โรคไวรัสตับอักเสบ เอ (Viral hepatitis A)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis) เป็นโรคพบบ่อยโรคหนึ่งซึ่งเกิดจากตับติดเชื้อไวรัสตับอักเสบที่มีหลายสายพันธุ์ย่อย แต่ที่พบบ่อยได้แก่ การติดเชื้อสายพันธุ์ชนิด เอ บี และซี แต่ในบทนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ ‘การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิด เอ’ เท่านั้น ซึ่งคือ ‘โรคไวรัสตับอักเสบเอ หรือ ตับอักเสบ เอ (Viral hepatitis A หรือ Hepatitis A)’ หรือชื่อเดิมคือ “Infectious hepatitis”

 

ไวรัสตับอักเสบ เอ เป็นโรคพบบ่อยทั่วโลกประมาณ 1.4 ล้านคนต่อปี โดยเฉพาะในประ เทศยังไม่พัฒนาและกำลังพัฒนา เพราะยังขาดการสาธารณสุขที่ดี โดยเฉพาะในเรื่องน้ำดื่มและ น้ำใช้ เป็นโรคพบในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งนี้ เพศหญิงและเพศชายมีโอกาสเกิดโรคนี้ใกล้เคียงกัน

 

โรคไวรัสตับอักเสบ เอ เกิดจากอะไร? ติดต่อได้ไหม? อย่างไร?

โรคไวรัสตับอักเสบเอ

โรคไวรัสตับอักเสบ เอ เกิดจากตับติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ (Hepatitis A Virus หรือ เรียกย่อว่า HAV) โดยเชื้อผ่านเข้าร่างกายทางปาก เข้าสู่กระแสเลือด/กระแสโลหิต แล้วจึงเข้าสู่ตับ เชื้อในตับจะปนเปื้อนในน้ำดีจากตับเข้าสู่ลำไส้ และปนมาในอุจจาระ เมื่อคนได้รับอุจจาระที่มีเชื้อไวรัสซึ่งปนเปื้อน และปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม จึงเกิดโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ดังนั้น ไวรัสตับอักเสบ เอ จึงเป็นโรคติดต่อทาง “อุจจาระสู่ปาก (Fecal-Oral route)”

 

เชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นเดือนในน้ำดื่มที่ไม่สะอาด น้ำทะเล น้ำเสีย และในดิน ไม่สามารถฆ่าให้ตายด้วย ผงซักฟอก สบู่ สารคลอโรฟอร์ม (Chloroform) ความแห้งแล้ง และการแช่แข็ง แต่ฆ่าให้ตายได้ด้วย แสงยูวี (UV, Ultraviolet light) หรือ แสงแดด, สารคลอรีน (Chlorine), สารฟอร์มาลิน (Formalin), และด้วยอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 85 องศาเซลเซียส (Celsius) ขึ้นไปนานอน่างน้อย 1 นาที

 

เชื้อไวรัสตับอักเสบเอ นอกจากมีคนเป็นโฮสต์ (Host)แล้ว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดก็สามารถเป็นโฮสต์ของเชื้อนี้ได้ เช่น ลิง ค้างคาว หนู หนูผี ดังนั้นสัตว์เหล่านี้จึงสามารถเป็นพาหะโรคนี้ได้ด้วย

 

ไวรัสตับอักเสบ เอ เป็นโรคติดต่อได้ง่าย จึงมีการระบาดได้ง่าย โดยสามารถติดต่อได้จากการ กิน และ/หรือ ดื่ม อาหารและ/หรือน้ำดื่ม ที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อนี้อยู่ ซึ่งเชื้อมักอยู่ในอาหารที่ปรุงไม่สุก สุกๆดิบๆ สด อาหารทะเล โดยเฉพาะ หอยลวก ปู ผักสด และน้ำดื่มที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะในน้ำแข็ง แต่ก็มีรายงานที่ติดต่อได้จากการคลุกคลีใกล้ชิดผู้มีเชื้อนี้ เช่น ทางเพศสัมพันธ์ การดูแลผู้ป่วยโรคนี้ เป็นต้น

 

โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักมีอาการภายหลังการได้รับเชื้อประมาณ 2 - 6 สัปดาห์ เฉลี่ยประมาณ 28 วัน (ระยะฟักตัว) ในผู้ป่วยผู้ใหญ่สามารถแพร่เชื้อ (ทางอุจจาระ) ได้ โดยเริ่มตั้งแต่ประมาณ 10 วันก่อนเริ่มมีอาการไปจนถึงประมาณ 1 สัปดาห์หลังมีตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน) แต่ในผู้ป่วยเด็ก การแพร่เชื้อทางอุจจาระมีไปตลอดระยะเวลาที่เด็กยังมีอาการตา/ตัวเหลือง หรืออาจนานถึง 6 เดือน (ในเด็กบางคน) อย่างไรก็ตามในช่วงระยะฟักตัว โรคอาจติดต่อทางการให้เลือดได้ (เป็นช่วงมีไวรัสในเลือด) แต่เป็นวิธีติดต่อที่เกิดได้น้อยมาก

 

อนึ่ง ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี สามารถติดไวรัสตับอักเสบเอได้โดยไม่มีอาการ แต่พบไวรัสนี้ในอุจจาระเด็กกลุ่มนี้ได้นานถึงประมาณ 6 เดือน ดังนั้นช่วงนี้เด็กกลุ่มนี้จึงเป็นพาหะโรคนี้ตลอดเวลา

 

ใครมีปัจจัยเสี่ยงติดไวรัสตับอักเสบ เอ?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงติดไวรัสตับอักเสบเอ ได้แก่

  • ผู้ที่ทำงาน อาศัย ในที่แออัด การสาธารณสุขมีขีดจำกัด เช่น โรงเรียน ชุมชน ค่ายนักเรียน ค่ายอพยพ แหล่งที่ขาดแคลนน้ำสะอาด หรือขาดแคลนส้วม
  • ผู้สัมผัสคลุกคลีผู้ป่วยโรคนี้ และ/หรือผู้เป็นพาหะโรคนี้ และ/หรืออาศัยอยู่ในบ้านเดียวกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบเอ
  • ผู้เดินทาง หรือ นักท่องเที่ยวในถิ่นที่มพบโรคนี้ประจำ ได้แก่ มีการสาธารณสุขที่ยังไม่ดี โดยเฉพาะในเรื่อง ความสะอาดของน้ำกิน น้ำใช้ อาหาร ส้วม
  • ผู้ที่สัมผัสคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
  • ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ
  • ผู้ใช้ยาเสพติด
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
  • ผู้มีโรคที่ต้องได้รับการรักษาด้วยการให้เลือดบ่อยๆ เช่น โรคฮีโมฟิเลีย

 

ไวรัสตับอักเสบ เอ มีอาการอย่างไร?

โรคไวรัสตับอักเสบ เอ มักเป็นการอักเสบติดเชื้อเฉียบพลัน ไม่ค่อยเปลี่ยนเป็นอาการรุนแรง และไม่เปลี่ยนเป็นการอักเสบเรื้อรัง หรือโรคตับแข็ง และไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับ แต่มีส่วนน้อยมากในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ โรคนี้อาจก่อ อาการรุนแรงจนเสียชีวิตได้จากตับวาย

 

ก. ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ เอ มักมีอาการอยู่ทั้งหมดประมาณ 8 สัปดาห์ และมักจำเป็นต้องหยุดงานในช่วงมีอาการมากเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 30 วัน

 

ข. ในเด็กเล็กมักไม่มีอาการ แต่เป็นผู้แพร่เชื้อ (เป็นพาหะโรค)

 

ค. ในเด็กโต ในผู้ใหญ่ หรือในผู้มีอาการ อาการที่พบบ่อย คือ

  • มีอาการคล้ายโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ (มีได้ทั้งไข้สูงหรือไข้ต่ำ) ปวดศีรษะ ปวดเนื้อตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องเสีย
  • หลังจากนั้น 3 - 7 วัน เมื่ออาการคล้ายโรคหวัดทุเลาลง
    • จะมีตัว/ตาเหลือง (ดีซ่าน)จากมีสารสีเหลือง (บิลิรูบิน หรือ Bilirubin) ในน้ำดีของตับ ท้นเข้ากระแสเลือด
    • มีปัสสาวะสีเหลืองเข็มจากสารสีเหลืองเพิ่มมากในปัสสาวะ (ร่างกายกำจัดสารนี้ออกทางไต/ทาง ปัสสาวะ, ปัสสาวะจึงมีสีเหลืองเข็มเพิ่มขึ้น)
    • อุจจาระอาจมีสีซีดจากขาดสารสีเหลือง (เพราะน้ำดีจะคั่งอยู่ในตับจากเซลล์ตับเสียการทำงาน จึงไม่มีน้ำดีไหลจากตับลงสู่ลำไส้ตามปกติ หรือไหลลงสู่ลำไส้ได้น้อย ซึ่งสีเหลือง/น้ำตาลของอุจจาระเกิดจากสารตัวนี้) แต่เมื่อการอักเสบของตับค่อยๆลดลง อาการตัว/ตาเหลืองจึงค่อยๆลด ลงไปด้วยตามลำดับ
  • นอกจากนั้น
    • อาจคลำพบมี ตับโต ม้ามโต และ/หรือ มีต่อมน้ำเหลืองด้านหลังลำคอโต คลำ ได้เจ็บเล็กน้อย
    • และในขณะมี ตัวเหลือง ตาเหลือง อาจมีอาการคันได้ จากสารสีเหลืองในเลือดก่อการระคายต่อผิวหนัง

