โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคหัวใจ (Heart disease) หรือโรคที่เกิดกับหัวใจ ซึ่งมีได้หลายโรค แต่ที่พบบ่อยที่สุดเป็นปัญหาทางสาธารณสุขและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตได้สูงติด 1 ใน 4 ของสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนเกือบทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยคือ โรคหัวใจที่เกิดจากโรคของหลอดเลือดหัวใจหรือ ที่เรียกว่า ‘โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease ย่อว่า CAD หรือ Coronary heart disease ย่อว่า CHD)’ ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึง ‘โรคหัวใจ’ มักหมายถึงโรคนี้ ดังนั้นบทความนี้จึงกล่าวถึง โรคหัวใจเฉพาะเกิดจากสาเหตุนี้เท่านั้น ซึ่งคือ ‘โรคหลอดเลือดหัวใจ’

โรคหลอดเลือดหัวใจ คือ โรคเกิดจากหลอดเลือดหล่อเลี้ยงหัวใจซึ่งมีชื่อเรียกว่า ‘Coronary artery’ ตีบแคบเล็กลงหรือตีบตัน จึงส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจจึงทำงานผิดปกติส่งผลถึงอวัยวะต่างๆขาดเลือดไปด้วย จึงเกิดมีอาการต่างๆได้มากมาย

โรคหลอดเลือดหัวใจเป็นโรคของผู้ใหญ่ตั้งแต่วัยหนุ่มสาวไปจนถึงในผู้สูงอายุ โดยพบได้สูงตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ พบโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ชายได้สูงกว่าในผู้หญิง แต่หลังจากวัยหมดประจำเดือนถาวรแล้ว ทั้งผู้หญิงมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้เช่นเดียวกับผู้ชาย

โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดได้อย่างไร?

โรคหัวใจ

สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจคือ การมีไขมันจับที่ผนังของหลอดเลือดหัวใจที่เรียกว่า ‘พลาค (Plaque)’ จึงส่งผลให้ผนังหลอดเลือดแข็งหนา (หลอดเลือดแดงแข็ง) ช่องในหลอดเลือดจึงตีบแคบลง

และเมื่อพลาคนี้ก่อให้เกิดการอักเสบของผนังหลอดเลือด หรือผนังหลอดเลือดบาดเจ็บเสียหาย ร่างกายจะซ่อมแซมผนังฯส่วนเสียหายโดยการจับตัวเป็นก้อนของเกล็ดเลือดและเม็ดเลือดขาว จึงยิ่งส่งผลให้ช่องในหลอดเลือดตีบแคบลงอีก เลือดจึงหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลงอีก จนเกิดเป็น ‘โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด’

และบ่อยครั้งการซ่อมแซมจากร่างกายนี้ ก่อให้หลอดเลือดหัวใจถึงอุดตัน จึงส่งผลให้เกิด ’โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย’ ซึ่งอาจเกิดได้อย่างเฉียบพลัน และเมื่อรุนแรงจะเป็นสาเหตุให้หัวใจหยุดทำงานทันที จึงเสียชีวิตได้ทันทีกะทันหัน

นอกจากนั้น หลอดเลือดหัวใจ ยังสามารถบีบหดตัวได้ ดังนั้นเมื่อมีการหดตัวของหลอดเลือดฯ จึงส่งผลให้รูท่อหลอดเลือดฯตีบแคบลง จึงเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้ เช่น จากภาวะมีความเครียดสูง เป็นต้น

โรคหลอดเลือดหัวใจมีปัจจัยเสี่ยงไหม?

