ไซบูทรามีน (Sibutramine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 กุมภาพันธ์ 2559
- Tweet
- บทนำ
- ไซบูทรามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ไซบูทรามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไซบูทรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไซบูทรามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไซบูทรามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไซบูทรามีนอย่างไร?
- ไซบูทรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไซบูทรามีนอย่างไร?
- ไซบูทรามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- Tricyclic antidepressants (TCA)
- เอมเอโอไอ (Monoamine oxidase inhibitor: MAOI)
- ยาลดความอ้วน (Diet pill or Weight loss drug)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ต้อหิน (Glaucoma)
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
บทนำ
ยาไซบูทรามีน (Sibutramine) ถูกใช้เป็นยาลดน้ำหนักแบบรับประทาน สามารถดูดซึมผ่านจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 77% เมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือดจะจับกับพลาสมาโปรตีนถึงประมาณ 97% และถูกลำเลียงไปที่ตับเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีได้เป็นสารประเภทเมทาบอไลต์ (Metabo lites) การกำจัดยาไซบูทรามีนออกจากร่างกายใช้เวลาเพียงประมาณ 1 ชั่วโมง แต่สำหรับสารเมทาบอไลต์ของยาไซบูทรามีนต้องใช้เวลาประมาณ 14 - 16 ชั่วโมงขึ้นไป
ยาไซบูทรามีนมีกลไกการออกฤทธิ์ที่สมองของมนุษย์ โดยตัวยาจะยับยั้งการดูดเก็บกลับของสารสื่อประสาทบางประเภทเช่น Serotonin, Norepinephrine และ Dopamine และทั้งๆที่กลไกการออกฤทธิ์ของยาไซบูทรามีนจะคล้ายกับยาในกลุ่ม Tricyclic antidepressants (TCAs) ก็ตาม แต่ทางคลินิกกลับพบว่ายานี้ไม่สามารถรักษาและบำบัดอาการซึมเศร้าได้มากเท่าใดนัก
ในปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) คณะกรรมการอาหารและยาของประเทศในแถบอเมริกาได้ผลักดันให้ยาไซบูทรามีนเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ใช้ลดน้ำหนัก แต่ต่อมาตรวจพบว่ายานี้มีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรงเช่น ทำให้ระบบการทำงานของหัวใจผิดปกติ มีความดันโลหิตสูง แรงดันโลหิตในปอดเพิ่มมากขึ้น เจ็บหน้าอก ตาพร่า หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก หัวใจล้มเหลว ไตวาย จนถึงมีรายงานว่าผู้ป่วยบางรายถึงกับเสียชีวิต (ตาย) ดังนั้นในปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) ยาไซบูทรามีนจึงถูกเพิกถอนออกจากตลาดยาของสหรัฐอเมริกา
ในทางปฏิบัติยังมีข้อห้ามการใช้ของยาไซบูทรามีนอีกมากมายที่ผู้บริโภคควรทราบอาทิ
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคจิต ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ผู้ที่มีประวัติติดสุรา ผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือผู้ชรา/ผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 65 ปี
- ผู้ที่ใช้ยาในกลุ่ม MAOIs ยาต้านอาการซึมเศร้ารวมถึงกลุ่มยาต่างๆที่ออกฤทธิ์ต่อสมอง
- ห้ามใช้ยานี้กับกลุ่มผู้ป่วยดังต่อไปนี้ ผู้ป่วยด้วยโรคของหลอดเลือดฝอย ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตในปอดสูง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงในสมองแตก ผู้ป่วยไทรอยด์ฮอร์โมนสูง/ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต สตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
ในประเทศไทยเราก็ไม่มียานี้จำหน่ายเช่นเดียวกับหลายประเทศทั้งนี้ก็ด้วยฤทธิ์ของอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่ค่อนข้างรุนแรงนั่นเอง
ไซบูทรามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไซบูทรามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้โดยใช้เป็นยาลดน้ำหนัก
ไซบูทรามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไซบูทรามีนมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาทในสมองที่มีชื่อว่า Serotonin, Norepinephrine และ Dopamine ส่งผลให้เกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทต่างๆเหล่านี้กันใหม่และทำให้ผู้บริโภคยานี้รู้สึกอิ่มไม่อยากรับประทานอาหาร
ไซบูทรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไซบูทรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาแคปซูลชนิดรับประทานขนาด 5, 10 และ 15 มิลลิกรัม/แคปซูล
ไซบูทรามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไซบูทรามีนมีขนาดรับประทานเช่น
