โรคแอดดิสัน (Addison disease)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคแอดดิสัน (Addison disease หรือ Addison’s disease) คือโรคเรื้อรังที่เกิดจาก ต่อมหมวกไตทำงานสร้างฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตได้น้อยกว่าในภาวะร่างกายปกติมากจนไม่พอเพียงต่อการใช้งานของร่างกาย จึงก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆจากภาวะขาดฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบต่อมไร้ท่อ) ซึ่งฮอร์โมนสำคัญของต่อมหมวกไตที่เมื่อร่างกายขาดจะส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆได้มาก คือ

  • ฮอร์โมน Glucocorticoid (Cortisol/คอร์ติโซล) ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานของร่างกายทั้งจากแป้ง/น้ำตาล ไขมัน และโปรตีน, ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย, และการตอบสนองของร่างกายต่อภาวะเครียดต่างๆ และ
  • ฮอร์โมน Aldosterone (Mineralocorticoid hormone) ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเกลือแร่ต่างๆ(เกลือแร่ในเลือด), สมดุลของน้ำและเกลือแร่ผ่านทางไต, และเกี่ยวข้องกับการควบคุมความดันโลหิต

โรคแอดดิสัน ได้ชื่อตามแพทย์คนแรกที่รายงานโรคนี้ในปี ค.ศ. 1855 (พ.ศ. 2398) เป็นแพทย์ชาวอังกฤษคือ นพ. Thomas Addison

โรคแอดดิสันเป็นโรคพบยาก ทั่วโลกพบประมาณ 4 – 144 รายต่อประชากร 1 ล้านคน พบในทุกเพศและทุกวัยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่มักพบในช่วงวัย 30 - 50 ปี และไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ

ทั้งนี้ ต่อมหมวกไตเป็นต่อมหนึ่งในระบบต่อมไร้ท่อ ที่การทำงานของต่อมหมวกไตจะถูกควบคุมโดยตรงจากฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง และต่อมใต้สมองจะถูกควบคุมโดยฮอร์โมนจากสมองไฮโปธาลามัส ดังนั้นการสร้างฮอร์โมนต่อมหมวกไตจึงอยู่ภายใต้การควบคุมของทั้งตัวต่อมหมวกไตเอง, ต่อมใต้สมอง, และสมองส่วนไฮโปธาลามัส โดย

  • เมื่อโรคแอดดิสัน เกิดจากโรคของต่อมหมวกไตโดยตรง: เช่น วัณโรคต่อมหมวกไตที่ทำลายเซลล์ต่อมหมวกไตโดยตรงจนเซลล์สร้างฮอร์โมนลดลงเรียกโรคหรือภาวะนี้ว่า “ภาวะขาดฮอร์โมนต่อมหมวกไตปฐมภูมิ (Primary adrenal insufficiency)”
  • เมื่อโรคแอดดิสัน เกิดจากโรคของต่อมใต้สมอง: ส่งผลให้ต่อมใต้สมองสร้างฮอร์โมนกระตุ้นการทำงานของต่อมหมวกไตลดลง (เช่น โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง) ส่งผลให้ต่อมหมวกไตลดการสร้างฮอร์โมนต่อมหมวกไตส่งผลต่อเนื่องให้เกิดโรคแอดดิสันขึ้น หรือจากร่างกายได้รับยาที่กดการทำงานของเซลล์ต่อมหมวกไต (เช่นยากลุ่ม สเตียรอยด์) ต่อมหมวกไตจะทำงานลดลง เรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะขาดฮอร์โมนต่อมหมวกไตทุติยภูมิ (Secondary adrenal insufficiency)”
  • เมื่อโรคแอดดิสันเกิดจากโรคของสมองไฮโปธาลามัส: (เช่น เนื้องอกสมอง) ส่งผลให้ฮอร์โมนจากสมองไฮโปธาลามัสลดลง ส่งผลถึงฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองลดลง ส่งผลตามลำดับถึงต่อมหมวกไตสร้างฮอร์โมนต่อมหมวกไตลดลงจึงเกิดเป็นโรคแอดดิสันขึ้นเรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะขาดฮอร์โมนต่อมหมวกไตตติยภูมิ (Tertiary adrenal insufficiency)”

นอกจากนี้:

