ไข้สมองอักเสบ (Infectious encephalitis)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 22 กันยายน 2564
- Tweet
- บทนำ
- ไข้สมองอักเสบคืออะไร?
- ไข้สมองอักเสบมีอาการผิดปกติอะไรบ้าง?
- สาเหตุของไข้สมองอักเสบเกิดจากอะไร?
- ใครมีโอกาสเป็นไข้สมองอักเสบบ่อยกว่าคนอื่นๆ?
- ควรพบแพทย์เมื่อใด?
- แพทย์วินิจฉัยโรคไข้สมองอักเสบได้อย่างไร?
- แพทย์จำเป็นต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอมอาร์ไอสมองหรือไม่?
- การรักษาไข้สมองอักเสบทำอย่างไร?
- ไข้สมองอักเสบรักษาหายหรือไม่ ผลการรักษาดีหรือไม่?
- ผลแทรกซ้อนระยะสั้นและระยะยาวคืออะไรบ้าง?
- การรักษาทางกายภาพบำบัดจำเป็นหรือไม่?
- การดูแลที่บ้านต้องทำอย่างไร?
- เมื่อใดควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- ไข้สมองอักเสบป้องกันได้หรือไม่?
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- สมองอักเสบ (Encephalitis)
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)
- การเจาะน้ำไขสันหลัง การเจาะหลัง (Lumbar puncture)
บทนำ
ผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ซึม สับสน และ/หรืออาจร่วมกับชัก เมื่อไปโรงพยาบาลแพทย์จะให้การตรวจรักษาอย่างรวดเร็วเพื่อพิสูจน์ว่ามีสาเหตุจากสมองอักเสบจากการติดเชื้อหรือไม่ และผมเชื่อว่าหลายคนเคยได้ยินมาว่า ควรพาลูกๆมาฉีดวัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ (Infectious encephali tis) วันนี้เรามารู้จักไข้สมองอักเสบให้ดีขึ้นเพื่อสุขภาพที่ดีของคนใกล้ตัวเรา
ไข้สมองอักเสบคืออะไร?
ไข้สมองอักเสบ คือ ภาวะอักเสบของเนื้อสมองที่เกิดจากโรคติดเชื้อไวรัสเป็นส่วนใหญ่ ผู้ป่วย จะมีอาการไข้ ปวดศีรษะร้ายแรง ซึม สับสน อาจชัก หรือมีปัญหาด้านความคิดความจำผิดปกติ บางรายอาจซึมจนหมดสติ โคม่า และ ตายได้
ไข้สมองอักเสบมีอาการผิดปกติอะไรบ้าง?
ไข้สมองอักเสบมีอาการผิดปกติทั้งจากระบบประสาทและระบบอื่นๆของร่างกายที่เป็นอาการ ทั่วๆไปได้แก่
1. อาการทั่วๆไป: คือ มีไข้ ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว ปวดข้อ อ่อนเพลีย คล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่
2. อาการทางระบบประสาท: คือ
- ระดับการรู้สึกตัวผิดปกติตั้งแต่ไม่รุนแรงคือ ง่วง ซึม สับสน จนกระทั่งรุนแรงคือ หมดสติ โคม่า ก็ได้
- ความคิด ความจำผิดปกติ คือ มีอาการความคิดผิดปกติ จำอะไรไม่ได้ หรือมีความคิดแปลกไปจากเดิม
- พฤติกรรมผิดปกติ คือ มีความประพฤติผิดปกติไปจากเดิมเช่น ก้าวร้าว
- ปวดหัว: อาการมักจะเริ่มจากปวดเล็กน้อยจนรุนแรงมากขึ้นจนทนไม่ได้
- การเคลื่อนไหวผิดปกติ ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของแขน-ขาตามปกติได้
- ชัก: มีทั้งชักแบบเฉพาะส่วนของร่างกาย ชักแบบเกร็งกระตุก และชักแบบหมดสติ
- อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยเฉพาะกล้ามเนื้อขาและแขน
- การพูดผิดปกติ พูดลำบาก พูดผิดความหมาย
- การมองเห็นผิดปกติ เห็นภาพไม่ชัดเจน เห็นภาพหลอน
- ความรู้สึกผิดปกติตามแขน-ขา-ลำตัว
- กรณีในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): อาจเริ่มจากการทานอาหารดูดนมน้อยลง กระหม่อมตึงมากขึ้น ชัก หมดสติ
ทั้งนี้ อาการต่างๆดังกล่าวอาจพบได้ทั้งแบบที่เป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็วเฉียบพลันภายใน 1 - 2 วัน หรือ เป็นอย่างช้าๆเป็นสัปดาห์หรือหลายสัปดาห์ก็ได้
สาเหตุของไข้สมองอักเสบเกิดจากอะไร?