 

แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการทำงาน การเดินทาง การกินอาหาร/น้ำดื่ม
  • การตรวจร่างกาย
  • ตรวจเลือดซีบีซี/CBC (ดูเม็ดเลือดขาวเพื่อแยกระหว่างติดเชื้อไวรัสหรือติดเชื้อแบคทีเรีย)
  • การตรวจเลือดดูการทำงานของตับ
  • การตรวจเลือดดู สารภูมิต้านทานโรคไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆเพื่อการวินิจฉัยว่าเป็นไวรัสตับอักเสบชนิดใด และ
  • อาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่ม เติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์

 

รักษาโรคไวรัสตับอักเสบ เอ อย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาโรคไวรัสตับอักเสบทุกชนิด รวมทั้งชนิด เอ และไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะยาปฏิชีวนะฆ่าได้เฉพาะแบคทีเรีย ฆ่าไวรัสไม่ได้ การรักษาจึงเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยอาการรุนแรง แพทย์อาจให้ตัวยาภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (Immunoglobulin หรือ Immune globulin ย่อว่า IG) ซึ่งการใช้ยาตัวนี้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์

 

ทั้งนี้ การรักษาประคับประคองตามอาการที่สำคัญคือ

  • พยายามพักการทำงานของตับโดยพักผ่อนให้มากๆ (จึงจำเป็นต้องหยุดงาน หยุดเรียน)
  • ดื่มน้ำสะอาดให้มากกว่าปกติเพื่อขับสารสีเหลืองออกทางปัสสาวะ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว (เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม)
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพราะเพิ่มการทำลายเซลล์ตับ
  • กินอาหารอ่อน (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์) มื้อละน้อยๆ แต่กินให้บ่อยขึ้น พยายามอย่าให้ร่างกายขาดอาหาร
  • กินยาบรรเทาอาการต่างๆเฉพาะตามแพทย์แนะนำเท่านั้น ไม่ซื้อยากินเอง(เช่น ยาParacetamol) เพราะยาอาจเพิ่มผลข้างเคียงต่อตับทำลายเซลล์ตับเพิ่มขึ้น
  • เมื่อมีอาการคันใช้ยาทาบรรเทาอาการคันภายนอก เช่น ยาคาลาไมน์โลชั่น และใช้โลชันชนิดอ่อนโยน(สำหรับเด็กอ่อน) ทาผิวกายภายหลังการอาบน้ำ

 

มีผลข้างเคียงจากโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ไหม?

ผลข้างเคียงจากโรคไวรัสตับอักเสบ เอ คือ การติดเชื้อไวรัสตัวนี้ซ้ำ จึงกลับมามีอาการต่างๆได้เหมือนเดิม หลังจากอาการต่างๆหายแล้ว ซึ่งพบได้ประมาณ 10 - 20%

 

ประมาณน้อยกว่า 1% อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอื่นๆตามมา เช่น โรคตับอ่อนอักเสบ ภาวะซีด, ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ, ไตอักเสบ, หลอดเลือดอักเสบ, สมองอักเสบ, ไขสันหลังอักเสบ

 

โรคไวรัสตับอักเสบ เอ รุนแรงไหม?

