“ไกลโฟเสท” วายร้ายคู่จีเอ็มโอ (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

ไกลโฟเสทวายร้ายคู่จีเอ็มโอ

ไกลโฟเสทมีหลายรูปแบบ ทั้งในรูปของแข็งหรือของเหลวสีอำพัน และไกลโฟเสทสามารถคงอยู่ในดินได้เป็นเวลานานถึง 6 เดือน ขึ้นกับลักษณะอากาศและชนิดของดิน โดยสารนี้จะแตกตัวด้วยแบคทีเรียที่อยู่ในดิน ทั้งนี้ มีงานวิจัยว่า พืช เช่น แครอทและผักกาดหอม (Lettuce) สามารถดูดซึมสารนี้จากดินได้ด้วยเช่นกัน

มนุษย์อาจได้รับสารไกลโฟเสทได้โดย

  • สัมผัสด้วยมือ เข้าตา หรือสูดหายใจ ระหว่างการใช้งาน
  • กลืนสารโดยไม่ตั้งใจ เพราะไม่ได้ล้างมือก่อนกินหรือสูบ
  • สัมผัสกับต้นพืชที่ยังเปียกชื้นจากการฉีดสารไกลโฟเสท

แม้สารไกลโฟเสทที่บริสุทธิ์จะมีความเป็นพิษ (Toxicity) ต่ำ แต่ส่วนใหญ่มักมีการผสมสารอื่นเข้าไปเพื่อให้ไกลโฟเสทสามารถซึมเข้าสู่ต้นพืชได้ สารเหล่านี้จึงทำให้เกิดความเป็นพิษมากขึ้น โดยอาการที่เกิดขึ้น ได้แก่

  • ตาหรือผิวหนังระคายเคือง
  • จมูกและคอระคายเคืองกรณีสูดหายใจเข้าไป
  • มีน้ำลายมากขึ้น ปากและคอไหม้ กรณีกลืนเข้าไป
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • เสียชีวิต (กรณีที่ตั้งใจกลืนสารนี้เพื่อฆ่าตัวตาย)

เช่นเดียวกับมนุษย์ สัตว์ก็มีความเสี่ยงหากได้สัมผัสหรือกินพืชขณะที่เปียกชื้นหลังการฉีดพ่นสาร โดยอาจทำให้สัตว์มีอาการ

  • น้ำลายไหลย้อย
  • อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • เบื่ออาหาร
  • เซื่องซึม

โดยปกติสารไกลโฟเสทที่เข้าสู่ร่างกายมนุษย์จะถูกขับออกทางปัสสาวะและอุจจาระ แต่หากได้รับสารในปริมาณที่มากหรือการได้รับพิษสะสมมากๆ ก็สามารถทำลายร่างกายของเราแบบองค์รวม โดยเฉพาะโรคทางระบบประสาทส่วนกลาง เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง พาร์กินสัน หรือแม้แต่ อัลไซเมอร์ ภาวะออติสติก

นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังได้แถลงผลการวิจัยและประกาศให้สารกำจัดศัตรูพืชไกลโฟเสทอยู่ในกลุ่มสารเคมีที่อาจก่อมะเร็ง และเริ่มมีงานวิจัยออกมามากขึ้นที่ชี้ว่าไกลโฟเสทน่าจะเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อีกด้วย เช่น การแท้งลูก พิการแต่กำเนิด

แหล่งข้อมูล

1. Glyphosate. http://npic.orst.edu/factsheets/glyphogen.html [2016, June 27].

2. Glyphosate. http://pmep.cce.cornell.edu/profiles/extoxnet/dienochlor-glyphosate/glyphosate-ext.html [2016, June 27].