สาเหตุของไข้สมองอักเสบมีได้หลายสาเหตุดังนี้เช่น
1. สมองติดเชื้อไวรัสที่พบบ่อยคือ Japanese B encephalitis, Herpes simplex encephalitis และไวรัสชนิดอื่นๆ รวมทั้งเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า
2. สมองติดเชื้อแบคทีเรีย
3. ภาวะสมองอักเสบภายหลังการติดเชื้อทางร่างกาย (Post-infectious encephalitis) ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ผิดปกติ
ใครมีโอกาสเป็นไข้สมองอักเสบบ่อยกว่าคนอื่นๆ?
ไข้สมองอักเสบเป็นโรคพบได้ในทุกอายุและทุกเพศ เป็นโรคที่พบได้เรื่อยๆไม่ถึงกับบ่อยมากนัก ทั้งนี้ผู้ที่มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดไข้สมองอักเสบได้แก่
1. กลุ่มอายุ: พบได้สูงกว่าในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ
2. เพศ: พบได้ทั้งผู้หญิงผู้ชายไม่แตกต่างกันถ้าเกิดจากการติดเชื้อ แต่ถ้าเกิดจากโรคทางภูมิ คุ้มกันต้านทานผิดปกติพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
3. โรคประจำตัว: พบได้สูงกรณีผู้ป่วยเป็นโรคติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคที่ต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันฯ เช่น โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี
4. ฤดูกาล/ช่วงเวลาต่างๆ: พบว่าแต่ละสาเหตุจะมีความสัมพันธ์กับช่วงเวลาเช่น เกิดจากสมองติดเชื้อไวรัสอาจพบโรคในช่วงฤดูหนาว ฤดูฝน เป็นต้น
5. พื้นที่: เช่น พบโรคได้สูงขึ้นในเขตที่มีการระบาดของโรค
6. อาชีพ: เช่น เลี้ยงหมูก็มีโอกาสเกิดโรคไข้สมองอักเสบชนิด Japanese B encephalitis (ย่อว่า JE/ โรคเจอี) เป็นต้น
ควรพบแพทย์เมื่อใด?
ผู้ที่มีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน เช่น ไข้ ร่วมกับปวดศีรษะร้ายแรง ซึม สับสน แขนขาอ่อนแรงหรือชัก แต่ถ้ามีอาการเพียงแค่ ไข้ ปวดเมื่อย ปวดหัวเพียงเล็กน้อย ก็ควรต้องสังเกตอาการให้ดี ถ้าเป็นเพียงแค่การทานยาลดไข้ ยาแก้ปวดแล้วดีขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ แต่ถ้าอาการนั้นไม่ตอบสนองต่อการทานยาคือมีอาการที่รุนแรงขึ้นหรือไม่หายก็ควรรีบพบแพทย์อย่างรวดเร็ว และที่อยากเน้นคือให้รีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ไม่แนะนำให้พบแพทย์ที่คลินิก
แพทย์วินิจฉัยโรคไข้สมองอักเสบได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคไข้สมองอักเสบได้จาก
- ข้อมูลจากผู้ป่วยและญาติว่ามีอาการผิดปกติข้างต้น (ดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’) หรือไม่
- การตรวจร่างกายอาจพบแขน-ขาอ่อนแรง สับสน ซึม หรือการเคลื่อนไหวผิดปกติ มีไข้ มีคอแข็งตึง (Stiffness of neck)
เมื่อแพทย์ให้การวินิจฉัยเบื้องต้นว่าเป็นไข้สมองอักเสบ
- ก็จะส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน)สมองหรือแม่เหล็กไฟฟ้า/เอมอาร์ไอสมอง เพื่อดูว่ามีความผิดปกติอื่นๆที่เป็นสาเหตุอธิบายอาการผิดปกติข้างต้นได้หรือไม่
- ถ้าไม่มีข้อห้ามในการเจาะหลัง/การเจาะน้ำไขสันหลังเพื่อตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (ซีเอสเอฟ/ CSF: cerebrospinal fluid)ก็จะเจาะหลัง จากนั้นแพทย์จะส่งตรวจ CSF เพื่อดูว่ามีความผิดปกติเข้าได้กับไข้สมองอักเสบหรือไม่ และมีการตรวจเชื้อว่าสาเหตุของไข้สมองอักเสบเกิดจากเชื้ออะไรหรือจากภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ
แพทย์จำเป็นต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอมอาร์ไอสมองหรือไม่?
