โรคสมองฝ่อ อีกหนึ่งอันตรายจากการถ่ายเลือด (ตอนที่ 3 ตอนจบ)

อาการของ CJD บางอย่างจะคล้ายกับอาการผิดปกติของระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) หรือ โรคฮันติงตัน [Huntington’s disease เป็นโรคทางพันธุกรรมโรคหนึ่งที่ทำให้เกิดการเสื่อมของระบบประสาท ส่งผลต่อการควบคุมการประสานงานของกล้ามเนื้อ ทำให้สติปัญญาเสื่อมถอย และนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้ ส่วนใหญ่ปรากฏอาการในช่วงวัยกลางคน]

ปัจจุบันยังไม่มีการวินิจฉัย CJD ได้โดยวิธีใดวิธีเดียว แต่อาศัยหลายวิธีรวมกัน การวินิจฉัยโรค CJD สามารถทำได้โดย

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram = EEG)
  • ตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid = CSF)
  • ตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ (Magnetic resonance imaging = MRI)
  • ตรวจเลือดเพื่อหาพรีออน (อย่างไรก็ดียังไม่เป็นที่ยืนยันว่าจะสามารถหาพรีออนได้ในระยะแรกของการเกิดโรคได้)

ทางเดียวที่จะยืนยันว่าเป็น CJD ก็คือ การตัดเนื้อเยื่อที่สมองไปตรวจ (Brain biopsy) หรือการชันสูตรศพ (Autopsy) สำหรับการตัดเนื้อเยื่อที่สมองไปตรวจอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้และการผ่าตัดก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้เนื้อเยื่อในส่วนที่เป็นโรคโดยทีเดียว นอกจากนี้การผ่าตัดก็ไม่ได้ช่วยรักษาโรคให้หายได้

ส่วนการชันสูตรศพนั้นจะมีการผ่าเอาสมองทั้งหมดไปตรวจสอบหลังการเสียชีวิต อย่างไรก็ดีทั้งการตัดเนื้อเยื่อและการชันสูตรล้วนสร้างความเสี่ยงให้กับผู้ที่ทำการผ่าตัด เพราะอาจเกิดการติดเชื้อ (Self-inoculation) โดยไม่ตั้งใจก็ได้

CJD ไม่สามารถแพร่เชื้อทางอากาศหรือการสัมผัสกับผู้ป่วย อย่างไรก็ดีควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเนื้อเยื่อสมองหรือน้ำไขสันหลังของผู้ป่วยเพื่อป้องกันการติดต่อ

ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีทางรักษาให้หายได้ นักวิจัยได้ทำการทดลองใช้ยา Amantadine ยา Steroids ยา Interferon ยา Acyclovir ยาต้านไวรัส (Antiviral agents) และยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) แล้ว แต่ก็ไม่ได้ผล ดังนั้น จึงมีเพียงการบรรเทาอาการและทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายเท่าที่จะทำได้ โดยยาที่ทำมาจากฝิ่น (Opiate) สามารถช่วยลดอาการเจ็บปวดได้ และยา Clonazepam และยา Sodium valproate อาจช่วยลดอาการกระตุกของกล้ามเนื้อได้

ในช่วงสุดท้ายของการเป็นโรค การพลิกตัวผู้ป่วยบ่อยๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้นและไม่เป็นแผลกดทับ (Bedsores) การใช้สายสวนเพื่อช่วยในการถ่ายปัสสาวะกรณีที่ควบคุมกระเพาะปัสสาวะไม่ได้ นอกจากนี้อาจมีการให้อาหารเหลวทางสายยางด้วย

สำหรับมาตรการป้องกันโรคนั้น ให้หลีกเลี่ยงการใช้เนื้อเยื่อจากผู้ป่วยในการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะหรือเนื้อเยื่อ การวัดคลื่นสมองด้วยแผ่น (Electrode) และการใช้เครื่องมือผ่าตัดที่อาจปนเปื้อนเนื้อเยื่อจากผู้ป่วย CJD นั้นจะต้องทำให้เครื่องมือเหล่านี้ปลอดเชื้อทุกครั้งก่อนนำไปใช้ในครั้งต่อ ไป

แหล่งข้อมูล:

  1. Creutzfeldt–Jakob disease. http://en.wikipedia.org/wiki/Creutzfeldt%E2%80%93Jakob_disease [2013, December 20].
  2. CJD. http://www.cdc.gov/ncidod/dvrd/cjd/ [2013, December 20].