ไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal disease)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคไข้กาฬหลังแอ่น หรือ ไข้กาฬนกนางแอ่น หรือ โรคติดเชื้อเมนิงโกค็อกคัส (Meningococcal disease) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ Neisseria meningitidis ซึ่งมีอยู่หลายชนิดย่อย (Serogroup) ผู้ป่วยบางคนที่ติดเชื้อชนิดนี้จะมีอาการที่รุนแรง และเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ที่มาของชื่อโรคนี้เรียกตามลักษณะของโรค คือผู้ป่วยจะมีไข้ มีผื่นเป็นจุดสีแดง และม่วงคล้ำ จึงเรียกว่า “ไข้กาฬ” โดยกาฬแปลว่ารอยดำหรือแดง ในผู้ป่วยบางคนจะมีอาการคอแข็ง คอแอ่น หลังแอ่น จึงเรียกชื่อโรคตอนท้ายว่า “หลังแอ่น” ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น “ไข้กาฬนกนางแอ่น” โดยที่ไม่ได้เกี่ยวกับการติดเชื้อจากนกนางแอ่นแต่อย่างใด โรคนี้มียาปฏิชีวนะสำหรับรักษา และมีวัคซีนสำหรับป้องกัน

โรคนี้พบได้ทั่วโลก มีผู้ป่วยประมาณ 300,000-500,000 คนต่อปี โดยอาจจะเป็นการเกิดขึ้นประปรายตลอดทั้งปี (Sporadic case) หรืออาจมีการระบาดเกิดขึ้นเป็นช่วงๆเป็นประจำในบางพื้นที่ (Endemic case) หรือเกิดการระบาดเป็นพื้นที่กว้างขวางก็พบได้ (Epidemic case) โดยในแต่ละพื้นที่ที่เกิดการระบาดจะเกิดจากเชื้อชนิดย่อยที่แตกต่างกันไป เช่น ในประ เทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา มีการระบาดของเชื้อชนิดย่อย C เกิดขึ้นเป็นช่วงๆในกลุ่มนัก เรียนและนักศึกษา หรือในช่วงปี พ.ศ. 2543-2545 พบการระบาดของเชื้อชนิดย่อย W135 ในชาวมุสลิมที่เดินทางมาประกอบพิธีฮัจจ์ ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น

แต่พื้นที่ที่มีอุบัติการณ์ของโรคสูงติดต่อกันหลายปี คือประเทศในทวีปแอฟริกาแถบที่เรียกว่า Sub-Saharan Africa ซึ่งมีทั้งหมด 21 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐชาด (Chad), ไน เจอร์ (Niger), ไนจีเรีย (Nigeria), เซเนกัล (Senegal), เอธิโอเปีย (Ethiopia), ซูดาน (Sudan ) เป็นต้น รวมเรียกพื้นที่เหล่านี้ว่าเป็นเขต African meningitis belt ซึ่งเชื้อที่เป็นสาเหตุหลักคือ ชนิดย่อย A เช่น ในปี พ.ศ. 2552 เฉพาะในสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียพบผู้ป่วยถึง 17,000 กว่าราย เสียชีวิตประมาณ 900 กว่าราย ส่วนการระบาดครั้งใหญ่สุดในเขตทวีปแอฟริกานี้เกิด ขึ้นในปี พ.ศ. 2539-2540 โดยพบผู้ป่วยมากถึง 300,000 กว่าราย และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 30,000 ราย

สำหรับในประเทศไทย พบโรคนี้ได้ตลอดปี ไม่ขึ้นกับฤดูกาล และพบได้ในทุกภาคของประเทศ ในปี พ.ศ. 2555 พบอัตราป่วยโรคนี้ 0.01 รายต่อประชากร 1 แสนคน มีอัตราตายร้อยละประมาณ 37(37%)

อะไรคือสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคกาฬหลังแอ่น?

