โรคไวรัสตับอักเสบ บี (Viral hepatitis B)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ตับอักเสบ บี/โรคตับอักเสบ บี (Hepatitis B) หรือ โรคไวรัสตับอักเสบ บี (Viral hepatitis B infection หรือ Hepatitis B infection) คือโรคที่เกิดจากเซลล์ของเนื้อเยื่อตับติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี ที่เรียกว่า ‘Hepatitis B virus ย่อว่า HBV’ ที่จะส่งผลให้เกิดเป็นตับอักเสบได้ทั้งชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง ซึ่งชนิดเรื้อรังนี้จะส่งผลต่อเนื่องให้เกิดเป็นโรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับได้

ตับอักเสบ บี/ ไวรัสตับอักเสบ บี เป็นโรคในกลุ่มเดียวกับโรคไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis) ซึ่งไวรัสตับอักเสบ มีได้หลายสายพันธุ์ย่อย แต่ที่พบบ่อย คือ สายพันธุ์ เอ, บี, และซี

ไวรัสตับอักเสบ บี เป็นโรคพบบ่อยทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย โดยองค์การอนามัยโลกประเมินว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ประมาณ 257 ล้านคน พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ และโอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย

โรคไวรัสตับอักเสบ บี เกิดจากอะไร? ติดต่อได้ไหม? อย่างไร?

โรคไวรัสตับอักเสบบี

ไวรัสตับอักเสบ บี เกิดจากตับติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด บี (Hepatitis B virus/HBV) จัดเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย และเป็นโรคติดต่อจาก’คนสู่คน’ โดยวิธีติดต่อคือ

  • การสัมผัสเลือดของคนที่ติดเชื้อนี้ เช่น
    • ผ่านทางบาดแผลของผิวหนังแม้เพียงเล็กน้อย
    • จากใบมีดต่างๆ เช่น การโกนขน โกนหนวด โกนผม การสักลาย กรรไกรตัดเล็บ
    • จากเข็มที่ไม่สะอาด เช่น การเจาะหู การใช้ยา/สารเสพติด และจากเข็มไม่สะอาดจากโรงพยาบาล
    • จากการให้เลือด
  • การสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อนี้ เช่น เพศสัมพันธ์ (ไวรัสตับอักเสบ บี จึงจัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย) น้ำอสุจิ น้ำจากช่องคลอด น้ำลาย น้ำมูก
  • และทารกในครรภ์สามารถติดเชื้อจากมารดาได้เมื่อมารดาติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี
    • ทั้งขณะอยู่ในครรภ์
    • และในการสัมผัสเลือดมารดาช่วงการคลอด

ทั้งนี้ เมื่อเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บ เกิดเป็นการอักเสบของเซลล์ตับ จึงเกิดเป็น ‘โรคไวรัสตับอักเสบ บี’ ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยโรคนี้จะมีเชื้ออยู่ในเลือด และในสารคัดหลั่งต่างๆดังกล่าวแล้ว

ไวรัสตับอักเสบ บี ทนต่ออุณหภูมิปกติได้นานเป็นชั่วโมง ไม่ตายด้วยการแช่แข็ง แต่ตายได้จากการต้มเดือดนานอย่างน้อย 20 นาที หรือ แช่ในน้ำยาคลอรอกซ์ (Clorox หรือ ชื่อสามัญคือ โซเดียมไฮโปคลอไรท์ / Sodium hypochlorite) นานอย่างน้อย 30 นาที-1ชั่วโมง

ใครมีปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อไวรัสตับอักเส บี?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ได้แก่

  • ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาด้วยการให้เลือดต่อเนื่อง เช่น ผู้ป่วยโรคเลือดบางชนิด
  • ผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตต่อเนื่อง
  • สำส่อนทางเพศ โดยเฉพาะไม่ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • ใช้ของมีคมร่วมกับผู้อื่น เช่น ใบมีด ที่ตัดเล็บ เข็มฉีดยา และที่รวมถึงแปรงสีฟัน
  • ใช้เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาดปราศจากเชื้อ
  • เด็กที่คลอดจากมารดาที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี
  • ผู้ทำงานทางการแพทย์ และในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับเลือดและสารคัดหลั่ง

โรคไวรัสตับอักเสบ บี มีอาการอย่างไร?

