โรคฝีตับ (Liver abscess)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคฝีตับ (Liver abscess) คือโรคที่เกิดจากตับติดเชื้อและเกิดมีฝี/หนองขึ้นในตับ โดยอาจเกิดขึ้นเพียงฝีเดียว/ตำแหน่งเดียว หรือหลายฝีก็ได้ โดยอาจเกิดร่วมกับที่อวัยวะอื่นๆเกิดมีฝีร่วมด้วย หรือเกิดมีฝีเฉพาะในตับก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรค

โรคฝีตับเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก พบได้เรื่อยๆ พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูง อายุ โดยพบในผู้ใหญ่สูงกว่าในเด็ก เมื่อพบในเด็ก มักพบในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ทั้งนี้ในสหรัฐอเมริกา มีรายงานพบโรคฝีตับที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลต่างๆของสหรัฐอเมริกาได้ประมาณ 8-16 รายต่อผู้ป่วย 1 แสนคน

โรคฝีตับมีสาเหตุจากอะไร?

โรคฝีตับ

โรคฝีตับมีสาเหตุจากตับติดเชื้อ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อบิดชนิดที่เป็น สัตว์เซลล์เดียว(โปรโทซัว/Protozoa) หรือ เชื้อรา

  • ฝีตับที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Pyogenic liver abscess หรือ Bacterial hepatic abs cess) เป็นฝีตับที่พบได้บ่อยที่สุด ประมาณ 80-85% ของฝีตับทั้งหมด โดยพบเกิดได้จากแบค ทีเรียหลายชนิด เช่น E. coli/ Escherichia coli (พบได้บ่อยที่สุด) Klebsiella (พบได้รองลงมา) นอกนั้น เช่น Enterococcus, Streptococcus, Staphylococcus, และ Bacteroides แต่ทั้งนี้ ประมาณ 80% ของผู้ป่วยฝีตับจากเชื้อแบคทีเรีย เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรียหลายๆชนิดร่วมกัน
  • ฝีตับที่เกิดจาก สัตว์เซลล์เดียว ที่ชื่อ Entamoeba histolytica (Amoebic liver abs cess) เรียกว่า “ฝีบิดตับ” เพราะเชื้อชนิดนี้โดยทั่วไปเป็นสาเหตุสำคัญของโรคบิด ที่เรียกว่า “โรคบิดมีตัว (Amoebic dysentery)” ทั้งนี้พบฝีตับชนิดนี้ได้ประมาณ 10-15%
  • ฝีตับที่เกิดจากเชื้อรา (Fungal liver abscess) มักเกิดจากการติดเชื้อราของตับในกลุ่ม Candida เป็นฝีตับที่พบได้น้อยกว่า 10% และมักเกิดในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ ป่วยโรคมะเร็ง และผู้ป่วยโรคเอดส์

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดฝีตับ?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคฝีตับ ได้แก่ มีการอักเสบรุนแรงของอวัยวะในช่องท้อง มีการอักเสบติดเชื้อรุนแรงในระบบทางเดินน้ำดี มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ อุบัติเหตุต่อตับโดย ตรง (เช่น ถูกยิง ถูกแทง) และบางครั้งไม่พบมีปัจจัยเสี่ยง

  • การอักเสบติดเชื้อรุนแรงของอวัยวะในช่องท้อง เช่น -ช่องท้องเป็นหนอง หรือลำไส้ใหญ่แตกเข้าช่องท้อง (เช่น จากโรคไส้ติ่งอักเสบ หรือ จากอุบัติเหตุ เช่น ถูกแทงจนลำไส้ทะลุ)
  • จากมีการติดเชื้อในกระแสโลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) เชื้อจึงแพร่เข้าสู่ตับด้วย
  • จากเชื้อโรคลุกลามในช่องท้องและเข้าสู่ตับโดยตรง เช่น ในโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ โรคไส้ติ่งอักเสบ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคตับอ่อนอักเสบ และการอักเสบติดเชื้อของแผลมะเร็งในโรคมะเร็งต่างๆของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร หรือการติดเชื้อภายหลังการผ่าตัดในช่องท้อง
  • การอักเสบติดเชื้อรุนแรงในระบบทางเดินน้ำดี เช่น ทางเดินน้ำดีเป็นหนอง หรือทะลุ เช่น จากโรคถุงน้ำดีอักเสบ โรคนิ่วในถุงน้ำดี หรือการติดเชื้อภายหลังการผ่าตัด หรือจากการส่องกล้องตรวจทางเดินน้ำดี
  • ภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยเฉพาะเมื่อได้ยาเคมีบำบัด หรือเป็นโรคมะเร็งตับชนิดที่เกิดจากท่อน้ำดีในตับ (Cholangiocarcinoma) และโรคมะเร็งตับอ่อน เป็นต้น

โรคฝีตับมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคฝีตับทุกสาเหตุคล้ายคลึงกัน อาการที่พบบ่อยที่สุด คือ ปวดท้องในตำ แหน่งของตับ (ช่องท้องตอนบนด้านขวา) และมีไข้ และอาการอื่นๆที่อาจพบได้ เช่น

  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • อ่อนเพลีย ผอมลง
  • ตัว ตาเหลือง (ดีซ่าน)
  • หนาวสั่น

แพทย์วินิจฉัยโรคฝีตับอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคฝีตับได้จาก ประวัติอาการ ประวัติโรคประจำตัวต่างๆทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติการเดินทาง ท่องเที่ยว และถิ่นที่อยู่อาศัย การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูการทำงานของตับ การตรวจภาพตับด้วย อัลตราซาวด์และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ นอกจาก นี้อาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น การเจาะดูดหนองจากฝีตับเพื่อการตรวจย้อมเชื้อ และ/หรือการตัดชิ้นเนื้อจากตับเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เป็นต้น

รักษาโรคฝีตับอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคฝีตับ คือ การให้ยาฆ่าเชื้อตามแต่ละชนิดของเชื้อโรค ซึ่งอาจเป็นยากิน หรือยาให้ทางหลอดเลือดดำ ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เช่น ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบค ทีเรีย(เช่นยา Meropenem, Imipenem); ยาฆ่าเชื้อโรคบิดมีตัว (เช่น Metronidazole); และยาฆ่าเชื้อรา (เช่น Amphotericin B, Fluconazole) และการเจาะ ดูดหนอง เพื่อการระบายหนองออกจากตับ ซึ่งบางครั้งอาจต้องระบายหนองด้วยการผ่าตัดเมื่อไม่สามารถเจาะ/ดูดหนองออกได้

นอกจากนั้น คือ การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด การให้อาหารและสารน้ำทางหลอดเลือดดำ เมื่อกินได้น้อย เป็นต้น

โรคฝีตับรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

โรคฝีตับจัดเป็นโรครุนแรง แต่สามารถรักษาให้หายได้ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ สุขภาพร่าง กายของผู้ป่วย อายุ และการรักษาตั้งแต่แรกมีอาการ อย่างไรก็ตามมีโอกาสเสียชีวิตได้ ถ้าโรครุนแรง เช่น มีฝีตับเกิดขึ้นหลายฝี ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เกิดการติดเชื้อในกระแสโล หิตร่วมด้วย (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) และเมื่อเกิดเชื้อดื้อยา

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคฝีตับ? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง การพบแพทย์ เมื่อมีอาการดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ คือ การรีบพบแพทย์ ต่อจากนั้นปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลที่ให้การรักษาแนะนำ

ป้องกันโรคฝีตับอย่างไร?

การป้องกันโรคฝีตับ คือการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังกล่าวแล้วในหัวข้อปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ และที่สำคัญ คือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
  • ระมัดระวังเรื่องความสะอาดของอาหาร และน้ำดื่มโดยเฉพาะในการเดินทางท่อง เที่ยว เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะโรคบิด ที่อาจเป็นสา เหตุของฝีตับ
  • ไม่กินอาหารสุกๆ ดิบๆ หรือปรุงไม่สุก ผัก ผลไม้ ทุกชนิดต้องล้างให้สะอาดโดย เฉพาะเมื่อกินสด
  • ไม่ควรกินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ หรือซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา ซึ่งจะส่งผลให้โรครุนแรงเมื่อเกิดการติดเชื้อเป็นโรคฝีตับ

บรรณานุกรม

  1. Lipsett, P. et al. (1997). Fungal hepatic abscesses. J Gastrointest Surg. 1, 78-84
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Amoebiasis [2017,Nov18]
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Entamoeba_histolytica [2017,Nov18]
  4. http://en.wikipedia.org/wiki/Liver_abscess [2017,Nov18]
  5. http://emedicine.medscape.com/article/188802-overview#showall [2017,Nov18]
  6. http://emedicine.medscape.com/article/193182-overview#showall [2017,Nov18]
Updated 2017,Nov18