โรคไวรัสตับอักเสบ ซี (Viral hepatitis C)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ไวรัสตับอักเสบ ซี(Viral hepatitis C) หรือ ตับอักเสบ ซี (Hepatitis C) เป็นโรคจากเซลล์ตับเกิดการอักเสบจากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซี ที่อาจลุกลามเป็น โรคตับแข็ง และมะเร็งตับได้ในระยะยาว

ไวรัสตับอักเสบ ซี เป็นโรคในกลุ่มไวรัสตับอักเสบ ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ย่อย แต่สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคไวรัสตับอักเสบได้บ่อย คือ เอ บี และ ซี

ไวรัสตับอักเสบ ซี เป็นโรคพบบ่อยโรคหนึ่งทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย แต่พบได้น้อยว่าไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งในปีค.ศ. 2015 มีรายงานพบผู้ป่วยตับอักเสบซีทั่วโลกประมาณ 143 ล้านคน โดยพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ พบในผู้หญิงและในผู้ชายได้ใกล้เคียงกัน

โรคไวรัสตับอักเสบ ซี เกิดจากอะไร? ติดต่อได้ไหม? อย่างไร?

โรคไวรัสตับอักเสบซี

โรคไวรัสตับอักเสบ ซี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อ ‘ไวรัสตับอักเสบ ซี (Hepatitis C vi rus ย่อว่า HCV)’ของเซลล์ตับ โรคนี้เป็นการติดต่อจาก’คนสู่คน’ โดยเป็นการติดเชื้อจากเลือดสู่เลือด ซึ่งอาจจาก

  • การให้เลือด
  • ติดจากเครื่องมือ เครื่องใช้ ที่ติดเลือดได้ เช่น เข็มฉีดยา เจาะหู กรรไกรตัดเล็บ การสักลาย แผลสัมผัสแผล
  • สารคัดหลั่งที่มีเลือดปน ทางเพศสัมพันธ์ หรือจากแม่สู่ลูกขณะคลอด (พบได้น้อยกว่า เกิดจากโรคไวรัสตับอักเสบ บี มากกว่า)

ดังนั้น การติดต่อของตับอักเสบบี จึงเป็นวิธีการเดียว กับโรคไวรัสตับอักเสบ บี

อนึ่ง ไวรัสตับอักเสบ ซี เป็นไวรัสกำจัดได้ยากด้วยวิธีธรรมดา เช่น การต้มเดือด เพียงทำให้จำนวนไวรัสลดลงเท่านั้น มักไม่หมดไป ต้องกำจัดด้วยวิธีฆ่าเชื้อการทางการแพทย์

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี คือ

  • บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องสัมผัสเลือดผู้ป่วย
  • ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เช่น ผู้เสพสารเสพติด
  • ผู้ติดเชื้อ เอชไอวี
  • คนที่ได้รับเลือด หรือ ชิ้นส่วนของเลือด เช่น เกล็ดเลือด ก่อนปี คศ. 1992 (พ.ศ. 2535) เพราะการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ ซี ช่วงนั้นยังไม่ดีพอ
  • ผู้ที่ใช้เครื่องมือบางชนิดที่สัมผัสเลือดผู้อื่น และรักษาความสะอาดได้ไม่ดีพอ เช่น การสักผิวหนัง เจาะหู เจาะร่างกายต่างๆ
  • บุตรที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี
  • ผู้ป่วยที่ฟอกไตอย่างเรื้อรังเป็นระยะเวลานานๆ

โรคไวรัสตับอักเสบ ซี มีอาการอย่างไร?