ไข้กาฬหลังแอ่น

โรคกาฬหลังแอ่นเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ Neisseria meningitidis ซึ่งจะแบ่งออกเป็นชนิดย่อย (Serogroup) ได้อีกหลายสิบชนิดตามองค์ประกอบของแคปซูล(Capsule)/ ถุงหุ้ม ที่หุ้มเซลล์แบคทีเรีย ได้แก่ ชนิดย่อย A, B, C, D, E29, H, I, K, L, W135, X, Y, Z โดยที่ชนิดย่อย A, B, C, Y, และ W135 เป็นชนิดหลักที่ก่อให้เกิดโรค

ประมาณ 10% ของคนทั่วไป จะตรวจพบเชื้อชนิดนี้เจริญอยู่ที่หลังโพรงจมูก โดยไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ เรียกว่าเป็นพาหะโรค หากเป็นสถานที่ที่มีคนอยู่กันอย่างแออัด เช่น ค่ายทหาร หอพัก อาจพบผู้ที่เป็นพาหะโรคของเชื้อแบคทีเรียนี้ได้ถึง 30% แต่หากเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคอย่างกว้างขวาง อาจพบผู้ที่เป็นพาหะได้ถึง 90%

การติดเชื้อจะเกิดเฉพาะจากคนสู่คน ไม่มีสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคหรือเป็นแหล่งรังโรค การติดต่อเกิดโดยการหายใจเอาเชื้อแบคทีเรียที่กระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย หรือของผู้ที่เป็นพาหะ หรือการสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งเหล่านี้แล้วนำมาสัมผัสกับเยื่อบุจมูก ตา หรือปากของเรา

ผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วย หรืออาศัยอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่นที่เกิดภาวะติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด จะมีโอกาสติดเชื้อจากผู้ป่วยมากกว่า 400 เท่าเมื่อเทียบกับคนทั่วไปๆที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย

โรคนี้พบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่มักพบในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการระบาดในพื้นที่ ซึ่งจะพบสูงสุดในช่วงอายุ 6-36 เดือน และในช่วงวัยรุ่น บุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและสถานที่ที่มักมีการระบาด คือ ที่มีผู้คนอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น เช่น ค่ายทหาร หอพัก สถานเลี้ยงเด็ก ชุมชนแออัดต่างๆ

มีวิธีก่อโรคของเชื้อไข้กาฬหลังแอ่นอย่างไร?

เมื่อรับเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคไข้กาฬหลังแอ่นเข้าสู่ร่างกายแล้ว เชื้อจะเจริญเติบโตอยู่ที่เซลล์เยื่อบุของทางเดินหายใจส่วนบน แล้วลุกลามลงไปยังชั้นใต้เยื่อบุเซลล์เหล่านั้น ซึ่งเชื้อแบคทีเรียก็จะลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดได้ต่อไป ในคนที่เป็นพาหะโรค เชื้อจะอาศัยอยู่เฉพาะบนเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบนนี้ โดยไม่ได้ลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด

ผู้ที่ติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดแล้วจะเกิดอาการได้ 3 รูปแบบ คือ

1. กรณีที่เชื้อแบ่งตัวอย่างช้าๆในกระแสเลือด เชื้อจะเดินทางเข้าไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ที่พบบ่อยคือ เยื่อหุ้มสมอง ที่พบได้เป็นส่วนน้อย คือ ข้อต่อต่างๆ และเยื่อหุ้มหัวใจ และทำให้เกิดรอยโรคที่บริเวณนั้นๆ เช่น เกิดเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) โดยที่ไม่ทำให้เกิดอา การของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)

2. กรณีที่เชื้อเกิดการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วในกระแสเลือด ผู้ป่วยจะเกิดอาการของภา วะติดเชื้อในกระแสเลือด (Meningococcemia) และเชื้ออาจเข้าไปอยู่ที่เยื่อหุ้มสมองด้วย ทำให้เกิดอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย

3. กรณีที่เชื้อมีการแบ่งตัวในกระแสเลือดอย่างรวดเร็วมาก ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดที่รุนแรง (Fulminant meningococcemia) ก่อนที่เชื้อจะสามารถเดินทางเข้าไปสู่เยื่อหุ้มสมองได้ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จึงไม่มีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบเกิดขึ้นร่วมด้วย

