เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคเชื้อรา (Fungal infection หรือ Mycosis) คือ โรคที่เกิดจากเนื้อเยื่อ และ/หรืออวัยวะต่างๆของร่างกายติดเชื้อรา จึงก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆขึ้น

รา (Fungus) เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ทั้ง พืช สัตว์ แบคทีเรีย ไวรัส หรือ โปโตซัว ราแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

  • ราชนิดที่มีเซลล์เดียว (Unicellular organism) เรียกว่า ยีสต์ (Yeast)
  • ราชนิดที่มีหลายเซลล์ (Multicellular organism) เรียกว่า Mold หรือ Mould ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้น (Filament หรือ Hyphae)
  • และราชนิดที่เรียกว่า เห็ด (Mushroom)

ราทั้ง 3 กลุ่ม ยังจำแนกเป็นชนิดย่อยๆได้เป็นร้อยๆชนิด ส่วนใหญ่ไม่ก่อโทษต่อมนุษย์ และอาศัยอยู่ร่วมกันกับแบคทีเรียในตัวมนุษย์อย่างมีสมดุล เช่น ที่ผิวหนัง ในช่องปาก ในช่องคลอด และในลำไส้ใหญ่ ซึ่งเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ และ/หรือรากับแบคทีเรียอยู่ในภาวะสมดุล ราจะไม่ก่อโทษ คือไม่ก่อให้เกิดการติดเชื้อราหรือโรคกับคน แต่ถ้าภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องของคน และ/หรือสมดุลระหว่างแบคทีเรียและราเสียไป ราในร่างกายจะแข็งแรงขึ้นจนก่อให้เกิดการติดเชื้อและเกิดโรคได้ เช่น โรคเชื้อราในช่องคลอด เป็นต้น

ราชนิดที่สามารถก่อโทษในคนได้มีเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของชนิดของราทั้งหมด

ยีสต์ เป็นเชื้อราที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาแปล่า ซึ่งชนิดที่พบก่อโรคในคน (Patho genic yeast) ได้บ่อยที่สุด คือ ยีสต์ที่เรียกว่า แคนดิดา (Candida) ที่มักเป็นสาเหตุของเชื้อราในช่องคลอด การติดเชื้อราในผู้ป่วยโรคเอดส์ และเชื้อราในโรค กลาก เกลื้อน โรคน้ำกัดเท้า ซึ่งเชื้อราในโรคทั้ง 3 ชนิดหลังนี้ บางภาวะอยู่ในสภาพเป็นยีสต์ บางภาวะอยู่ในสภาพเป็น Mold

ส่วน Mold มีทั้งชนิดที่มองเห็นและที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งชนิดที่ก่อการติดเชื้อได้บ่อยในคน เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือ Candida, Appergillus, Cryptococcus, Endemic fungi, และอื่นๆ

ส่วนเห็ดไม่ก่อการติดเชื้อ ยกเว้นพิษจากเห็ดพิษ ที่เมื่อบริโภคเห็ดพิษ จะก่อให้เกิดการเป็นพิษต่อร่างกายอย่างรุนแรง โดยอาจมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร (ท้องเสีย) ต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ (กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะกับกล้ามเนื้อการหายใจส่งผลถึงการหายใจลำ บาก) และต่อเซลล์สมอง ส่งผลให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

โรคเชื้อรา เป็นโรคติดเชื้อพบได้บ่อยรองจากการติดเชื้อ ไวรัส และติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นโรคพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสติดเชื้อได้ใกล้เคียงกัน

 

ติดเชื้อราได้อย่างไร?