ไวรัสตับอักเสบ ซี เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะอยู่ในกระแสเลือดและในตับ จึงเป็นสาเหตุให้เซลล์ตับเกิดอักเสบ จึงเกิดเป็นโรคตับอักเสบขึ้น โดยโรคมีระยะฟักตัวประมาณ 15-160 วัน

โรคไวรัสตับอักเสบ ซี ก่อให้เกิดการอักเสบของตับได้ทั้ง

  • การอักเสบเฉียบพลัน (โรคหายภายในไม่เกิน 6 เดือน)
  • และการอักเสบเรื้อรัง (มีอาการเป็นๆหายๆ หรือ ยังตรวจพบไวรัสในเลือดได้นานตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป)

ซึ่งโรคนี้ต่างจากโรคไวรัสตับอักเสบ เอ และโรคไวรัสตับอักเสบ บี ที่พบการอักเสบเฉียบพลันน้อยมาก โดยประมาณ 80-90% จะเป็นการอักเสบเรื้อรัง

  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 60-70% มักไม่มีอาการ การตรวจพบมักโดยบังเอิญจากตรวจเลือดวินิจ ฉัยโรคอื่นๆ
  • ส่วนผู้ที่มีอาการ
    • 20-30% มีอาการตัว/ตาเหลือง (ดีซ่าน) โดยไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย
    • และเพียง 10-20% ที่มีอาการคล้ายไข้หวัด/โรคหวัด (มีไข้ มีได้ทั้งไข้สูง หรือ ไข้ต่ำ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้ อาเจียน) นำก่อน 2-7 วันก่อนตัวเหลือง/ตาเหลือง
    • ซึ่งอาการตัวเหลือง/ตาเหลือง จะคงอยู่ประมาณ 2-8 สัปดาห์จึงจะกลับเป็นปกติ

ผู้ป่วยที่มีการอักเสบแบบเรื้อรัง มักเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคตับแข็ง และโรคมะเร็งตับ ตามมาในระยะเวลาประมาณ 20 ปี หรืออาจเร็ว หรือช้ากว่านี้

โดยปัจจัยเสี่ยงเกิดตับแข็งและมะเร็งตับจะสูงขึ้น เมื่อ

  • ผู้ติดเชื้ออายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
  • เป็นผู้ชาย
  • ดื่มแอลกอฮอล์
  • มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ
  • และ/หรือ ติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบ บี ร่วมด้วย

แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ได้ด้วยวิธีการเช่นเดียวกับในการวินิจฉัยโรคตับอัก เสบทุกชนิด คือ

  • จากการซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญคือ ประวัติอาการ ประวัติการสัมผัสโรค
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจเลือดดูการทำงานของตับ และดูสารภูมิคุ้มกันโรคตับอักเสบชนิดต่างๆ
  • และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม เช่น การตัดชิ้นเนื้อจากตับเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

รักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคตับอักเสบ ซี คือ

ก. แนวทางการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ชนิดเฉียบพลัน คือ

  • การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่นเดียวกับในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบทุกชนิด (ไม่จำเป็นต้องได้ยาปฏิชีวนะ เพราะยาปฏิชีวนะฆ่าได้แต่เชื้อแบคทีเรีย ฆ่าเชื้อไวรัสไม่ได้) ที่สำคัญ คือ พักการทำงานของตับ โดยการพักผ่อนเต็มที่ นอกจากนั้น คือ
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และลดการแพร่เชื้อ
  • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้มากกว่าปกติอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม เพื่อขับสารที่ทำให้ตัว/ตาเหลืองออกทางปัสสาวะมากขึ้น
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบในทุกๆวัน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
  • งดบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทำลายเซลล์ตับโดยตรง

ข. แนวทางการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ชนิดเรื้อรัง คือ การรักษาด้วย ‘ยาต้านไวรัสตับอักเสบ ซี’ อย่างน้อยเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับการทำงานของตับ และปริมาณเชื้อไวรัสที่หลงเหลืออยู่ ซึ่งแพทย์จะให้คำแนะนำผู้ป่วยเป็นรายๆไป

