ไข้ชัก (Febrile seizure)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคไข้ชัก (Febrile seizure หรือ Febrile convulsion) หมายถึง การชักที่พบร่วมกับไข้สูงมากสูงกว่า 38.4 องศาเซลเซียส โดยไม่มีการติดเชื้อในระบบประสาทหรือความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย และไม่เคยมีประวัติชักโดยไม่มีไข้ร่วมด้วยมาก่อน พบได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 3 ปี ในเด็กที่อายุมากกว่า 7 ปีแล้ว พบได้น้อยมาก

โรคไข้ชักเกิดจากอะไร ?

สาเหตุที่แท้จริงของการชักในเด็กที่มีไข้สูงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม เพราะมักมีประวัติโรคไข้ชักตอนเป็นเด็กของคนในครอบครัวร่วมด้วย และสาเหตุของไข้มัก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสของทางเดินหายใจส่วนบน คือ โพรงจมูกและลำคอ (เช่น โรคไข้หวัดใหญ่) เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้อาจเกิดจากโรคหัดกุหลาบ (Roseola, โรคไข้ขึ้นผื่นชนิดหนึ่งในเด็กเล็ก โดยเกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์พี/Herpes) และจากหูชั้นกลางอักเสบติดเชื้อ

โรคไข้ชักมีอาการอย่างไร ?

ส่วนใหญ่ของโรคไข้ชัก มักมีอาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวภายใน 24 ชั่วโมงหลังมีไข้สูง ส่วนน้อยที่มีอาการชักเกิดก่อนการมีไข้หรือหลังจากมีไข้แล้ว 24 ชั่วโมง การชักแต่ละครั้งมักเป็นอยู่ไม่กี่วินาที และชักเพียงครั้งเดียวในการเป็นไข้ครั้งนั้น นอกจากนั้น หลังชักจะไม่มีอาการ แขนขาอ่อนแรงตามมา

แพทย์ทราบได้อย่างไรว่าเด็กเป็นโรคไข้ชัก ?

แพทย์วินิจฉัยโรคไข้ชักได้จาก การสอบถามประวัติอาการเพื่อให้ทราบถึงลักษณะอาการชักและสาเหตุของไข้ การตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยเฉพาะระบบประสาทเพื่อแยกจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคไข้สมองอักเสบ (โรคสมองอักเสบจากติดเชื้อ) และโรคทางสมองอื่นๆ ในบางรายอาจต้องมีการตรวจเลือดและการตรวจปัสสาวะเพื่อหาสาเหตุของการติดเชื้อ และตรวจ ระดับเกลือแร่ในเลือด

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การพิจารณาเจาะหลังเพื่อนำน้ำไขสันหลังออกมาตรวจ ซึ่งจะตรวจเมื่อแพทย์สงสัยหรือตรวจพบการติดเชื้อในสมองและระบบประสาทร่วมด้วย แต่ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี แม้ตรวจไม่พบอาการของการติดเชื้อในสมองและในระบบประสาท แพทย์ก็มักพิจารณาตรวจน้ำไขสันหลังทุกราย เนื่องจากอาจตรวจด้วยวิธีอื่นๆไม่พบเชื้อ แม้มีโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือโรคไข้สมองอักเสบในเด็กกลุ่มอายุดังกล่าว

นอกจากนี้ ในเด็กที่มีเป็นโรคไข้ชักชนิดซับซ้อน เช่น มีการชักเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย มีแขนหรือขาอ่อนแรง หรือง่วงซึมเป็นเวลานานหลังชัก ชักนานกว่า 15 นาที หรือชักหลายครั้งในการป่วยเป็นไข้ครั้งหนึ่ง ก็ควรได้รับการตรวจน้ำไขสันหลังเช่นกัน

การดูแลรักษาโรคไข้ชักในเด็กทำได้อย่างไร?

ในขณะเด็กชัก ควรระวังเรื่อง การหายใจ การสำลัก และอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น เช่น การตกเตียง โดยควรจับเด็กให้นอนตะแคง เพื่อเปิดทางเดินหายใจ ป้องกันการสำลัก และระวังไม่ให้ตกเตียง ไม่ต้องพยายามจับหรือกอดรัดเด็กให้หยุดชัก หากเด็กกัดฟัน ไม่ควรพยายามงัดปากเด็กเพื่อเอาสิ่งของใส่ในปาก เนื่องจากทำให้เยื่อบุช่องปากเด็กฉีดขาดหรือฟันหักและหลุดเข้าอุดกั้นทางเดินหายใจ เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งโอกาสที่เด็กจะกัดลิ้นตัวเองมีน้อย ในระหว่างนี้ควรเช็ดตัวลดไข้เด็กด้วยน้ำอุ่น (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วิธีเช็ดตัวเด็กลดไข้) หากเด็กรู้ตัว ให้รับประทานยาลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ไม่ควรกินยาแอสไพริน เพราะเด็กอาจแพ้ยาได้ (การแพ้ยาแอสไพริน) จากนั้นเมื่อเด็กหยุดชัก รีบนำเด็กส่งโรงพยาบาล

ที่โรงพยาบาล แพทย์จะดูแลเรื่องการหายใจ ความดันโลหิต และหากเด็กยังชักอยู่ แพทย์จะให้ยาเพื่อหยุดอาการชักทางหลอดเลือดดำหรือทางทวารหนัก และลดไข้โดยการเช็ดตัวเด็ก และให้ยาลดไข้

ผลแทรกซ้อนของโรคไข้ชักมีอะไรบ้าง?