โรคเชื้อรา

คนได้รับเชื้อรา หรือติดเชื้อราได้หลายทาง ที่พบบ่อย คือ

  • จากการสัมผัสกับเชื้อราโดยตรงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อราที่ผิวหนัง เช่น จากคลุกคลี และ/หรือใช้ของใช้ร่วมกับคนที่เป็นโรคเชื้อรา หรือจากน้ำไม่สะอาด หรือในดิน หรือจากสัตว์เลี้ยง เช่น โรคน้ำกัดเท้า โรคกลาก โรคติดเชื้อราที่เล็บ เป็นต้น
  • จากการมีเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้อราในช่องคลอด และที่อวัยวะเพศชาย
  • จากเชื้อราที่มีอยู่แล้วเป็นปกติในร่างกายโดยมีสมดุลกับแบคทีเรียปกติของร่าง กาย (แบคทีเรียประจำถิ่น หรือ Normal flora) แต่เมื่อสมดุลนี้เสียไป หรือร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำลง เชื้อราเหล่านี้ก็จะรุนแรงขึ้น และก่อการติดเชื้อได้ในทุกอวัยวะที่มันอยู่อาศัย เช่น การติดเชื้อราในช่องปาก ในช่องคลอด และในระบบทางเดินอาหาร
  • การหายใจเอาเชื้อราเข้าไป เช่น การติดเชื้อราในระบบทางเดินหายใจ ในไซนัส และในปอด
  • การหายใจเอาเชื้อราเข้าไปแล้วก่อให้เกิด อาการแพ้เฉียบพลัน (Hypersensitivity reaction) โรคภูมิแพ้ หรือโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
  • การติดเชื้อราทางกระแสโลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อราได้กับทุกอวัยวะในร่างกาย รวมทั้ง สมอง หัวใจ และไต
  • จากการได้รับสารพิษ (Mycotoxin) ของเชื้อราบางชนิดเรื้อรัง ซึ่งพิษเหล่านี้จะส่ง ผลให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งได้ เช่น การเกิดโรคมะเร็งตับจาก สารพิษของเชื้อราที่เรียกว่า อะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ที่เกิดจากเชื้อราที่ขึ้นในอาหาร (โดยเฉพาะในธัญพืชที่เปียกชื้น) โดยมักเป็นเชื้อราในกลุ่ม Aspergillus

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะติดเชื้อรา?

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อรา ได้แก่

  • มีภาวะผิวหนังที่สัมผัสกับสิ่งสกปรกที่มีเชื้อราอยู่ และผิวหนังนั้นเปียกชื้น เช่น ในโรคน้ำกัดเท้า โรคกลาก โรคเชื้อราที่เล็บ
  • คนอ้วน เพราะมักมีเหงื่อมาก
  • คนท้อง เพราะมักมีเหงื่อออกมาก และอยู่ในภาวะร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ
  • เด็กเล็กและผู้สูงอายุ เพราะร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ และมักดูแลรักษาความสะอาดตนเองได้ไม่ดี
  • คนที่ชอบกินยาปฏิชีวนะต่อเนื่อง เพราะส่งผลให้เสียสมดุลระหว่างแบคทีเรียและเชื้อราในร่างกาย
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์ต่อเนื่อง (เช่น ผู้ป่วย โรคหืด โรคภูมิแพ้)
  • ผู้ป่วยที่กินยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น ผู้ที่ปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ/อวัยวะ
  • ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง ผู้ป่วยได้รับรังสีรักษาและ/หรือยาเคมีบำบัด และผู้ติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์

โรคเชื้อรามีอาการอย่างไร?

อาการของเชื้อราเมื่อก่อโรคกับ ผิวหนัง หนังศีรษะ เล็บ และ/หรืออวัยวะเพศภายนอกทั้งหญิงชาย (อวัยวะเพศภายนอกทั้งหญิงชาย เป็นเนื้อเยื่อชนิดเดียวกับผิวหนัง โรคต่างๆร่วมทั้งการติดเชื้อจึงคล้ายคลึงกัน) ที่เรียกว่า “การติดเชื้อราที่ผิวตื้นๆ (Superficial fungal in fection)” โดยทั่วไปจะมีอาการคล้ายคลึงกัน โดยมักเป็นการติดเชื้อในผิวหนังส่วนที่อับชื้น ไม่ค่อยโดนแสงแดด และเป็นตำแหน่งที่สัมผัสกับเชื้อราจากสิ่งแวดล้อม เช่น เล็บ มือ และเท้า (สัมผัส น้ำสกปรก หรือ ดิน หรือสิ่งสกปรกต่างๆ เช่น พื้นห้องน้ำ จาน ชาม อาหารค้าง) และ/หรือ การสัมผัสโดยตรงซึ่งกันและกันกับผู้ที่ติดเชื้อรา (เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การจับ การกอด การจูบ การคลุกคลี) ซึ่งรวมไปถึงการใช้ของใช้ส่วนตัวต่างๆร่วมกันด้วย เช่น เสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า หวี ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า กรรไกรตัดเล็บ เป็นต้น ผิวหนัง/เนื้อเยื่อส่วนที่ติดเชื้อมักมีอาการดังนี้