อนึ่ง การที่ผู้ติดเชื้อคนใดจะมีอาการอยู่ในกลุ่มใดนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดย่อยของเชื้อและปฏิ กิริยาของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายที่มีต่อเชื้อในแต่ละบุคคล (ซึ่งเกิดจากพันธุกรรมที่แตกต่างกันในแต่ละคน) จึงไม่อาจระบุได้ตรงไปตรงมาว่า เมื่อบุคคลใดติดเชื้อแล้วจะมีอาการแบบไหน หรืออาจจะเป็นแค่พาหะโรคของเชื้อก็ได้

ความรุนแรงของเชื้อชนิดนี้เกิดขึ้นจากองค์ประกอบหลายๆอย่างของเชื้อ ได้แก่ แคป ซูลที่หุ้มเซลล์ ซึ่งจะช่วยป้องกันการถูกจับกินโดยเม็ดเลือดขาวของร่างกายได้ นอกจากนี้คือ องค์ประกอบของผนังเซลล์ที่เรียกว่า Lipooligosaccharide ซึ่งถือเป็นสารพิษชนิดหนึ่งที่เรียก ว่า Endotoxin โดย Lipooligosaccharide นี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานของร่าง กายหลั่งสารเคมีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบมากมาย และทำให้เกิดอาการต่างๆ ตามมานั่น เอง โดยในผู้ป่วยที่มีอาการของการติดเชื้อในกระแสเลือดที่รุนแรง (Fulminant meningo coccemia) พบปริมาณสารพิษชนิดนี้ในกระแสเลือดมากกว่าสาเหตุจากแบคทีเรียชนิดอื่นๆ ตั้ง แต่ 10 ถึง 1,000 เท่า

สารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบเหล่านี้ ยังไปกระตุ้นระบบการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดเล็กๆทั่วร่างกาย (Disseminated intravascular coagu lation) และตามมาด้วยการมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เลือดไม่แข็งตัว เกิดภาวะเลือดออกง่าย และทำให้มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง หรือเลือดออกที่อวัยวะภายในได้

โรคไข้กาฬหลังแอ่นมีอาการอย่างไร?

ระยะฟักตัวของโรคกาฬหลังแอ่นก่อนปรากฏอาการคือ 2-10 วัน หรือโดยเฉลี่ย 3-4 วัน ผู้ที่ติดเชื้อประมาณ 1 ใน 3 จะเกิดเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยไม่มีอาการของการติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยบางส่วนจะเกิดอาการของการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดอย่างเดียว หรืออาจเกิดทั้ง 2 อย่างร่วมกัน และมีผู้ป่วยประมาณ 15% จะเกิดอาการของการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดชนิดที่มีอาการรุนแรง

1. ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Meningococcemia) ในช่วงแรก ผู้ป่วยจะแสดงอา การของการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนซึ่งไม่จำเพาะ ได้แก่ ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ต่อมาจึงจะมีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย โดยอาการจะเป็นอยู่ 1-2 วัน แล้วตามด้วยการเกิดผื่นที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นลักษณะที่ค่อนข้างจำเพาะของโรคนี้ คือเริ่มต้นจะเป็นผื่นแบบแบนราบสีแดงจางๆ ต่อมาจะเกิดจุดเลือดออกเล็กๆ สีแดงเข้ม ขนาด 1-2 มิลลิเมตร ในบริเวณผื่นเหล่านี้ ซึ่งเรียกว่า Petechiae โดยมักพบตามลำตัว ขา และบริเวณที่มีแรงกดบ่อยๆ เช่น ขอบกางเกง ขอบถุงเท้า บริเวณอื่นๆที่จะพบได้คือ ใบหน้า มือ แขน เยื่อบุตา เยื่อบุช่องปาก จุดเลือดออกเหล่านี้บางครั้งอาจกลายเป็นตุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่มีเลือดออกเรียกว่า Hemor rhagic bullae ซึ่งอาจเกิดการเน่าและกลายเป็นเนื้อตายได้