โรคไข้ชักมีภาวะแทรกซ้อนน้อยมาก ส่วนใหญ่ที่ควรระวังจะเป็นเรื่องการหายใจ การสำลัก และอุบัติเหตุ เช่น การตกเตียง ไม่พบการเสียชีวิตจากโรคไข้ชัก และไม่พบความพิการเกิดขึ้นจากโรคไข้ชักในเด็กที่ไม่มีความพิการมาก่อน รวมทั้งไม่มีผลกระทบต่อผลการเรียน และสติปัญญาในอนาคต

มีโอกาสชักซ้ำเมื่อมีไข้ครั้งต่อไปหรือไม่? ป้องกันการชักซ้ำได้อย่างไร?

โอกาสชักซ้ำในการมีไข้สูงครั้งต่อไปพบได้ประมาณ 31% ไม่มีประโยชน์ในการรับประทานยากันชักต่อเนื่องทุกวันเพื่อป้องกันการเกิดโรคไข้ชักซ้ำ แต่การรับประทานยาไดอะซีแพม (Diazepam, ไม่ควรซื้อยากินเอง ควรเป็นการแนะนำจากแพทย์เท่านั้น) ในขนาด 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเด็ก 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งให้รับประทานทุก 8 ชั่วโมงขณะที่มีไข้สูง โดยรับประทานนานประ มาณ 2 - 3 วัน สามารถลดโอกาสเกิดชักซ้ำได้เหลือประมาณ 22% แต่ยานี้อาจทำให้เด็กง่วงซึม เดินเซได้ ดังนั้นแพทย์จะพิจารณาการให้ยานี้ร่วมกันกับผู้ปกครอง

อย่างไรก็ตาม แม้ยังไม่มีความชัดเจนของประโยชน์ของยากันชักในการป้องกันโรคไข้ชักซ้ำ แต่การลดไข้เด็กด้วยการรับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) และเช็ดตัวลดไข้เด็กด้วยน้ำอุ่น จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคไข้ชักได้

มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคลมชักหรือโรคลมบ้าหมูต่อไปหรือไม่?

เด็กที่เป็นโรคไข้ชักมีโอกาสเป็นโรคลมชักหรือโรคลมบ้าหมูสูงกว่าเด็กปกติประมาณ 2 เท่า โดยปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคลมชักตามมาคือ เด็กที่มีพัฒนาการช้า หรือพบความผิดปกติของระบบประสาทร่วมด้วย มีประวัติโรคลมชักของคนในครอบครัว และการเป็นโรคไข้ชักชนิดซับซ้อน

ป้องกันการเกิดโรคไข้ชักได้ไหม?

โรคไข้ชักนี้เกิดเมื่อเด็กมีไข้สูงเท่านั้น แต่ไม่ได้เกิดในเด็กที่มีไข้สูงทุกคน และเนื่องจากในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ จึงยังไม่มีวิธีป้องกันการชักจากภาวะไข้สูงที่ชัดเจน แต่การดูแลสุขอนามัยที่ดี (การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน/สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ และการรีบรับประทานยาลดไข้ร่วมกับเช็ดตัวลดไข้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บท ความเรื่อง วิธีเช็ดตัวเด็กลดไข้) เมื่อเด็กมีไข้สูง น่าจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้ชักได้

บรรณานุกรม

1. สมพนธ์ ทัศนิยม. โรคไข้ชัก. ใน: สุขชาติ เกิดผล, อวยพร ปะนะมณฑา, จามรี ธีรตกุลพิศาล, ชาญชัย พานทองวิริยะกุล, ณรงค์ เอื้อวิชญาแพทย์, จรรยา จิระประดิษฐา, บรรณาธิการ. วิชากุมารเวชศาสตร์ เล่ม 2. ขอนแก่น: แอนนาออฟเซต; 2552. หน้า 349-55.

2. American Academy of Pediatrics. Practice parameter: long term treatment of the child with a simple febrile seizure. Pediatrics 1999;103:1307-9.

3. Commission on epidemiology and prognosis, international league against epilepsy. Guidelines for epidemiology studies on epilepsy. Epilepsia 1993;34:592-6.