  • ระคายเคือง อาจแสบ เจ็บ
  • อาจมีลักษณะเหมือนการอักเสบ คือ ปวด/เจ็บ บวม แดง ร้อน
  • คัน
  • มีผื่น ซึ่งผื่นจากเชื้อราบางชนิด จะมีลักษณะเฉพาะ เช่น กลาก เกลื้อน แต่ผื่นจากเชื้อราบางชนิดมีลักษณะเหมือนผื่นทั่วไป ไม่จำเพาะ
  • อาจเกิดเป็นแผล โดยเฉพาะเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้อน โดยมักเกิดจากการเกา ซึ่งเมื่อมีแผล อาจมีน้ำเหลือง/ของเหลว เหมือนแผลติดเชื้อแบคทีเรีย แต่เชื้อราบางชนิดก็ให้ลักษณะเฉพาะ เช่น มีสีขาวเหมือนกับคราบน้ำนมที่พบในปากเด็กทารก เช่น จากการติดเชื้อรา ชนิด แคนดิดา (Candida)

อาการจากการติดเชื้อราของอวัยวะภายในร่างกาย เช่น ปอด ตับ กระเพาะอาหาร หัวใจ และ/หรือสมอง ซึ่งอาจเกิดการติดเชื้อกับอวัยวะเดียว หรือ ติดเชื้อพร้อมกันได้หลายๆอวัยวะ รวมทั้งการติดเชื้อในกระแสโลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) ที่เรียกว่า “การติดเชื้อราชนิดแพร่ กระจาย หรือการติดเชื้อราทั่วร่างกาย (Invasive fungal infection” หรือ “Systemic fungal infection)” ซึ่งอาการที่เกิดขึ้น จะไม่ขึ้นกับชนิดของเชื้อรา แต่จะขึ้นกับว่า เป็นเนื้อ เยื่อ/อวัยวะอะไรที่ติดเชื้อรา โดยจะมีอาการเช่นเดียวกับการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือติดเชื้อไวรัส ดังนั้น จากอาการผู้ป่วยและการตรวจร่างกาย จึงมักไม่สามารถแยกได้ว่า เป็นการติดเชื้อจาก เชื้อรา แบคทีเรีย หรือจากไวรัส เช่น

  • ถ้าเป็นการติดเชื้อราในปอด ผู้ป่วยจะมีอาการไอเรื้อรัง อาจมีเสมหะหรือไม่ก็ได้ ถ้ามีเสมหะ อาจมีเสมหะเป็นเลือดหรือไม่ก็ได้ เมื่อไอมากก็มักมีอาการเจ็บหน้าอกด้านที่มีปอดติดเชื้อ อาจมีไข้ มักเป็นไข้ต่ำๆ แต่อาจมีไข้สูงได้ อาจมี หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นต้น
  • ถ้าเป็นการติดเชื้อราในสมอง นอกจากมีอาการไข้แล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการสับสน ซึม วิงเวียน ปวดศีรษะมาก อัมพฤกษ์/อัมพาต (ขึ้นกับตำแหน่งสมองที่ติดเชื้อ) ชัก และอาจโคม่า
  • เมื่อเป็นการติดเชื้อในกระแสโลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) ผู้ป่วยจะมีไข้สูง อ่อน เพลีย หนาวสั่น ปวดเมื่อยเนื้อตัว ภาวะขาดน้ำ ความดันโลหิตต่ำ ช็อก และมักเสียชีวิต