หากผู้ป่วยเกิดเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย ก็จะมีอาการปวดต้นคอ คอแข็ง หลังแข็ง และซึมร่วมด้วย

2. ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดชนิดที่มีอาการรุนแรง (Fulminant meningococce mia) อาการจะคล้ายกับผู้ป่วยกลุ่มข้างต้น แต่จะรุนแรงกว่า คือจะมีไข้สูง อ่อนเพลียมาก จุดเลือดออกจะขยายเป็นจ้ำเลือดขนาดใหญ่มีสีแดง หรือม่วงคล้ำ เรียกว่า Purpura และจะเกิดภา วะความดันโลหิตต่ำจนช็อกได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง เกิดการล้มเหลวของการทำงานของอวัยวะต่างๆ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที ก็จะเสียชีวิตได้ภายใน 24-48 ชั่วโมง

การตรวจศพในผู้ป่วยที่เสียชีวิต(ตาย)ในกลุ่มนี้ ทุกรายจะพบเลือดออกในต่อมหมวกไต ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะช็อก เนื่องจากต่อมหมวกไตทำหน้าที่ผลิตฮอร์ โมนที่ควบคุมความดันโลหิต เรียกภาวะที่มีเลือดออกในต่อมหมวกไตและทำให้เกิดภาวะช็อกนี้ว่า Waterhouse-Friderichsen syndrome

ผู้ป่วยในกลุ่มนี้โดยมากแล้วจะไม่เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย

3. เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบโดยไม่เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการที่ไม่แตกต่างจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อชนิดอื่นๆ ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดต้นคอ คอแข็ง หลังแข็ง อาจมีหลังแอ่น และจะซึมลง อาการแสดงของผื่นที่เป็นลักษณะเฉพาะของการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดจะไม่ปรากฏในผู้ป่วยกลุ่มนี้

อนึ่ง มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่ติดเชื้อแล้วเกิดปอดอักเสบ หรือข้ออักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอัก เสบ โดยที่ไม่เกิดภาวะติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดเช่นกัน

แพทย์วินิจฉัยโรคไข้กาฬหลังแอ่นอย่างไร?

ในการวินิจฉัยโรคกาฬหลังแอ่น สิ่งสำคัญคือ จะต้องให้การวินิจฉัยในเบื้องต้นในผู้ป่วยที่มีอาการของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดว่า น่าจะเกิดจากเชื้อไข้กาฬหลังแอ่นให้ได้รวดเร็วที่สุด และรีบให้การรักษาไปก่อนในระหว่างที่รอผลการยืนยันการวินิจฉัยจากการตรวจทางห้องปฏิบัติ การ โดยในเบื้องต้นเมื่อตรวจพบว่าผู้ป่วยมีไข้และมีผื่นที่เป็นจุดเลือดออกตามผิวหนัง จะต้องสงสัยว่าอาจป่วยเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่นไว้เป็นลำดับต้นๆ ซึ่งแพทย์อาจทำการเจาะน้ำไขสันหลังแล้วนำไปย้อมสี (Gram stain) ตรวจดูว่ามีเชื้อแบคทีเรียหรือไม่ เพื่อเป็นการยืนยันการวินิจ ฉัยในเบื้องต้นได้

สำหรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ยืนยันการวินิจฉัย ได้แก่ การเพาะเชื้อหรือใช้การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อโดยวิธีที่เรียกว่า PCR (Polymerase chain reaction) จากเลือด หรือน้ำไขสันหลัง หรืออาจตัดชิ้นเนื้อผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นไปเพาะเชื้อก็ได้

รักษาโรคไข้กาฬหลังแอ่นอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคไข้กาฬหลังแอ่น คือ ผู้ป่วยจะถูกรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล และแยกห้องเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น