  • เมื่อเกิดอาการของ ‘โรคแอดดิสันอย่างเฉียบพลัน (Acute Addison disease)’ โดยอาการมักรุนแรง มักเกิดจากการใช้ยาสเตียรอยด์รักษานานต่อเนื่อง (เช่น ในโรคภูมิแพ้ โรคออโตอิมมูน โรคหืด) และผู้ป่วยหยุดยา/ขาดยาสเตียรอยด์ทันที จะส่งผลให้ร่างกายขาดสเตียรอยด์ (ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับฮฮร์โมนต่อมหมวกไต)ทันที จึงเกิดอาการโรคแอดดิสันเฉียบพลัน ซึ่งอาการจะรุนแรงมากจนผู้ป่วยอาจเกิดภาวะช็อกและตายได้ ได้เรียกภาวะนี้ว่า “ ภาวะวิกฤตต่อมหมวกไต หรือ Adrenal crisis หรือ Acute adrenal crisis หรือ Addisonian crisis หรือ Acute adrenal insufficiency”
  • เมื่อร่างกายค่อยๆขาดฮอร์โมนต่อมหมวกไตอย่างเรื้อรังในช่วงเวลานานเป็นหลายเดือนหรือเป็นปี ผู้ป่วยมักมีอาการผิดปกติไม่มาก และค่อยเป็นค่อยไปโดยอาการค่อยๆแย่ลงทีละน้อยเรื้อรัง เรียกว่า ‘โรคแอดดิสันเรื้อรัง(Chronic Addison disease)’ อาการหลัก เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า อ่อนล้า เบื่ออาหาร ผอมลงต่อเนื่อง

อนึ่ง: ชื่ออื่นของโรคแอดดิสัน เช่น Adrenocortical hypofunction หรือ Chronic adrenocortical insufficiency หรือ Chronic adrenal insufficiency หรือ Primary adrenal insufficiency หรือ Hypoadrenalism หรือ Hypocortisolism

โรคแอดดิสันเกิดจากอะไร?

โรคแอดดิสัน

โรคแอดดิสันมีสาเหตุได้ดังนี้

ก. ภาวะขาดฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตปฐมภูมิ: สาเหตุที่พบบ่อยคือ ร่างกายสร้างภูมิคุ้ม กันต้านทานโรคต้านการทำงานของเซลล์ต่อมหมวกไตโดยตรง (โรคออโตอิมมูน) ส่วนสาเหตุอื่นที่พบได้น้อย เช่น

  • ต่อมหมวกไตติดเชื้อ เช่น วัณโรค หรือจากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
  • เนื้องอก หรือ มะเร็ง ของต่อมหมวกไต
  • มีภาวะเลือดออกรุนแรงในต่อมหมวกไต เช่น จากอุบัติเหตุ โรคเลือด หรือกินยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • โรคทางพันธุกรรมที่ทำให้เซลล์ต่อมหมวกไตเจริญได้ไม่ดี เช่น โรค Adrenal dysgenesis ซึ่งสาเหตุนี้พบน้อยมากๆ
  • บางครั้งแพทย์หาสาเหตุไม่พบ

ข. ภาวะขาดฮอร์โมนต่อมหมวกไตทุติยภูมิ: เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของโรคแอดดิสัน คือ เกิดจากยารักษาโรคในกลุ่มสเตียรอยด์ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ) โดยยาสเตียรอยด์เหล่านั้นจะไปกดการทำงานของเซลล์ต่อมหมวกไตให้สร้างฮอร์โมนลดลง

นอกจากนั้นสาเหตุอื่นๆที่พบได้บ้างแต่น้อยกว่าสาเหตุแรก เช่น

  • โรคมะเร็ง หรือ โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง
  • การติดเชื้อของต่อมใต้สมอง เช่น วัณโรค (พบได้น้อยมาก)

ค. ภาวะขาดฮอร์โมนต่อมหมวกไตตติยภูมิ: เป็นสาเหตุที่พบได้น้อยมากคือ การเกิดโรคที่สมองไฮโปธาลามัส เช่น เนื้องอกหรือมะเร็งสมอง หรือมะเร็งของอวัยวะต่างๆที่แพร่กระ จาย (มะเร็งระยะที่4)มายังสมองส่วนนี้

ง. ภาวะวิกฤตต่อมหมวกไต: สาเหตุพบบ่อยคือ การหยุดใช้ยาสเตียรอยด์ที่ใช้อย่างต่อเนื่องมานาน (เช่น 6 เดือน)ทันที เช่น ในผู้ป่วยด้วยโรคที่ต้องใช้ยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องเช่น โรคหืด โรคออโตอิมมูน

ง. ภาวะอื่นๆ: ที่พบได้บ้าง เช่น

  • ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ
  • ร่างกายเกิดติดเชื้อรุนแรง เช่น ในภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
  • อุบัติเหตุรุนแรงต่อต่อมหมวกไตที่รวมถึงการผ่าตัดต่อมหมวกไต
  • อุบัติเหตุรุนแรงต่อต่อมใต้สมองหรือการผ่าตัดต่อมใต้สมอง

โรคแอดดิสันมีอาการอย่างไร?