 

แพทย์วินิจฉัยโรคจากติดเชื้อราอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคจากติดเชื้อราได้เช่นเดียวกับในการวินิจฉัยโรคจากติดเชื้อแบคทีเรีย หรือ ไวรัส คือ จากประวัติทางการแพทย์ต่างๆ เช่น อาการต่างๆ ประวัติการสัมผัสโรค ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน และประวัติการใช้ยาต่างโดยเฉพาะยาปฏิชีวนะและยาในกลุ่มสเตียรอยด์ จากการตรวจร่างกาย และการตรวจรอยโรค ซึ่งถ้าเป็นโรคที่เกิดกับเนื้อเยื่อภาย นอกร่างกาย เช่น ผิวหนัง แพทย์อาจตรวจเชื้อจากการขูดรอยโรค หรือนำเอาของเหลว/ สารคัดหลั่งที่เกิดขึ้นในแผลไปส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์

ส่วนการวินิจฉัยเพิ่มเติมในกรณีเป็นการติดเชื้อราภายในร่างกาย หรือการติดเชื้อชนิดแพร่ กระจาย จะเช่นเดียวกับในการวินิจฉัยโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย หรือไวรัส ได้แก่ การตรวจเพิ่ม เติมต่างๆ เช่น การตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) การตรวจเลือดดูค่าผิดปกติของการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต และดูภาวะเกลือแร่ การตรวจภาพอวัยวะที่มีอาการผิดปกติด้วยเอกซ เรย์ อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ การส่องกล้องตรวจอวัยวะเหล่า นั้น การตรวจเซลล์จากอวัยวะเหล่านั้นด้วยการตรวจทางเซลล์วิทยา การตัดชิ้นเนื้อจากเนื้อเยื่อ/อวัยวะเหล่านั้นเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา และการตรวจเชื้อโรคและ/หรือการเพาะเชื้อโรคจาก เลือด สารคัดหลั่ง เซลล์ และ/หรือ ชิ้นเนื้อ ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย สิ่งผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์

 

 

รักษาโรคเชื้อราได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคเชื้อรา คือ การให้ยาต้านเชื้อรา และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ยาต้านเชื้อรา ซึ่งมีได้ทั้งในรูปแบบ ทา กิน และฉีด อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของยา เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียแล้ว ยาต้านเชื้อรายังมีประสิทธิภาพด้อยกว่า ดังนั้นจึงมักจำเป็นต้องใช้ยารักษาในระยะเวลาที่นานกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย และตัวยามักมีผลข้างเคียงที่รุนแรงกว่า เช่น อาการคลื่นไส้อาเจียน การเบื่ออาหาร และการแพ้ยา

การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่นเดียวกับในการติดเชื้อทั่วไป เช่น ให้ยาลดไข้ ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเมื่อกินอาหารได้น้อย การให้ออกซิเจนเมื่อมีปัญหาทางการหายใจ และการให้เลือดเมื่อผู้ป่วยมีภาวะซีด เป็นต้น

 

โรคเชื้อรารุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

การติดเชื้อรากับเนื้อเยื่อภายนอกร่างกาย เช่น ผิวหนัง เป็นการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง มักรัก ษาได้หายเสมอ แต่อาจใช้ระยะเวลารักษานานกว่าในการติดเชื้อจาก แบคทีเรีย ซึ่งบ่อยครั้งมักใช้เวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ หรือบางชนิดอาจต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องนานหลายเดือน เช่น การติดเชื้อราของเล็บ เป็นต้น แต่โรคมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้เสมอเช่นกัน เมื่อยังไม่สามารถควบคุมดูแลปัจจัยเสี่ยง (ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง) ได้ ซึ่งผลข้างเคียงของการติดเชื้อรากับเนื้อเยื่ออวัยวะภายนอกร่างกาย คือ การเสียคุณภาพชีวิตจากอาการ โดยเฉพาะอาการคัน นอกจากนั้น คือ การติดเชื้อแบคทีเรียซ้อนในตำแหน่งที่ติดเชื้อราซึ่งมักเกิดจากการเกา จากเล็บที่ไม่สะอาดพอ