- ผู้ใหญ่ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป: รับประทาน 10 มิลลิกรัมหรือตามคำสั่งแพทย์ โดยรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้วันละ 1 ครั้ง แต่ทั้งนี้ต้องเป็นการใช้ยาตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- อนึ่ง: ห้ามใช้ยานี้ในผู้อายุต่ำกว่า 18 ปีหรือมากกว่า 65 ปี
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไซบูทรามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไซบูทรามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไซบูทรามีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาไซบูทรามีนตรงเวลา
ไซบูทรามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไซบูทรามีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น เกิดภาวะผิดปกติของหลอดเลือดที่เลี้ยงบริเวณหัวใจ หิวบ่อย คลื่นไส้ รู้สึกไม่สบายในท้อง ท้องผูก หลับยาก วิงเวียน ง่วงนอน มีอาการลมชัก ตัวเหลือง มีไข้ เป็นต้น
มีข้อควรระวังการใช้ไซบูทรามีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไซบูทรามีนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาไซบูทรามีน
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่ป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตสูง เจ็บหน้าอก ผู้ที่มีภาวะหัวใจ เต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยที่มีประวัติหลอดเลือดในสมองแตก
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
- ห้ามใช้ยาไซบูทรามีนกับผู้ที่ใช้ยาต้านเศร้าประเภท MAOIs หากต้องการใช้ยาไซบูทรามีน ต้องหยุดการใช้ยากลุ่ม MAOIs เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาลดน้ำหนักประเภทอื่น
- ระหว่างการใช้ยานี้ผู้ป่วยอาจต้องออกกำลังกายร่วมกับการบริโภคอาหารอย่างถูกสัดส่วนตามคำแนะนำของแพทย์
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต โรคต้อหิน โรคลมชัก
- กรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยานี้เกินขนาดให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- หากมีอาการแพ้ยานี้หลังรับประทานให้หยุดการใช้ยานี้และรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว/ฉุกเฉิน
- ระวังการเกิดภาวะ Serotonin syndrome ระหว่างที่ใช้ยานี้
- หากพบว่ามีอาการผิดปกติของการมองเห็นภาพ ให้หยุดใช้ยานี้แล้วพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไซบูทรามีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไซบูทรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไซบูทรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- ห้ามรับประทานยาไซบูทรามีนร่วมกับการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้เสี่ยงต่อความผิดปกติของระบบการทำงานของหัวใจเช่น หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก ความดันโลหิตผิดปกติ วิงเวียน ง่วงนอน ซึมเศร้า เป็นต้น
- ห้ามใช้ยาไซบูทรามีนร่วมกับยา Fentanyl ด้วยจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Serotonin syndrome ซึ่งจะมีอาการของประสาทหลอน มีอาการลมชัก ตาพร่า กล้ามเนื้อเกร็งตัว/เป็นตะคริว มีภาวะตัวสั่น เป็นตะคริวที่ท้อง หัวใจเต้นเร็ว เป็นไข้ เหงื่อออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไซบูทรามีนร่วมกับยา Phenylpronolamine (ยารักษาทางจิตเวช) ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยา Phenylpropanolamine เพิ่มมากขึ้นโดยจะพบอาการวิตกกังวล กระสับกระส่าย และยังสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะที่เรียกว่า Serotonin syndrome อีกด้วย
- การใช้ยาไซบูทรามีนร่วมกับยา Aspirin อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่าย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาไซบูทรามีนอย่างไร?
ควรเก็บยาไซบูทรามีนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ไซบูทรามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไซบูทรามีนมียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
MERIDIA (เมอริเดีย) | Abbott Laboratories |
บรรณานุกรม
- http://www.fda.gov/downloads/Drugs/DrugSafety/UCM222366.pdf [2016,Jan23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Sibutramine#Pharmacokinetics [2016,Jan23]
- http://www.drugs.com/dosage/sibutramine.html [2016,Jan23]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/sibutramine.html [2016,Jan23]