การวินิจฉัยไข้สมองอักเสบ จำเป็นต้องส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ซีทีสแกนสมองและ/หรือเอมอาร์ไอสมองทุกราย ยกเว้นกรณีที่แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยสาเหตุของความผิดปกติข้างต้นได้โดยไม่ได้เกิดจากไข้สมองอักเสบแล้วเช่น ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis หรือ Septic encephalopathy) ก็สามารถให้การรักษาได้โดยไม่ต้องส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือเอมอาร์ไอสมอง
การรักษาไข้สมองอักเสบทำอย่างไร?
การรักษาไข้สมองอักเสบขึ้นกับสาเหตุเป็นหลัก:
- ถ้ามียาที่รักษาเฉพาะก็ให้ยา เช่น ไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัส Herpes simplex encephalitis หรือเชื้อแบคทีเรีย
- กรณีที่เป็นจากภูมิคุ้มกันฯผิดปกติก็ให้การรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกันหรือยาไอวีไอจี/ยาภูมิคุ้มกันฯ (intravenous immunoglo bulin: IVIG)
ทั้งนี้จะร่วมกับการรักษาตามอาการ เช่น
- ยากันชัก
- ยาลดไข้
- และการป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ปอดติดเชื้อ, โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ, แผลกดทับ (เช่น การใช้กายภาพบำบัด การช่วยให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหว เข้าห้องน้ำได้เองไม่ต้องใช้สายสวนปัสสาวะ)
นอกจากนี้ผู้ป่วยมักมีปัญหาแทรกซ้อนในระยะยาวจากภาวะไข้สมองอักเสบคือ ปัญหาด้านพฤติกรรม ความจำ การเคลื่อนไหว อาการชักที่รักษายาก ซึ่งจำเป็นต้องให้การฟื้นฟูสภาพร่างกายอย่างต่อเนื่อง และให้การรักษาด้วยยา และสหสาขาวิชาชีพ (เช่น กายภาพบำบัด) อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จะอยู่ในการแนะนำดูแลจาก แพทย์ พยาบาล และนักกายภาพบำบัด
ไข้สมองอักเสบรักษาหายหรือไม่ ผลการรักษาดีหรือไม่?
การรักษาไข้สมองอักเสบได้ผลดีหรือไม่หรือการพยากรณ์โรคจะขึ้นกับ สาเหตุ, ความรุนแรงของอาการ, และสภาพร่างกายของผู้ป่วยที่เริ่มมารักษา, รวมทั้งมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงแค่ไหน, อย่างไรก็ตามภาวะไข้สมองอักเสบนั้นเป็นภาวะที่ตอบสนองต่อการรักษาดีในผู้ป่วยที่มารับการรักษา รวดเร็วและได้รับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่ต้น
ผลแทรกซ้อนระยะสั้นและระยะยาวคืออะไรบ้าง?
ผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงระยะสั้น (อาการมักหายได้ภายในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน) และระยะยาว (อาการมักคงอยู่ตลอดไป) ของโรคไข้สมองอักเสบได้แก่
ก. กรณีที่ผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาดีและอาการเริ่มต้นไม่มาก มารับการรักษาตั้งแต่ต้น จะมีภาวะแทรกซ้อน/ผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงไม่มาก โดยอาจเกิดในระยะสั้นๆหรือในระยะยาวตลอดไปก็ได้เช่น อาจมีเพียงความจำที่บกพร่องเพียงเล็กน้อย
ข. กรณีตอบสนองต่อการรักษาไม่ดีหรือมารักษาล่าช้า ผู้ป่วยจะมีภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง ตลอดไปเช่น ภาวะชักที่รักษายาก แขนขาอ่อนแรง พฤติกรรมผิดปกติ บุคลิกภาพผิดปกติ
ค. กรณีที่อาการรุนแรงที่ผู้ป่วยนอนติดเตียงก็จะมีภาวะแทรกซ้อนมากมายเช่น แผลกดทับ ปอดติดเชื้อ/ปอดอักเสบเป็นๆหายๆ ติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะเป็นๆหายๆ ข้อยึดติด กล้ามเนื้อเกร็งเป็นตะคริวเสมอ เป็นต้น
ทั้งนี้ กรณีข้อ ข และ ค ผู้ป่วยอาจกลายเป็นผู้พิการไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ต้องมีผู้ช่วยดูแลตลอดไป
การรักษาทางกายภาพบำบัดจำเป็นหรือไม่?
การรักษาโรคไข้สมองอักเสบ นอกจากการรักษาในภาวะเฉียบพลันในช่วงแรกของการนอนรักษาในโรงพยาบาลที่เป็นการรักษาทางยาร่วมกับการรักษาตามอาการ/การรักษาทางอายุรกรรมทั่วไปแล้ว การทำกายภาพบำบัดในผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อติด จำเป็น ต้องทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นข้างต้น ในหัวข้อ ผลแทรกซ้อน
การดูแลที่บ้านต้องทำอย่างไร?
ในผู้ป่วยโรคไข้สมองอักเสบ เมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว การดูแลตนเองต่อที่บ้าน:
- ในกรณีผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง ผู้ดูแลผู้ป่วยเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะการดูแลระยะยาวนั้นมีวัตถุประสงค์หลักคือ การฟื้นฟูสภาพร่างกายผู้ป่วยให้กลับมาช่วยตนเองได้ตามควร และการป้องกันไม่ให้มีภาวะแทรกซ้อน (ดังกล่าวในหัวข้อ ผลแทรกซ้อน) ดังนั้นผู้ดูแลต้องมีประ สบการณ์การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้อย่างเหมาะสม ซึ่งผู้ดูแลจะต้องได้รับการสอนและติดต่อกับทีมสหสาขาวิชาชีพ (แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด อาสาสมัคร เป็นต้น) ตลอด ไป
เมื่อใดควรพบแพทย์ก่อนนัด?
ผู้ป่วยโรคไข้สมองอักเสบควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ และควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- ผู้ป่วยมีอาการต่างๆทรุดลงเช่น ชักบ่อยมากขึ้น ซึมลง หมดสติ ไข้ขึ้นสูง
- ทานยาแล้วสงสัยแพ้ยา
- กังวลในอาการ
ไข้สมองอักเสบป้องกันได้หรือไม่?
ไข้สมองอักเสบสามารถป้องกันได้ในบางกรณี เช่น
- การได้รับวัคซีน (เป็นวัคซีนทางเลือกที่ต้องปรึกษาแพทย์เป็นกรณีไป) เพื่อป้องกันไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัส Japanese B encephalitis (JE)/ไข้สมองอักเสบเจอี
- การดูแลตนเองให้สุขภาพแข็งแรงป้องกันการติดเชื้อต่างๆได้แก่ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ไม่ควรเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคต่างๆ ถ้าจำเป็นก็ต้องหาวิธีป้องกันที่เหมาะสม ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขและของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง