ใช้ “พาราเซตามอล” พร่ำเพรื่อ ความเชื่อที่หลงผิด (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

นพ. พงศ์พันธ์ วงศ์มณี รองเลขาธิการ อย. กล่าวต่อไปอีกว่า ขอให้ประชาชนผู้บริโภคใช้ ยาแก้ปวดอย่างถูกต้อง ตามวิธีใช้ที่ระบุบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาเกินขนาด ใช้บ่อยกว่า หรือใช้เป็นระยะเวลานานกว่าที่ระบุไว้ในเอกสารกำกับยา หรือแพทย์สั่ง เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย หรือเสียชีวิตได้ รวมทั้งไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างการใช้ ยาแก้ปวด เพราะอาจเพิ่มอาการข้างเคียงของยามากขึ้น

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration : FDA) ได้เสนอข้อบังคับใหม่ เพื่อป้องกันพิษที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาพาราเซตามอลในสหรัฐอเมริกา โดยให้ลดปริมาณการใช้ยาในแต่ละครั้งจาก 1,000 มิลลิกรัม ให้เหลือ 650 มิลลิกรัม และห้ามใช้พาราเซตามอลควบคู่กับยาบรรเทาปวดที่มีสารเสพติด (Narcotic analgesics)

ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 ทาง FDA ได้ขอให้ผู้ผลิตยาใช้ตำรับยาที่มีส่วนผสมของพาราเซตามอลไม่เกิน 325 มิลลิกรัม ต่อเม็ดหรือแคปซูล และให้ปรับปรุงฉลากยาเพื่อแจ้งเตือนถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ตับถูกทำลาย หลังจากที่พบผลของการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของตับจากฤทธิ์ยาของพาราเซตามอล

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 องค์การควบคุมยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (Medicines and Healthcare products Regulatory Agency : MHRA) ของรัฐบาลอังกฤษ ได้ทบทวนถึงปริมาณ (Dosage) การใช้พาราเซตามอลชนิดน้ำในเด็กด้วย

พาราเซตามอลบรรจุในหลายรูปแบบ ทั้งในรูปเม็ด แคปซูล ยาน้ำเชื่อมชนิดแขวนตะกอน (Liquid suspension) ยาเหน็บทวารหรือช่องคลอด (Suppository) ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous) และยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intra-muscular) ความเข้าใจปริมาณและขนาด แต่ละชนิดก่อนใช้ จึงมีความสำคัญยิ่ง

สำหรับผู้ใหญ่ปริมาณที่แนะนำปกติคือ 500–1,000 มิลลิกรัม ต่อครั้ง และปริมาณสูงสุดเท่ากับ 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ พาราเซตามอลจะปลอดภัยสำหรับเด็กและทารก หากใช้ตามปริมาณที่แนะนำเท่านั้น

การใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาดสามารถทำให้ตับถูกทำลายได้ ความเสี่ยงจะสูงเพิ่มขึ้นถ้าดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างการใช้ ยาแก้ปวด พาราเซตามอลเป็นสาเหตุสำคัญของอาการตับวายเฉียบพลันในซีกโลกตะวันตก และมีบันทึกว่ามีการใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาดมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

พาราเซตามอลวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2496 โดยบริษัท Sterling-Winthrop ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีกว่าแอสไพริน เพราะปลอดภัยมากกว่าแอสไพรินสำหรับเด็กและผู้มีแผลเปี่อย (Ulcer)ในกระเพาะอาหาร แต่ชื่อการค้าที่รู้จักกันมากที่สุดในปัจจุบัน คือ Tylenol ซึ่งเริ่มจำหน่ายในปี พ.ศ. 2498 โดยบริษัท McNeil Laboratories [ในเครือของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน] อันที่จริง สิทธิบัตรของพาราเซตามอลในสหรัฐอเมริกาได้หมดอายุไปนานแล้ว พาราเซตามอลจึงกลายเป็นยาสามัญ (Generic) ที่มีการผลิตและจำหน่ายอย่างแพร่หลายในท้องตลาด [เกือบทุกประเทศ]

แหล่งข้อมูล:

  1. อย.เตือนอย่าใช้ “พาราเซตามอล” พร่ำเพรื่อ http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000064300 [2012, June 13].
  2. Paracetamol. http://en.wikipedia.org/wiki/Paracetamol [2012, June 13].