โดยทั่วไป จะเกิดอาการประมาณ 30-180 วัน(เฉลี่ยประมาณ 75 วัน) หลังได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี(ระยะฟักตัว) และโดยทั่วไปจะมีอาการอยู่นานประมาณ 2-8 สัปดาห์

โดยอาการของไวรัสตับอักเสบไม่ว่าเกิดจากสายพันธุ์ใด จะเหมือนกัน ซึ่งที่พบบ่อย คือ

  • เริ่มจากมีอาการคล้ายโรคหวัดทั่วไป เช่น มีไข้(มีได้ทั้งไข้สูง หรือ ไข้ต่ำ) ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดท้อง ท้องเสีย
  • แต่มัก อ่อนเพลีย คลื่นไส้และอาเจียน ที่เป็นอาการพบได้มากกว่า พบในผู้ป่วยทุกราย
  • หลังจากนั้น 2-3 วัน หรือ ประมาณ1 สัปดาห์ จะเริ่มมีอาการ
    • ตัว/ตาเหลือง(ดีซ่าน)
    • ปัสสาวะสีเหลืองเข็ม และอุจจาระอาจมีสีซีด
    • นอกจากนั้นอาจมี ตับโต และ/หรือ ม้ามโต คลำได้
  • ต่อจากนั้น อาการตัว/ตาเหลืองจะค่อยๆลดลงจนกลับเป็นปกติ

ทั้งนี้ โรคไวรัสตับอักเสบ บี แตกต่างจาก ไวรัสตับอักเสบ เอ โดยไวรัสตับอักเสบ บี จะพบได้ทั้ง

  • การอักเสบแบบเฉียบพลัน/’ตับอักเสบ บีเฉียบพลัน’ คือ เกิดโรคและหายได้ภายในประมาณ 8 สัปดาห์ ซึ่งการอักเสบแบบเฉียบพลันนี้ พบได้กับผู้ป่วยส่วนใหญ่
  • แต่มีผู้ป่วยอีกกลุ่ม ประมาณ 5-10% (แพทย์ไม่สามารถพยากรณ์โรคได้ว่า ใครจะอยู่ในกลุ่มนี้) ภายหลังติดเชื้อผ่านไปแล้วตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ก็ยังพบเชื้อไวรัสตับอักเสบ บีได้ในเลือด และในสารคัดหลัง โดยตัวเองไม่มีอาการแล้ว จึงเป็นคนแพร่เชื้อตลอดเวลา และคนกลุ่มนี้บางครั้ง อาจเกิดการติดเชื้อเฉียบพลันซ้ำซ้อนขึ้นอีกได้ ซึ่ง เรียกการอักเสบแบบนี้ว่า ‘การอักเสบแบบเรื้อรัง/ตับอักเสบ บี เรื่องรัง’ ซึ่งยังไม่มีวิธีรักษาให้หายจากการอักเสบเรื้อรังนี้ได้ การรักษาปัจจุบันเพียงควบคุมไม่ให้ไวรัสแบ่งตัวเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้เซลล์ตับจะถูกทำลายตลอดเวลา การรักษาเพียงชะลอไม่ให้เกิดการทำลายมากจนเกิดอาการ ดังนั้น การอักเสบแบบเรื้อรัง จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด โรคตับแข็ง และโรคมะเร็งตับ

อนึ่ง ผู้ที่มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรัง คือ

  • เด็กอายุต่ำกว่า 6ปีที่ติดเชื้อนี้ ซึ่งจะเกิดเป็นตับอักเสบ บีเรื้อรัง ประมาณ 30-50%
  • โดยเด็กที่อายุต่ำกว่า 1ปี เมื่อติดเชื้อนี้ จะเกิดเป็นตับอักเสบ บีเรื่อรังประมาณ 80-90%

แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ บี ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ บี ได้ด้วยวิธีการเช่นเดียวกับการวินิจฉัย โรคไวรัสตับอักเสบจากทุกสายพันธุ์ย่อย ได้แก่

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติที่เสี่ยงต่อการสัมผ้สโรคดังกล่าวแล้ว เช่น การเคยได้รับเลือด การถูกของมีคมบาด
  • การตรวจร่างกาย ที่รวมถึง การตรวจคลำตับและม้าม
  • การตรวจเลือด
    • ดูการทำงานของตับ
    • และดูค่าสารภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ
  • และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตัดชิ้นเนื้อจากตับเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาโรคไวรัสตับอักเสบ บี อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ บี การรักษาหลักยังเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะเพราะยาปฏิชีวนะฆ่าไวรัสไม่ได้ แต่ใช้ฆ่าแบคทีเรีย ดังนั้น การรักษาที่สำคัญ คือ

  • พักการทำงานของตับ โดยการพักผ่อนให้มากๆ (ควรต้องหยุดงานอย่างน้อยประมาณ 3-4 สัปดาห์) นอกจากนั้น คือ
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง ฟื้นตัวได้เร็ว ลดโอกาสติดเชื้อซ้ำซ้อน ลดการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น
  • ดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ ไม่ควรต่ำกว่าวันละ 6-8 แก้ว(เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม)
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ ทุกวัน
  • งดบุหรี่ และ แอลกอฮอล์ เพราะสารพิษในบุหรี่และแอลกอฮอล์ทำลายเซลล์ตับโดยตรง
  • กินยาแต่ที่เฉพาะได้รับจากแพทย์ ไม่ซื้อยากินเอง เพราะเพิ่มโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาต่อเซลล์ตับสูงขึ้น อาจส่งผลให้ตับอักเสบมากขึ้น

อนึ่ง ในการรักษาโรคในระยะเรื้อรัง ปัจจุบันมีตัวยาหลายชนิด ทั้งฉีด และกิน ใช้เพื่อชะลอการแบ่งตัวของไวรัส เช่น ยาในกลุ่ม ยาต้านไวรัสตับอักเสบ บี ส่วนจะเลือกใช้ยาตัวใด ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

มีผลข้างเคียงจากไวรัสตับอักเสบ บี ไหม?

