โรคหลอดเลือดสมอง ตอน การให้อาหารทางสายยาง

การให้อาหารทางสายยาง

การให้อาหารทางสายยาง (Nasogastric tube : NG tube) คืออะไร

  • ผู้ป่วยอัมพาตที่มีปัญหาด้านการกลืน ไม่สามารถกลืนอาหารได้เอง หรือสำลักอาหาร ไม่รู้สึกตัวดี ต้องให้อาหารเหลวผ่านทางสายยางลงไปในกระเพาะอาหารโดยตรง
  • สายยางให้อาหาร ใส่ทางรูจมูกผ่านลงไปในหลอดอาหาร (NG tube) หรือเจาะผ่านทางหน้าท้อง (Gastrostomy tube) เข้าสู่กระเพาะอาหารโดยตรง

ทำไมต้องให้อาหารทางสายยาง

  • ผู้ป่วยมีปัญหาด้านการกลืนอาหาร สำลักอาหาร ไม่รู้สติ แต่มีความจำเป็นต้องได้สารอาหาร และน้ำ เพราะคนเราขาดสารอาหารไม่ได้
  • การให้น้ำเกลือหรือสารอาหารทางหลอดเลือดดำมีข้อจำกัด เช่น ติดเชื้อง่าย ให้ที่บ้านไม่ได้ ไปทำงานไม่ได้ และอาจได้พลังงานไม่เพียงพอ ค่าใช้จ่ายสูงกว่ามาก

อันตราย ยากหรือไม่

  • การให้อาหารทางสายยาง (NG tube) ไม่มีอันตราย ไม่ยากเลย ถ้าได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยและญาติ พยาบาลและนักโภชนาการจะสอนวิธีการทำอาหารเหลว และวิธีการให้อาหารเหลวทางสายยางอย่างถูกต้องกับผู้ดูแล หรือญาติ ให้ญาติหรือผู้ดูแลทำได้อย่างง่าย และปลอดภัย

ต้องเตรียมความพร้อมอะไรบ้าง

  • ผู้ป่วย ญาติ ผู้ดูแลต้องทำความเข้าใจให้ดีว่าวิธีการให้อาหารทำอย่างไร ทำใจยอมรับว่ามีความจำเป็นต้องให้อาหารทางสายยาง
  • ญาติ หรือผู้ดูแลต้องฝึกทำอาหาร และวิธีการให้อาหารเหลวจนมั่นใจ
  • ถ้ามีปัญหา ข้อสงสัย ให้สอบถามพยาบาลหรือแพทย์ได้ตลอดเวลา

ต้องให้อาหารทางสายยางนานเท่าใด

  • ระยะเวลาการให้อาหารเหลวทางสายยางนานเท่าใดนั้น ขึ้นกับผู้ป่วยสามารถกลืนอาหารเองได้หรือไม่ ความรู้สึกตัวดีขึ้น ไม่สำลักอาหาร
  • เริ่มต้นจะให้อาหารเหลวทางสายยางผ่านทางรูจมูกก่อนเสมอ แต่ถ้าไม่สามารถกลืนอาหารได้เลยเป็นเวลานาน ก็ต้องใส่สายยางเจาะหน้าท้องเข้าสู่กระเพาะอาหารโดยตรง

การให้อาหารทางสายยางไม่มีอันตราย ปลอดภัยแน่นอน