โรคลมหลับ หรือ ภาวะง่วงเกิน (Narcolepsy)

สารบัญ

บทนำ

การนอนหลับ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในทุกวันของคนทั่วไป แต่บางคนนอนหลับยากก็เกิดปัญหา บางคนกลับเกิดปัญหาตรงกันข้ามคือ หลับง่ายเกินไป นอนหลับได้ตลอดเวลา แม้ขณะทำกิจกรรมต่างๆก็หลับได้ เรียกว่า หลับทั้งยืน แม้กระทั้งกำลังขับรถ หรือมีเพศสัมพันธ์ก็หลับได้ทันที โรคนี้คืออะไร แปลกมาก ลองติดตามบทความนี้ครับ “โรคลมหลับ หรือภาวะง่วงเกิน (Narcolepsy)”

โรคลมหลับคืออะไร?

โรคลมหลับ

โรคลมหลับ (Narcolepsy) คือ โรคที่มีอาการง่วงนอน หลับได้ในทุกสถานการณ์ หรืออย่างกะทันหัน

คำว่า Narcolepsy มาจาก 2 คำในภาษากรีก รวมกัน คือ Narco แปลว่า เซื่องซึม ง่วง และ Lepsy แปลว่า อาการเป็นลม หรือชัก จึงเป็นเหตุผลที่เรียกว่า โรคลมหลับ (แต่ศัพท์แพทยศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2547 แปลคำนี้ว่า ภาวะง่วงเกิน) ซึ่งเป็นชื่อที่บ่งบอกถึงอาการของผู้ป่วยได้ชัดเจนด้วย

โรคลมหลับเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ยังไม่มีข้อมูลจากการศึกษาทางการแพทย์ที่ชัดเจนว่า โรคลมหลับเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่สันนิษฐานว่า เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองในกลุ่มสารสื่อประสาทที่เรียกว่า Hypocretin (เป็นสารที่กระตุ้นให้ตื่น) และจากปัจจัยผิดปกติด้านพันธุกรรม

ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคลมหลับ?

ผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคลมหลับมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย และพบโรคได้บ่อยในวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ ในสหรัฐอเมริกาพบโรคนี้ได้ประมาณ 5 รายในประชากร 10,000 คน ส่วนประเทศไทย ไม่มีข้อมูล

โรคลมหลับมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคลมหลับประกอบด้วย 4 อาการหลัก คือ

  • อาการง่วงนอนฉับพลัน เกิดขึ้นวันหนึ่งได้หลายๆครั้ง อาจมากกว่า 10 ครั้งต่อวันก็ได้
  • อาการผล็อยหลับทันที และ/หรือ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง คอตก ขยับแขนขาไม่ ได้ทันที โดยตัวกระตุ้นคือ เมื่อมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง หรือมีเสียงดัง หรือตกใจ อาการเหล่านี้จะเป็นเพียงชั่วครู่ หรือเป็นพักๆ หรือนานๆเป็นครั้ง ต่างกันในแต่ละคน
  • อาการผีอำ คือ ภาวะที่ไม่สามารถขยับตัวได้ขณะกำลังจะตื่น คล้ายอาการอัมพาต ทั้ง ๆที่บางครั้งก็รู้สึกตัว แต่พูดไม่ได้ เคลื่อนไหวไม่ได้ เป็นนานหลายนาที
  • เห็นภาพหลอนขณะกำลังจะหลับ โดยเห็นเป็นสิ่งน่ากลัว หรือสัตว์รูปร่างประหลาด

นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น พฤติกรรมทำอะไรโดยไม่รู้ตัว ไม่มีสมาธิ ปวดศีรษะ ขี้ลืม นอนไม่หลับกลางคืน

อนึ่ง

  • โรคลมหลับ ไม่สัมพันธ์กับ โรคลมชัก แต่อาจมีอาการใกล้เคียงกัน ทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยผิดพลาดได้ แต่ก็พบว่า มีผู้ป่วยที่พบทั้งสองโรค ร่วมกันได้โดยบังเอิญ และ
  • อาการ มักเริ่มครั้งแรกเมื่อมีภาวะเครียดรุนแรง หรือมีการเปลี่ยนเวลานอนกะทันหัน เช่น การเดินทางข้ามทวีป