ผลข้างเคียงจากไวรัสตับอักเสบ บี คือ ประมาณ 5-10%ของผู้ป่วย จะเปลี่ยนเป็น’ไวรัสตับอักเสบ บีเรื้อรัง’ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิด

  • โรคตับแข็ง
  • และโรคมะเร็งตับ

โรคไวรัสตับอักเสบ บี รุนแรงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของไวรัสตับอักเสบ บี มีรายงานอัตราเสียชีวิตประมาณ 1 รายในผู้ป่วย 100 ราย ซึ่งทั่วไปการพยากรณ์โรค คือ

  • เมื่อเป็นการอักเสบเฉียบพลัน มักไม่รุนแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้ด้วยการรักษาประคับประคองตามอาการ แต่ประมาณ 5-10% โรคจะดำเนินต่อเนื่องไปเป็น ‘ไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง’
  • เมื่อโรคตับอักเสบ บี เรื้อรัง จัดเป็นโรครุนแรง เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด โรคตับแข็ง และโรคมะเร็งตับที่จัดเป็นมะเร็งมีความรุนแรงสูง และเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่การรักษาจะสามารถลดการอักเสบ/ถูกทำลายของเนื้อเยื่อตับลงได้ จนสามารถลดอัตราเกิดตับแข็งและมะเร็งตับ
  • และ ในผู้ป่วยที่มี ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ หรือ ในเด็ก โรคอาจรุนแรง เซลล์ตับอาจถูกทำลายมากจนเกิดตับวายเฉียบพลัน และเสียชีวิตได้

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีอาการดังกล่าวในห้วข้อ’อาการฯ’ โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวในหัวข้อ’สาเหตุฯ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เพื่อรู้สาเหตุ เพื่อการรักษาดูแลตนเองได้ถูกต้อง

ควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ บี ที่สำคัญคือ คือ

  • การปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ และ พยาบาล
  • นอกจากนั้น เช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วในหัวข้อ ‘การรักษาฯ’
  • และควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • มีอาการต่างๆเลวลง เช่น ตัวเหลืองตาเหลือง/ดีซ่านมากขึ้น
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น บวมตามเนื้อตัว
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก ท้องผูกมาก
    • มีความกังวลในอาการ

ป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี ได้อย่างไร?

การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี ที่สำคัญ คือ การฉีดวัคซีนตับอักเสบบี ซึ่งมีหลายชนิด และมีวิธีการในการฉีดแตกต่างกันในแต่ละชนิด ขึ้นกับข้อบ่งชี้ในการใช้(แพทย์จะเป็นผู้แนะนำ) โดยทั่วไป ฉีดเข็มแรกตั้งแต่แรกเกิด(เมื่อเป็นเด็กคลอดในโรงพยาบาล) แต่สามารถฉีดได้เลยในทุกอายุ เมื่อยังไม่เคยฉีด และเมื่อประสงค์จะฉีดควรปรึกษาแพทย์

*อนึ่ง แนะนำอ่านรายละเอียดเรื่องวัคซีนตับอักเสบบีได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วัคซีนตับอักเสบบี

ส่วนวิธีการอื่นๆ คือ หลักในการป้องกันการติดเชื้อทุกชนิด และในการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ซึ่งก็คือ

  • การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • การกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง
  • ระมัดระวัง และหลีกเลี่ยง การสัมผัส เลือด และสารคัดหลั่งของผู้อื่น
  • การใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

*ทั้งนี้ ในผู้ที่ สัมผัสผู้ป่วย ผู้ดูแลผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี และกังวลว่าตนเองอาจติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อขอคำปรึกษา ซึ่ง อาจเป็นการฉีดวัคซีนป้องกันตับอักเสบบี หรือ การได้รับสารภูมิต้านทาน ที่เรียกว่า Monoclonal antibody ทั้งนี้ขึ้นกับความเสี่ยง และความรุนแรงในการติดเชื้อ ซึ่งจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, D., Hausen, S., Longo, D., and Jamesson, J.(2001). Harrrison’s: Principles of internal medicine. New York. McGraw-Hill.
  2. Chongsrisawat, V., chatchatee, P., and Poovorawan, Y. (2004). Prophylaxis of viral hepatitis: a global perspective. Hepatitis B Annual, 1, 25-59.
  3. https:// https://en.wikipedia.org/wiki/Hepatitis_B [2019,May18]
  4. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/hepatitis-b [2019,May18]
  5. https://www.cdc.gov/hepatitis/hbv/hbvfaq.htm [2019,May18]