โรคแอดดิสันมีอาการดังนี้

ก. อาการของโรคแอดดิสันจากสาเหตุต่างๆทั้ง 3 กลุ่มหลักดังกล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุฯ’ คือ อาการจากร่างกายขาดฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต โดยทั่วไปไม่มีอาการจำเพาะ เป็นอาการที่พบได้ในโรคต่างๆทั่วไป อาการที่พบได้จะเหมือนกันทั้ง 3 กลุ่ม เช่น

  • อ่อนเพลียมาก เชื่องช้าลง เบื่ออาหาร ผอมลง
  • ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้-อาเจียน
  • มีภาวะขาดน้ำ
  • วิงเวียนถึงเป็นลมโดยเฉพาะเมื่อเปลี่ยนท่าทางหรือลุกขึ้นจากมีความดันโลหิตต่ำลงทันที
  • กระหายอยากกินของเค็มๆมาก (Salt carving)
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
  • เหงื่อออกมาก
  • ผิวหนังเหี่ยว กระดำกระด่าง
  • อารมณ์แปรปรวน

ข. อาการภาวะวิกฤติต่อมหมวกไต: อาการจะเช่นเดียวกับในโรคแอดดิสันทั่วไปดัง กล่าวใน ข้อ ก. แต่จะรุนแรงกว่า และผู้ป่วยอาจมีความดันโลหิตต่ำมาก, เกิดอาการชัก, ภาวะช็อก, โคม่า และอาจเป็นสาเหตุการตายได้

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ควรต้องรีบพบแพทย์/รีบไปโรงพยาบาลเสมอ

แพทย์วินิจฉัยโรคแอดดิสันอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคแอดดิสันได้จาก

  • ประวัติอาการของผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบันและในอดีต การผ่าตัด การใช้ยาต่างๆ การหยุดยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย
  • ตรวจเลือด ดูค่าเกลือแร่ในเลือด, ดูค่าฮอร์โมนต่างๆรวมถึงฮอร์โมนต่อมหมวกไต
  • การตรวจภาพต่อมหมวกไต หรือภาพอวัยวะต่างๆที่แพทย์มีความเห็นว่าอาจเป็นสาเหตุ (เช่น ต่อมใต้สมองและสมอง) เช่น การตรวจอัลตราซาวด์, เอกซเรย์คอมพิวเอร์ (ซีทีสแกน), และ/หรือเอมอาร์ไอ

รักษาโรคแอดดิสันอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคแอดอดสันคือ การให้ยาฮอร์โมนต่อมจากหมวกไต, การรักษาสาเหตุ, และการรักษาตามอาการ

ก. การให้ยาฮอร์โมนต่อมหมวกไต: โดยแพทย์จะให้ยาฮอร์โมนต่อมหมวกไตจนฮอร์โมนในร่างกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ เช่น ยาในกลุ่ม Glucocorticoid ซึ่งอาจให้เป็นยาฉีดหรือยากินโดยจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ, สภาพร่างกายผู้ป่วย, และดุลพินิจของแพทย์

ข. การรักษาสาเหตุ: จะแตกต่างกันในแต่ละสาเหตุเช่น การรักษาเนื้องอกต่อมหมวกไต(เช่น เนื้องอกชนิด ฟีโอโครโมไซโตมา) หรือเนื้องอกต่อมใต้สมอง ด้วยการผ่าตัดก้อนเนื้อ เป็นต้น

ค. การรักษาตามอาการ: คือการรักษาบรรเทาอาการต่างๆ เช่น ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้ปวดท้อง ยาแก้คลื่นไส้ การให้เกลือแร่เมื่อมีภาวะท้องเสียและ/หรืออาเจียนต่อเนื่อง และ /หรือกรณีร่างกายขาดสมดุลของน้ำและเกลือแร่อาจโดยให้ยาผงเกลือแร่โออาร์เอส(ORS) ดื่มและ/หรือร่วมกับการให้สารน้ำเกลือแร่ทางหลอดเลือดดำ

โรคแอดดิสันมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่พบได้จากโรคแอดดิสัน คือ

  • ผลข้างเคียงที่เกิดจากการได้ยาฮอร์โมนต่อมหมวกไตน้อยหรือมากเกินไป
    • เมื่อได้รับยาฮอร์โมนต่อมหมวกไตมากเกินไป ผลข้างเคียงที่พบได้ คือ กลุ่มอาการคุชชิง
    • เมื่อได้รับยาฮอร์โมนต่อมหมวกไตน้อยเกินไป ผลข้างเคียงที่อาจพบได้คือ ภาวะวิกฤติต่อมหมวกไต
  • นอกจากนั้นดังกล่าวแล้วว่า ฮอร์โมนต่อมหมวกไตจะเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายด้วย รวมทั้งยาที่รับประทานก็จะมีผลกดภูมิคุ้มกันฯได้ ดังนั้นผู้ป่วยด้วยโรคนี้จึงมักติดเชื้อต่างๆได้ง่าย

โรคแอดดิสันมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของกลุ่มอาการแอดดิสันขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น

  • ถ้าเกิดจากโรคมะเร็ง การพยากรณ์โรคจะไม่ดี
  • แต่โดยทั่วไปในกรณีที่สาเหตุไม่ใช่จากมะเร็ง ถ้าผู้ป่วยได้รับยาฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตสม่ำเสมอ ไม่ขาดยา และพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ ผู้ป่วยมักจะมีชีวิตอยู่ได้ตามปกติ

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองที่บ้านเมื่อเป็นโรคแอดดิสัน ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาตามแพทย์สั่งให้ถูกต้องครบถ้วน ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • ตรวจสอบจำนวนยาต่างๆที่ใช้อยู่ให้เพียงพอเสมอ ถ้าพบว่ายาอาจหมดก่อนแพทย์นัด ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเพื่อรับยาเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการขาดยาจนเกิดภาวะวิกฤติต่อมหมวกไต
  • รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุให้ได้ดี
  • รักษาสุขภาพร่างกายให้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ปกติ ป้องกันการติดเชื้อ ด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอเมื่อ

  • อาการต่างๆเป็นมากขึ้น เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้-อาเจียน และ/หรือ อ่อนเพลีย มากขึ้น
  • อาการที่เคยเป็นและรักษาหายแล้วกลับมาเป็นอีก เช่น กลับมาท้องเสีย อาเจียน หรืออ่อนเพลีย หลังจากอาการเหล่านี้ดีขึ้น/รักษาหายแล้ว
  • มีอาการใหม่เกิดขึ้น เช่น ไข้สูง ชัก
  • เมื่อกังวลในอาการ
  • ควรไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินเมื่อมีอาการของภาวะวิกฤติต่อมหมวกไต

ป้องกันโรคแอดดิสันอย่างไร?

เมื่อดูจากสาเหตุแล้วการป้องกันโรคแอดดิสันเต็มร้อยเป็นไปไม่ได้ แต่สามารถป้องกัน สาเหตุที่พบได้บ่อยได้คือ สาเหตุจากการกินยาสเตียรอยด์ซึ่งการป้องกัน คือ

  • ไม่ซื้อยากินเองพร่ำเพรื่อโดยไม่รู้ว่าเป็นยาอะไรและไม่ปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อน
  • รักษาควบคุมโรคประจำตัวที่ต้องรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ให้ได้ดีด้วยการปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ ใช้ยาให้ถูกต้อง ไม่ขาดยา และพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • ไม่ซื้อยาแผนโบราณหรือยาสมุนไพรต่างๆใช้โดยยาเหล่านั้นไม่มีการรับรองความปลอด ภัยจาก อย. (คณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข) โดยเฉพาะยาลูกกลอน
  • คอยตรวจสอบปริมาณยาสเตียรอยด์ที่ใช้เพื่อป้องกันการขาดยา ถ้ายาไม่พอกับวันแพทย์นัดต้องไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอเพื่อป้องกันการเกิดภาวะวิกฤติต่อมหมวกไต

บรรณานุกรม

  1. Griffing,G. et al. (2014) http://emedicine.medscape.com/article/116467-overview#showall [2020,June27]
  2. Michels,A., and Michels,N. (2014). Am Fam Physician. 89, 563-568
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Addison%27s_disease [2020,June27]
  4. http://en.wikipedia.org/wiki/Adrenal_insufficiency [2020,June27]
  5. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/000357.html [2020,June27]