ปัจจัยเสี่ยงหรือกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่

ก.ปัจจัยที่สามารถป้องกัน/ควบคุมได้: ที่สำคัญ คือ

  • โรคไขมันในเลือดสูง
  • โรคเบาหวาน เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงให้หลอดเลือดอักเสบ
  • โรคความดันโลหิตสูงจากผนังหลอดเลือดแข็งตัว (หลอดเลือดแดงแข็ง) และมักเกิดร่วมกับโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูง
  • สูบบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ทำลายเซลล์ของหลอดเลือดโดยตรง ก่อให้หลอดเลือดแข็งและยังทำลายเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจโดยตรงด้วย
  • อ้วน เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
  • ขาดการออกกำลังกาย เพราะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอ้วน
  • กินอาหารไม่มีประโยชน์และกินอาหารไขมันสูง จึงมีผลต่อสุขภาพของเซลล์ต่างๆทั่วร่างกายรวมทั้งของหลอดเลือดหัวใจ
  • ความเครียด เพราะส่งผลให้หลอดเลือดต่างๆโดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองบีบหดตัว ช่องในหลอดเลือดจึงตีบแคบ กล้ามเนื้อหัวใจและเซลล์สมองจึงขาดเลือดได้
  • โรคอ้วนในเด็ก(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘เด็กอ้วน เด็กน้ำหนักตัวเกิน’)

ข. ปัจจัยที่ไม่สามารถป้องกัน/ควบคุมได้: เช่น

  • พันธุกรรม: เพราะพบโรคได้สูงกว่าในคนมีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
  • อายุ: ยิ่งอายุมากขึ้น เซลล์ในร่างกายที่รวมถึงเซลล์หลอดเลือดจะเสื่อมตามไปด้วย
  • เพศ: ผู้ชายพบเกิดได้สูงกว่าผู้หญิง

โรคหลอดเลือดหัวใจมีอาการอย่างไร?

อาการพบบ่อยของโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น

  • ไม่มีอาการเมื่อเริ่มเป็นโรคหรือเมื่อหลอดเลือดยังตีบไม่มาก
  • เหนื่อยง่ายเมื่อออกแรงหรือออกกำลัง
  • เจ็บแน่นหน้าอกเมื่อใช้กำลังเพิ่มขึ้นหรือเมื่อมีความเครียด (ผู้หญิงมักไม่ค่อยพบมีอาการนี้) อาการอาจร้าวไปที่ขากรรไกร ไหล่ และ/หรือ แขนด้านใดก็ได้ แต่มักเป็นด้านซ้าย
  • อาการของโรคหัวใจล้มเหลว (หัวใจวาย) เช่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว บวมหน้าแขน/ขา
  • ความดันโลหิตสูง
  • ตรวจเลือดพบไขมันในเลือดสูง

แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว โรคประจำตัว อายุ อาชีพ/การงาน
  • การตรวจร่างกาย ตรวจวัดความดันโลหิต การตรวจสัญญาณชีพ
  • การตรวจเลือดดู ระดับไขมันในเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด(โรคเบาหวาน)
  • ตรวจภาพหัวใจและปอดด้วยเอกซเรย์
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อาจทั้งในภาวะปกติและในภาวะออกกำลังกาย
  • การตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ขึ้นกับ อาการผู้ป่วย ความรุนแรงของอาการ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจภาพหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง (เอคโคหัวใจ) และ/หรือด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ
    • ตรวจภาพหลอดเลือดหัวใจด้วยการใส่สายสวน(Cardiac catheterization)

รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ ขึ้นกับความรุนแรงของโรค และดุลพินิจของแพทย์ เช่น

ก.ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต: ที่สำคัญ เช่น

  • กินอาหารที่ช่วยให้ความแข็งแรงกับหลอดเลือดและหัวใจ ซึ่งคือ
    • อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ในปริมาณที่เหมาะสมที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
    • จำกัดอาหารไขมัน
    • จำกัดอาหารแป้งและน้ำตาล
    • จำกัดอาหารเค็ม/เกลือโซเดียม
    • แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘อาหารป้องกันโรคหัวใจ’
  • การออกกำลังกายทุกวัน ที่เหมาะสมกับสุขภาพ และ/หรือตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ดังกล่าวใน’หัวข้อปัจจัยเสี่ยงฯ’โดยเฉพาะการสูบบุหรี่

ข.ดูแลรักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง: เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง

ค.การใช้ยาต่างๆ: ตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น

  • กินยาขยายหลอดเลือดหัวใจ
  • กินยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Aspirin
  • กินยาลดไขมันในเลือด

ง. การขยายหลอดเลือดด้วยเทคนิคต่างๆ และอาจเป็นการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคหัวใจ:การซ่อมรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ

จ.การนวดกระตุ้นการทำงานของหัวใจ(Enhanced external counter pulsation ย่อว่า EECP): คือเทคนิคการนวดเฉพาะที่ใช้เครื่องมือนวดเฉพาะ โดยนวดบริเวณ ขา น่อง และสะโพกทั้งสองข้าง เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต และกระตุ้นให้ร่างกายสร้างหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจขึ้นใหม่ทดแทนหลอดเลือดฯที่อุดตัน

โรคหลอดเลือดหัวใจรุนแรงไหม? รักษาหายไหม?