ไวรัสตับอักเสบ เอ เป็นโรคไม่รุนแรง มักหายได้เสมอ และดังกล่าวแล้ว มักไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับ

 

แต่น้อยราย โรคอาจรุนแรง ซึ่งที่รุนแรงมักพบในผู้สูงอายุ และในคนสุขภาพไม่แข็งแรงอยู่ก่อนแล้ว (มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ) ทั้งนี้ไวรัสตับอักเสบ เอ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้จากภาวะตับล้มเหลวประมาณ 0.5%

 

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เมื่อ

  • มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารมาก ตัว/ตาเหลือง (ดีซ่าน) และ
  • ควรต้องรีบด่วนพบแพทย์/ มาโรงพยาบาลเมื่ออาการต่างๆเลวลง เช่น
    • อาเจียนมาก
    • อ่อนเพลียมาก
    • กินไม่ได้ และ/หรือ
    • มีไข้สูง
  • ควรต้องพบแพทย์/มาโรงพยาบาลฉุกเฉินเมื่อมีอาการทางสมอง เช่น
    • ปวดศีรษะมาก
    • คอแข็ง และ/หรือ
    • แขน/ขาอ่อนแรง
  • *นอกจากผู้ป่วยแล้ว ผู้ดูแลผู้ป่วยควรต้องพบแพทย์ ขอคำแนะนำในการดูแลตนเองเพราะอาจติดโรคนี้ได้ง่าย และเพื่อเรียนรู้วิธีป้องกันการแพร่เชื้อของผู้ป่วย

 

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ เอ?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ เอ คือ

  • พักการทำงานของตับ ดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อการรักษาฯ’ นอกจากนั้น คือ
  • การป้องกันโรคแพร่กระจายสู่ผู้อื่น เช่น แยกอาหาร เครื่องใช้
  • การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อช่วยให้ตับฟื้นตัวได้เร็วและได้ดี ซึ่งทั้งสองประการคือ
    • การรักษา สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
    • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
    • กินอาหารสุกสะอาด ดื่มน้ำสะอาด
    • รักษาความสะอาดเครื่องใช้ทุกชนิด
    • แยกของใช้ส่วนตัวต่างๆ รวมทั้ง จาน ชาม ช้อน และแก้วน้ำ และ
    • รักษาความสะอาดในการขับถ่าย

 

ป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ เอ อย่างไร?

การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ที่สำคัญ คือ

  • รักษา สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • กินอาหารปรุงสุกอย่างทั่วถึงเสมอ ดื่มแต่น้ำสะอาดไว้ใจได้ และระมัดระวังการกินน้ำแข็ง
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น
    • ผู้ให้บริการสาธารณสุข
    • คนทำงานใน ร้านอาหาร สถานพยาบาล โรงเรียนอนุบาล
    • ผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบเอ
    • เมื่อไปท่องเที่ยวในประเทศที่ยังด้อยในการสาธารณสุข
    • โดยการฉีดวัคซีนจะได้ผลเมื่อฉีดแล้วอย่างน้อยประมาณ 2 สัปดาห์ และฉีดกระตุ้นครั้งที่ 2 ประ มาณ 6 เดือนถึง 1 ปีหลังเข็มแรก ซึ่งจะให้ภูมิคุ้มกันได้อย่างน้อยประมาณ 20 ปี ทั้งนี้ก่อนฉีดวัคซีน แพทย์มักตรวจเลือดดูภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้ก่อน ถ้าพบมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคแล้วก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน
    • อนึ่ง ผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคนี้แล้วมักจะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้ไปจนตลอด ชีวิต
    • (แนะนำอ่านราย ละเอียด วัคซีนนี้เพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ)
  • ในผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ เอ และโดยเฉพาะมีสุขภาพไม่แข็งแรง แพทย์อาจแนะนำให้ตัวยาภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (IG) ร่วมกับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ เมื่อไม่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้มาก่อน ดังนั้นผู้ดูแลผู้ป่วยจึงควรต้องพบแพทย์เสมอเพื่อขอรับคำแนะนำดังกล่าวแล้ว

 

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, D., Hausen, S., Longo, D., and Jamesson, J.(2001). Harrrison’s: Principles of internal medicine. New York. McGraw-Hill.
  2. Brundage, S. and Fitzpatrick, A. (2006). Hepatitis A. Am Fam Physician, 73, 2162-8.
  3. https://www.cdc.gov/hepatitis/hav/afaq.htm [2019,Feb2]
  4. https://emedicine.medscape.com/article/177484-overview#showall [2019,Feb2]
  5. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/hepatitis-a [2019,Feb2]
  6. http://en.wikipedia.org/wiki/hepatitis_A [2019,Feb2]