่วตัว
  • ชัก
  • ใจสั่น
  • ผิวแพ้แสงแดด เช่น ขึ้นผื่นเมื่อโดนแดด

มีข้อควรระวังในการใช้ยาไซโปรฟลอกซาซินอย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ ยาไซโปรฟลอกซาซิน เช่น

  • ยานี้อาจรบกวนการทำงานของสมอง และระบบประสาทส่วนกลาง ต้องระวังและห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชักเพราะจะเพิ่มโอกาสชักให้สูงขึ้น
  • ระวังการใช้ยาในผู้ที่แพ้ยา (การแพ้ยา) นี้
  • ระวังการใช้ยากับผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร และ/หรือ ลำไส้ เพราะก่อการระคายเคืองกระเพาะอาหาร และลำไส้
  • ห้ามใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** หมายเหตุ: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาไซโปรฟลอกซาซินด้วย) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไซโปรฟลอกซาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปฏิกิริยาระหว่างยาของยาไซโปรฟลอกซาซิน กับยาตัวอื่นๆที่พบบ่อย เช่น

  • การใช้ยา ร่วมกับ กลุ่มยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเซด (NSAIDs) จะรบกวนและกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดการชักได้ง่าย ตัวอย่าง ยาแก้ปวดกลุ่มเอนเซดส์ (NSAIDs) เช่นยา อะซีโคลฟีแนค (Aceclofenac) ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) อินโดเมทาซีน (Indomethacin) เมเฟนามิค (Mefenamic) และไพรอคซิแคม (Piroxicam)
  • การใช้ยาไซโปรฟลอกซาซิน ร่วมกับกลุ่มยาลดกรด จะลดการดูดซึมของ ยาไซโปรฟลอกซาซิน ส่งผลเสียโดยที่อาการของโรคไม่ดีขึ้น ตัวอย่าง กลุ่มยาลดกรด เช่นยา อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium hydroxide) และ แมกนีเซียมคาร์บอเนท (Magnesium carbonate)

ควรเก็บรักษายาไซโปรฟลอกซาซินอย่างไร?

วิธีเก็บรักษายาไซโปรฟลอกซาซิน เช่น

  • ควรต้องเก็บรักษาในที่แห้ง พ้นแสง/ แสงแดด และในอุณหภูมิไม่ควรเกิน 25 องศาเซลเซียส (Celsius) กล่าวคือ ควรเก็บในตู้เย็น แต่ไม่ใช่ในช่องแช่แข็ง
  • และต้องเก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาไซโปรฟลอกซาซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่อทางการค้า และบริษัทผู้ผลิตยาไซโปรฟลอกซาซิน เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
C-Floxacin (ซี-ฟลอกซาซิน)S M Pharm
Ciflo (ซิโฟล)Masa Lab
Ciflolan (ซิโฟลแลน)Olan - Kemed
Cifloxin (ซิโฟลซิน)Siam Bheasach
Cifran/Cifran OD (ซิแฟรน)Ranbaxy Unichem
Cilab (ซิแลป)Biolab
Cinfloxine (ซินโฟลซีน)Medicine Products
Cipflocin (ซิปโฟลซิน)Asian Pharm
Cipon (ซิปอน)Unison
Ciprobay (ซิโปรเบ/ไซโปรเบ)Bayer Schering Pharma AG
Ciprobid (ซิโปรบิด)Zydus Cadila
Ciprocep (ซิโปรเซป)T.O. Chemicals
Ciprofin (ซิโปรฟิน)Utopian
Ciprofloxacin Injection Fresenius KabiFresenius Kabi
Ciprogen (ซิโปรเจน)General Drugs House
Ciprolet (ซิโปรเลต)Dr Reddy’s Lab
Ciprom – H (ซิปรอม-เอช)M & H Manufacturing
Ciprovid (ซิโปรวิด)Millimed
Ciproxan (ซิโปรแซน)Pond’s Chemical
Ciproxin (ซิโปรซิน)Osoth Interlab
Ciproxyl (ซิโปรซิล)Farmaline
Cobay (โคเบ)Millimed
Cyflox (ไซฟลอก)Greater Pharma
Enoxin (อีโนซิน)Charoon Bhesaj
Forexin (โฟรีซิน)Pharmaland
Microflox (ไมโครฟลอก)Micro Labs
Prolix (โปรลิก)Pharmasant Lab

บรรณานุกรม

1. Antibiotics.https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=ciprofloxacin [2020,March7]
2. http://en.wikipedia.org/wiki/Antimicrobial [2020,March7]