การติดเชื้อราภายในร่างกาย/การติดเชื้อราชนิดแพร่กระจาย มักเป็นโรคที่รุนแรง หายยาก ดังได้กล่าวแล้วว่า เชื้อจะตอบสนองต่อยาได้น้อย และมีข้อจำกัดในการใช้ยาฆ่าเชื้อราปริ มาณสูงจากผลข้างเคียงของยา รวมทั้งการติดเชื้อราภายในร่างกาย มักพบเกิดในคนที่มีภูมิคุ้ม กันต้านทานโรคต่ำ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง ดังนั้นเมื่อรวมปัจจัยทั้งหมด โรคจึงมักรักษาได้ยาก ผู้ป่วยจึงมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง

 

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อมีอาการต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอภายหลังการดูแลตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นใน 2-3 วัน แต่ถ้าอาการต่างๆเลวลง ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึง 2-3 วัน

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่า ติดเชื้อรากับเนื้อเยื่อภายนอกร่างกาย เช่น ผิวหนัง การดูแลตนเอง คือ

  • รักษาความสะอาดบริเวณที่เกิดอาการ
  • ดูแลให้บริเวณนั้นแห้ง ไม่เปียกชื้น
  • เสื้อผ้า เครื่องใช้ต้องสะอาด และไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น
  • ไม่คลุกคลีกับผู้ติดเชื้อ
  • ตัดเล็บให้สั้นเสมอ เพื่อลดโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียจากการเกา
  • ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง
  • ใช้ยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ขาดยา
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ อาการต่างๆเลวลง หรือผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่อกังวลในอาการ

การดูแลตนเองเมื่อมีการติดเชื้อราภายในร่างกายหรือการติดเชื้อราแบบแพร่กระจาย ที่สำคัญที่สุด คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล ผู้ให้การรักษาดูแลให้ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและรักษาดูแลควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เพราะดังกล่าวแล้วว่า ภาวะนี้จะเป็นปัจจัยให้เกิดการติดเชื้อราภายในร่างกายและเป็นปัจจัยให้เกิดความรุนแรงของการติดเชื้อ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือ อาการ ต่างๆเลวลง หรือเมื่อกังวลในอาการ

 

ป้องกันโรคเชื้อราอย่างไร?

การป้องกันการติดเชื้อรา ได้แก่

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีร่างกายแข็งแรง เพราะดัง กล่าวแล้วว่า การติดเชื้อรามักเกิดในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ
  • รักษาความสะอาดร่างกาย ไม่ให้มีบริเวณที่ เปียก ชื้น
  • รักษาความสะอาด มือ และเท้า เมื่อต้องสัมผัส ดิน และ/หรือน้ำสกปรก
  • รักษาเท้าไม่ให้เปียกชื้น
  • รักษาความสะอาดเครื่องใช้ ของใช้ส่วนตัว ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น
  • ไม่คลุกคลีกับผู้ติดเชื้อรา
  • เมื่อมีเพศสัมพันธ์ต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง

บรรณานุกรม

  1. http://labtestsonline.org/understanding/conditions/fungal/ [2017,Jan14]
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Fungus[2017,Jan14]
  3. Kin-mam, H. et al. (2010). Common superficial fungal infections-short review. The Hong Kong Medical Diary. Medical Bulletin. 75, 23-27.
  4. http://en.wikipedia.org/wiki/Mold[2017,Jan14]
  5. http://en.wikipedia.org/wiki/Mold_health_issues[2017,Jan14]
  6. http://en.wikipedia.org/wiki/Mycosis [2017,Jan14]
  7. Pfaller,M. et al. (2006). Invasive fungal pathogens: Current epidemiological trends. Clin Infect Dis.43 (suppl),s3-s14.
Updated 2017,Jan14