โรคหลอดเลือดหัวใจ จัดเป็นโรคเรื้อรังและรุนแรง เป็นสาเหตุให้เกิดทั้งความพิการและเสียชีวิตได้

  • ความพิการ เช่น
    • เป็นสาเหตุให้สมองขาดเลือด จากหัวใจทำงานลดลง จึงเกิดภาวะ อัมพฤกษ์ อัมพาต/ โรคหลอดเลือดสมองได้ง่าย และ
  • คุณภาพชีวิตลดลงเช่น ต้องจำกัดการออกแรงจาก
    • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และ/หรือ
    • กล้ามเนื้อหัวใจตาย และ/หรือ
    • โรคหัวใจวาย /โรคหัวใจล้มเหลว(โรคหัวใจ: หัวใจวายจากโรคหลอดเลือดหัวใจ)

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคหัวใจ?เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด? เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ฉุกเฉิน?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจที่สำคัญ เช่น

  • ปฏิบัติตาม แพทย์/พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆตามแพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • จำกัดอาหารไขมันทุกชนิดโดยเฉพาะไขมันจากสัตว์
  • ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพสม่ำเสมอ หรือตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
  • ควบคุมอาหารและออกกำลังกายไม่ให้เกิดโรคอ้วน
  • ดูแลรักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะ โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง
  • รักษาสุขภาพกายสุขภาพจิตด้วยการรักษา สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อร่างกายแข็งแรงและมีสุขภาพจิตที่ดี ลดความเครียด
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตรงตามนัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม
    • อาการต่างๆเลวลง
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ปวดท้องมาก/ปวดท้องต่อเนื่อง มีจุดห้อเลือดตามร่างกายมาก
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉินเมื่อ
    • เจ็บแน่นหน้าอกมาก อาจเจ็บร้าวขึ้นขากรรไกรไปยังหัวไหล่หรือแขน
    • เหนื่อยมาก หายใจขัด/หายใจลำบาก
    • ชีพจรเต้นอ่อน ชีพจร/หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก วิงเวียน จะเป็นลม หรือเป็นลม
    • หยุดหายใจและ/หรือ
    • โคม่า

ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจได้ไหม?

วิธีป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ ที่สำคัญ เช่น

  • ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดย
    • การออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพ
    • จำกัดอาหารไขมัน แป้ง น้ำตาล เค็ม
    • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ โดยจำกัดปริมาณอาหารไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
    • ควบคุมน้ำหนักตัว (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน’)
    • ควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง และ
    • รักษา สุขอนามัยพื้นฐาน(สุชบัญญัติแห่งชาติ)
    • ไม่สูบบุหรี่ เลิกบุหรี่ ที่รวมถึงสูบบุหรี่มือสอง
  • ตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอเริ่มตั้งแต่อายุ 18 - 20 ปี
  • ปรึกษาแพทย์เสมอเมื่อมีความกังวลในอาการหรือสงสัยในสุขภาพของตนเอง

ควรพบแพทย์ตรวจโรคหัวใจเมื่อไร?

ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตรวจโรคหัวใจเมื่อ

  • เมื่อยังไม่มีอาการผิดปกติ:
    • ควรพบแพทย์ทั่วไปในการตรวจสุขภาพประจำปี
  • แต่เมื่ออยู่ในกลุ่มเสี่ยง/มีปัจจัยเสี่ยง:
    • อาจปรึกษาแพทย์โรคหัวใจได้เลย ไม่ว่าจะอายุเท่าไร รวมทั้งในเด็กอ้วน

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Coronary_disease [2019,Jan19]
  3. https://emedicine.medscape.com/article/153647-overview#showall [2019,Jan19]
  4. https://www.nhlbi.nih.gov/health-topics/coronary-heart-disease-risk-factors [2019,Jan19]