การรักษาหลักคือการให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย โดยในเบื้องต้น หากยังไม่ได้รับการพิสูจน์ที่แน่นอนจากทางห้องปฏิบัติการว่าเกิดจากเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น แพทย์จะให้ยาปฏิ ชีวนะชนิดที่ครอบคลุมการฆ่าเชื้อได้หลายชนิด (Broad-spectrum antibiotics) เนื่องจากการเป็นโรคติดเชื้อชนิดอื่นๆบางโรค ผู้ป่วยจะมีไข้และผื่นที่เป็นจุดเลือดออกคล้ายกับผู้ป่วยไข้กาฬหลังแอ่นได้ ยาที่ใช้ เช่น ยาในกลุ่ม Cephalosporin รุ่นที่ 3 หรือใช้ยา Meropenem เป็นต้น ในกรณีที่ทราบผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการว่าเกิดจากเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น แพทย์จะเลือก ใช้ยาปฏิชีวนะที่ตรงกับเชื้อ เช่น ยา Penicillin G หรือยา Chloramphenicol เป็นต้น

ส่วนการรักษาที่จะทำควบคู่กันไป คือการรักษาประคับประคอง ได้แก่ การให้ยาลดไข้ การให้สารน้ำ ในผู้ป่วยที่อาการรุนแรงจนเกิดภาวะช็อก ต้องให้สารน้ำปริมาณมาก ให้ยากระตุ้นหลอดเลือดและการบีบตัวของหัวใจหากผู้ป่วยมีเลือดออกที่ต่อมหมวกไต ซึ่งจะทราบได้จากการมีภาวะช็อกยาวนาน และแก้ไขด้วยวิธีต่างๆดังข้างต้นไม่ได้ผล รวมทั้งตรวจเลือดพบปริมาณฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมหมวกไตลดลง ซึ่งการรักษาก็จะต้องให้ฮอร์โมนดังกล่าว คือฮอร์โมน Glucocorticoid สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดไม่แข็งตัว เกิดเลือดออก ก็ต้องให้สารที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด

โรคไข้กาฬหลังแอ่นมีผลข้างเคียงจากโรคและมีความรุนแรงอย่างไร?

ผลข้างเคียงและความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของโรคไข้กาฬหลังแอ่น คือ

1. ผู้ป่วยที่มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อในกระแสเลือด มีอัตราตายประมาณ 2-10%

2. ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดชนิดรุนแรงมีอัตราตายสูงถึง 70-80% แต่หากการรักษาเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อัตราตายจะอยู่ที่ประมาณ 40%

3. ผู้ป่วยที่เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หากรอดชีวิตอาจเกิดอัมพาตของเส้นประ สาทจากสมอง (Cranial nerve) หรือเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตครึ่งซีกของร่างกายได้ อาจเกิดสมองเสื่อม ปัญญาอ่อน หรือหูหนวกได้

4. ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดชนิดรุนแรง ตามปลายนิ้วมือ ปลายนิ้ว เท้าอาจเกิดการเน่าตายเนื่องจากภาวะช็อกทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายไม่พอ หรือเกิดจากลิ่มเลือดไปอุดตัน

เมื่อมีอาการควรดูแลตนเองอย่างไร? ป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นได้อย่างไร?

การดูแลตนเองและการป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น คือ

1. หากมีบุคคลได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียว กัน รวมทั้งผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น ผู้ที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็ก ควรกินยาปฏิชีวนะสำหรับป้องกันการติดเชื้อ เช่น ยา Ofloxacin, Ciprofloxacin, Azithromycin โดยกิน 1 ครั้ง หรือ กินยา Rifampin 2 วัน หรือใช้การฉีดยา Ceftriaxone 1 ครั้ง ทั้งนี้โดยมีแพทย์เป็นผู้แนะนำ ไม่ควรซื้อยากินเอง

2. หากในพื้นที่ไหนมีรายงานพบผู้ป่วยไข้กาฬหลังแอ่นมากกว่า 3 คนขึ้นไปในช่วง เวลาไม่เกิน 3 เดือนและมีอัตราผู้ป่วยมากกว่า 10 คนต่อประชากร 100,000 คน จะถือว่าเกิดการระบาดของโรคขึ้น ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นควรได้รับวัคซีนหรือยาปฏิชีวนะสำหรับป้องกัน ตามคำแนะนำของแพทย์

