โรคเครียดจากการเมือง (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

นพ.เจษฎา กล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างประชาชนในพื้นที่ชุมนุมกับประชาชนนอกพื้นที่ชุมนุม หรือต่างจังหวัด พบว่า ประชาชนนอกพื้นที่ชุมนุมจะเครียดและวิตกกังวลกลัวความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคมมากกว่าประชาชนในพื้นที่ชุมนุม

ทั้งนี้ วิเคราะห์ได้ว่าประชาชนในพื้นที่ชุมนุมนั้นได้มีโอกาสมาพบปะพูดคุยกับคนในอุดมการณ์เดียวกัน เป็นเหมือนการมาพบเพื่อน ได้พูด ได้ระบาย ได้รับฟังปัญหาร่วมกัน ขณะที่ประชาชนนอกพื้นที่ชุมนุมหรือต่างจังหวัดส่วนใหญ่รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อหรือสังคมออนไลน์ที่อาจรับแบบซ้ำไปซ้ำมา เห็นทั้งภาพและเสียงที่อาจถูกตัดต่อที่กระตุ้นอารมณ์และความรู้สึกให้เกิดความเครียด หรือความวิตกกังวลขึ้นได้

นพ.เจษฎา กล่าวอีกว่า ประชาชนนอกพื้นที่ชุมนุมหรือประชาชนที่ติดตามข่าวสาร ควรแบ่งเวลาในการติดตามข่าวสารบ้านเมือง การดูแลครอบครัว การทำงาน และการพักผ่อนอย่างเหมาะสม ควรติดตามข่าวสารรอบด้าน โดยเฉพาะจากสื่อหลักที่เสนอข้อมูลจากทุกฝ่ายและมุ่งเน้นการหาทางออก โดยไม่ควรติดตามต่อเนื่องนานเกิน 2 ชั่วโมง

ควรมองความขัดแย้งเป็นเรื่องความเห็นที่ต่างฝ่ายต่างปรารถนาดีต่อบ้านเมือง ไม่ถือเป็นเรื่องที่จะต้องรู้สึกโกรธหรือเกลียดชังกัน โดยเฉพาะครอบครัวควรหาโอกาสชักชวนสมาชิกทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายอื่นๆ ร่วมกัน นอกเหนือจากการติดตามสถานการณ์บ้านเมืองเพียงอย่างเดียว และสามารถปรึกษาปัญหาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับคำแนะนำในการปฏิบัติตนกรณีที่มีอาการเครียดจากการเมือง มีดังนี้

  1. หันเหความสนใจไปเรื่องอื่นๆ
  2. ลดความสำคัญของปัญหาลงมาชั่วขณะ ให้ความสำคัญกับเรื่องเร่งด่วนตามหลักอื่นๆ บ้าง
  3. หาทางระบายออกโดยเลือกพูดคุยกับผู้ที่มีแนวคิดใกล้เคียงกัน
  4. ออกกำลังกายและพักผ่อน
  5. ฝึกวิชาผ่อนคลายตนเอง เช่น ฝึกสติและสมาธิ ฝึกโยคะ ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้ออย่างการกำหนดลมหายใจเข้าออก
  6. อาจจะใช้ศาสนามาช่วยขัดเกลาจิตใจเพื่อปล่อยวาง

ทั้งนี้ อาการดังกล่าวจะหายไปได้เอง เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง หรือละความสนใจในเรื่องอื่นบ้าง อย่างไรก็ดี หากมีอาการทั้งหมดเกินกว่า 1 สัปดาห์ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาหรือจิตแพทย์

ส่วน นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า ในกรณีมีความเห็นแตกต่างกัน ควรคุยกันโดยมีกติการ่วมกันว่า จะคุยเพื่อทำความเข้าใจและเรียนรู้ความคิดเห็นของอีกฝ่าย โดยต้องรับฟังกัน ไม่มุ่งเอาชนะคะคานกัน แต่ถ้าคุยกันไปแล้วรุนแรงขึ้นจนระงับอารมณ์ไม่ได้ ก็ให้เลิกคุยเรื่องนี้เสีย ไม่ต้องใช้เหตุผลมาเถียงกัน เพราะยิ่งเถียงจะยิ่งเครียด และไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้น

สำหรับการจัดการกับความเครียดนั้น นพ.มล.สมชาย กล่าวว่า ให้พยายามทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ อย่าติดตามข่าวสารจนอดหลับอดนอน ถ้าติดตามข่าวสารก็ควรติดตามทุกฝ่าย อย่าฟังด้านเดียวเพราะจะไม่เห็นทางออก และให้มีส่วนร่วมทางการเมืองตามอัตภาพ เช่น ร่วมลงชื่อ ส่งไปรษณียบัตร หรือเข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบ อย่างมีสติ เป็นครั้งคราว โดยไม่ให้กระทบต่อการงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยลดความรู้สึกผิดว่าเราไม่ได้ทำอะไรเพื่อบ้านเมือง กรณีเราเห็นด้วยกับฝ่ายผู้ชุมนุม

แหล่งข้อมูล:

  1. ม็อบล้มระบอบทักษิณไร้เครียดกังวล เหตุพบเพื่อนร่วมอุดมการณ์ต้าน “แม้ว” - http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000146345 [2013, December 9].
  2. สุขภาพจิตกับวิกฤตการเมือง http://www.social.dmh.go.th/social/webnew/people/knowledge_view.php?pID=156 [2013, December 9].
  3. Political Stress Syndrome - http://www.arunsawat.com/board/index.php?topic=10343.0 [2013, December 1].