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

โรคลมหลับจะค่อยๆเริ่มมีอาการรุนแรงขึ้น โดยระยะแรกจะง่วงนอนมากในเวลากลางวัน และหลับบ่อยๆ โดยที่ไม่สามารถควบคุม หรือฝืนให้ตื่นได้ ยิ่งอากาศร้อนก็ยิ่งมีอาการ ทั้งนี้ อา การจะดีขึ้นเมื่อนอนหลับเป็นช่วงๆ แต่ต่อมาจะนอนหลับไม่ปกติในตอนกลางคืน คือ ยิ่งนอนไม่หลับ กลางวันจะง่วงหลับบ่อยขึ้น และต่อมาก็มีผลอยหลับมากขึ้น และบ่อยขึ้น ในที่สุดก็จะมีอาการมากขึ้นๆ จนครบทั้ง 4 ข้อ ดังกล่าวข้างต้นในหัวข้อ อาการ แต่พบได้ไม่บ่อยที่จะมีอาการครบทั้ง 4 ข้อ

ดังนั้น ควรมาพบแพทย์ ตั้งแต่ระยะแรกที่เริ่มมีอาการง่วงนอนบ่อยผิดปกติในเวลากลาง วัน

อนึ่ง ตัวกระตุ้นให้เกิดเกิดอาการ และ/หรือมีอาการมากขึ้น นอกจากอากาศร้อนแล้ว ยังได้แก่ เสียงดัง อารมณ์เครียด อารมณ์โกรธ

แพทย์วินิจฉัยโรคลมหลับได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคลมหลับได้จาก ประวัติจากอาการดังกล่าวข้างต้นในหัวข้อ อาการ ร่วม กับการตรวจร่างกาย การตรวจลักษณะการนอนหลับ (Polysomnogram) และการตรวจลักษณะของการง่วงนอน (Multiple sleep latency test)

รักษาโรคลมหลับอย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีรักษาโรคลมหลับให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นได้ มาก ซึ่งการรักษา ต้องใช้เวลานานหลายปี และต้องรักษาไปตลอด ซึ่งถ้าผู้ป่วยให้ความร่วมมืออย่างดี อาการมักจะดีขึ้นในช่วงระยะเวลาประมาณ 6 เดือนหลังการรักษา โดยการรักษามีดังนี้

  • การรักษาอาการง่วงนอนมากโดย การให้ยากระตุ้นประสาท เช่น อนุพันธุ์ของยาบ้า, การใช้พฤติกรรมบำบัด, การปรับพฤติกรรมการนอน, และการจัดให้มีเวลางีบหลับในเวลากลาง วัน
  • การรักษาอาการผล็อยหลับ โดยใช้ยาต้านเศร้า (ยา Venlafaxine)
  • ให้ความรู้ด้านโรคกับผู้ป่วย ญาติ เพื่อนร่วมงาน โรงเรียน ที่ทำงาน ทราบด้วย เพื่อการเข้าใจธรรมชาติของโรค เข้าใจผู้ป่วย และเพื่อสามารถช่วยเหลือ ดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

โรคลมหลับมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคลมหลับ คือ เป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่สามารถบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงปกติได้

โรคลมหลับมีอันตรายมาก สืบเนื่องจากผลข้างเคียงของโรค/อาการ เพราะจะหลับง่ายมาก ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น ขณะขับรถ หรือขณะทำกิจกรรมต่างๆ และยังผลให้สมรรถภาพการทำงานลดลง คุณภาพชีวิตจึงด้อยลงตามไปด้วย ซึ่งถ้าเป็นนานๆ อาจเกิดภาวะซึมเศร้า และมักตกงาน

เมื่อเป็นโรคลมหลับควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

การดูแลตนเองที่เหมาะสมเมื่อเป็นโรคลมหลับ ประกอบด้วย

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
  • ทานยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่ขาดยา
  • ปรับพฤติกรรมการนอนให้ตรงเวลา
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีผลต่อการนอน เช่น เครื่องดื่มมีกาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง)
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตามควรกับสุขภาพทุกๆวัน
  • รักษาสุขภาพจิต ไม่เครียด
  • พบแพทย์ตามนัดเสมอ
  • พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ
    • ง่วงนอนมากขึ้น
    • ฝันร้ายบ่อยขึ้น
    • เห็นภาพหลอนขณะกำลังจะนอนหรือกำลังจะตื่น บ่อยขึ้น
    • ผลอยหลับจนเกิดอุบัติเหตุจากการล้มโดยไม่รู้สึกตัว
    • แพ้ยา หรือมีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่ง และ/หรือ
    • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคลมหลับได้อย่างไร?

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคลมหลับ จึงยังไม่มีวิธีป้องกันโรคนี้ แต่การปรับพฤติกรรมการนอนให้มีสุขลักษณะที่ดี ก็อาจเป็นการช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาจากการนอนหลับลงได้

สรุป

คนเรามีปัญหามากมายในชีวิต ถ้ารู้จักปล่อยวางบ้าง ไม่เครียด เล่นกีฬา ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ นอนเป็นเวลา ผมว่าเราก็มีความสุข ห่างจากโรคภัยร้ายแรงและโรคแปลกๆได้