3. สำหรับบุคคลทั่วไปในสถานการณ์ปกติ การป้องกันการติดเชื้อและเป็นโรค อาศัยหลักทั่วๆไปในการป้องกันการติดเชื้อโรคที่มากับทางเดินหายใจ ได้แก่ หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่แออัด ผู้คนหนาแน่น อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หากจำเป็นต้องเข้าไป ควรสวมหน้ากากอนา มัย ป้องกันตนเองจากการสัมผัสกับละอองน้ำมูก น้ำลาย จากผู้อื่น ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร หรือปรุงอาหาร รักษาสุขภาพให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกายสม่ำ เสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น

วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น

เรื่องเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่น คือ

1. วัคซีนป้องกันการติดเชื้อและเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น(วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น)มีใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2517 แต่เป็นวัคซีนที่สามารถป้องกันได้เพียงชนิดย่อยเดียว ต่อมาจึงได้คิดค้นวัคซีนที่ป้องกันได้ถึง 4 ชนิดย่อยใน 1 เข็มคือ ชนิดย่อย A, C, Y, และ W135 ยกเว้นแต่ชนิดย่อย B ที่ปัจจุบันยังไม่สามารถคิดค้นวัคซีนที่ป้องกันได้

2. บุคคลที่แนะนำให้ฉีดวัคซีน ได้แก่ ผู้ที่ถูกตัดม้าม หรือ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องชนิดที่เรียกว่า Complement component deficiency เพราะคนเหล่านี้เมื่อติดเชื้อไข้กาฬหลังแอ่นจะมีโอกาสเป็นแบบติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดชนิดที่รุนแรงได้มากกว่าคนปกติทั่ว ไป สำหรับกรณีอื่นๆได้แก่ ผู้ที่ทำงานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น ผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศในทวีปแอฟริกา บริเวณที่มีการระบาดของเชื้อไข้กาฬหลังแอ่นเป็นประ จำ ซึ่งคือประเทศในแถบที่เรียกว่า Sub-Saharan Africa ดังได้กล่าวแล้ว หรือเมื่อจะต้องเดิน ทางไปทำพิธีฮัจจ์ ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย

3. สำหรับในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แนะนำให้ฉีดในวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 11-18 ปี และในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 19-21 ปีที่จะต้องเข้าเรียนในวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย โดยการฉีดวัคซีนกระตุ้นจะทำทุกๆ 5 ปี ส่วนบุคคลในวัยอื่นๆ ตั้งแต่อายุ 2 ปี ถึง 55 ปี สามารถที่จะฉีดวัค ซีนได้ถ้าต้องการ ส่วนการฉีดในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคจะเกิดขึ้นเป็นระยะสั้นๆเท่านั้น จึงไม่แนะนำให้ฉีดถ้าไม่มีการระบาดของโรค

สำหรับในประเทศไทย ไม่ได้แนะนำให้บุคคลทั่วไปฉีดวัคซีน เนื่องจากพบผู้ป่วยเพียงประปราย และไม่ได้มีการระบาดเกิดขึ้นเป็นช่วงๆเหมือนในประเทศอื่นๆ

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์เสมอ คือ

1. เมื่อมีไข้ และมีผื่นที่เป็นจุดเลือดออกที่ผิวหนัง

2. เมื่อมีคนในบ้าน ป่วยเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น หรือมีผู้ป่วยเกิดขึ้นในสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียน มหาวิทยาลัย หอพัก ค่ายต่างๆ ชุมชนแออัด เป็นต้น

บรรณานุกรม

  1. Robert S. Munford, meningococcal infections, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
  2. http://www.vaccineinformation.org/pneumococcal/[2017,May13]
  3. http://emedicine.medscape.com/article/221473-overview[2017,May13]
  4. http://www.boe.moph.go.th/fact/Meningococal.html[2017,May13]
  5. http://www.boe.moph.go.th/Annual/AESR2012/main/AESR55_Part1/file1/0255__Meningococcal.pdf [2017,May13]
Updated 2017,May13