ปัจจุบัน การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก แพทย์สามารถตรวจได้ละเอียดขึ้นกว่าเดิมว่า ผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยสายพันธุ์ใด และยังมีตัวยาต้านไวรัสที่มีประ สิทธิภาพสูงกว่าเดิมตามสายพันธุ์ย่อยของไวรัส นอกจากนั้น การรักษาโดยใช้ยาต้านไวรัส 2 ชนิดร่วมกัน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการแบ่งตัวของไวรัสได้สูงขึ้น จากเดิมที่เคยควบคุมโรคได้ประมาณ 10-20% เป็นควบคุมโรคได้ประมาณ 70-80% ยกเว้นในบางสายพันธุ์ย่อย ที่ควบคุมโรคได้ประมาณ 45-70% และขณะนี้ยังมีการศึกษาวิธีรักษาควบคุมโรคนี้อย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้ยาต้านไวรัส 3 ชนิดร่วมกัน เป็นต้น

มีผลข้างเคียงจากไวรัสตับอักเสบ ซี ไหม?

ผลข้างเคียงจากโรคไวรัสตับอักเสบ ซี คือ

  • การเกิดโรคตับแข็ง และผู้ป่วยบางรายที่การทำลายเนื้อเยื่อตับอาจรุนแรงขึ้นเรื่อยๆจนเกิดภาวะตับวาย
  • โรคมะเร็งตับ ซึ่งโอกาสเกิดตับแข็งจะขึ้นกับการควบคุมการแบ่งตัวของไวรัส ถ้าสามารถควบคุมการแบ่งตัวของไวรัสได้ดี โอกาสเกิดตับแข็งก็จะลดลง ส่วนมะเร็งตับพบได้ประมาณ 4% ของผู้ป่วยที่เกิดเป็นโรคตับแข็ง

โรคไวรัสตับอักเสบ ซี รุนแรงไหม?

ไวรัสตับอักเสบ ซี จัดเป็นโรครุนแรง เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด โรคตับแข็ง และ โรคมะเร็งตับ

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆโดยเฉพาะ ตัวเหลือง/ตาเหลือง ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ

ส่วนในคนที่ไม่มีอาการ ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อต้องการตรวจ หรือ ต้องการทราบว่า ติดเชื้อไวรัสตัวนี้หรือเปล่า โดย เฉพาะในคนกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ‘ปัจจัยเสี่ยง’

ควรดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ที่สำคัญคือ คือ

  • การปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ
  • และเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ การรักษา
  • ต้องพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น ตัวเหลือง/ตาเหลืองเพิ่มขึ้นตลอดเวลา
    • อาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น บวมตามเนื้อตัว
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก ท้องผูกหรือท้องเสียมาก ขึ้นผื่น
    • กังวลในโรคหรือในอาการ

ป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ได้อย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ ซี แต่กำลังมีการศึกษาอย่างจริงจัง ดัง นั้นในขณะนี้ การป้องกันที่สำคัญ คือ

  • การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยง ระมัดระวังการสัมผัสเลือด และสารคัดหลั่งของผู้อื่น
  • หลีกเลี่ยง ระมัดระวัง การใช้เครื่องใช้ที่ต้องสัมผัสเลือดร่วมกับผู้อื่น เช่น กรรไกรตัดเล็บ มีดโกนหนวด รวมไปถึง การสักผิวหนัง และการเจาะผิวหนังต่างๆ
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ทุกวัน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, D., Hausen, S., Longo, D., and Jamesson, J. (2001). Harrrison’s: Principles of internal medicine. New York: McGraw-Hill.
  2. Liang,T., and Ghany,M. (2013).Current and future therapies for hepatitis C virus infection. NEJM.368, 1907-1917.
  3. Tran, T., Poordad, F., and Martin, P. (2003). Treatment of hepatitis C. Current Hepatitis Reports, 2, 3-8.
  4. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/hepatitis-c [2019, May25]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Hepatitis_C [2019, May25]
  6. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hepatitis-c/symptoms-causes/syc-20354278 [2019, May25]