โรคผิวหนัง (Skin disorder)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคผิวหนัง(Skin disease หรือ Skin disorder) คือ โรคหรือภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผิวหนังที่จุดใดของร่างกายก็ได้ อาจเกิดเฉพาะที่ หรือเกิดได้ทั่วทั้งตัวพร้อมกันขึ้นกับแต่ละสาเหตุ ทั้งนี้ โรคผิวหนังหมายรวมถึงโรคของ ผม ขน และเล็บ

อนึ่ง ชื่ออื่นของโรคผิวหนัง เช่น Skin condition, Cutaneous condition

โรคผิวหนัง เป็นโรคพบบ่อยทั่วโลก พบทุกเพศและทุกวัย แต่ยังไม่มีรายงานสถิติเกิดในภาพรวมของโรคผิวหนังทั้งหมด มักเป็นรายงานสถิติเกิดแยกตามแต่ละชนิดย่อยแต่ละโรค

ผิวหนังคืออวัยวะอะไร?

โรคผิวหนัง

ผิวหนัง (Skin) เป็นเนื้อเยื่อชั้นนอกสุดที่ห่อหุ้มทุกส่วนของร่างกาย แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นนอกเรียกว่า หนังกำพร้า (Epidermis) และชั้นในซึ่งเรียกว่า หนังแท้ (Dermis)

ผิวหนัง เป็นเนื้อเยื่อที่บอบบางมีความหนาตั้งแต่ 0.05 มิลลิเมตร (มม.) ไปจนถึง 1.5 มม. ทั้งนี้ขึ้นกับว่าเป็นผิวหนังในส่วนใดของร่างกาย ซึ่งผิวหนังที่บางที่สุดคือ หนังตา ส่วนผิวหนังที่หนาที่สุดคือ ผิวหนังส่วนส้นเท้า

ก. หนังกำพร้า: หรือ ผิวหนังชั้นนอกสุดที่เรามองเห็นห่อหุ้มร่างกาย ประกอบด้วยเซลล์ส่วนใหญ่เป็นเซลล์ชนิดที่ผลัดตัวลอกได้เมื่อเป็นเซลล์ตัวแก่ คือ เซลล์ชนิดเนื้อเยื่อบุผิว (Epithelium), นอกจากนั้นยังประกอบด้วยเซลล์สำคัญอีกสองชนิดคือ เซลล์ชนิดเมลาโนไซต์ (Melanocyte) ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องผิวหนังจากแสงแดด โดยมีเม็ดสีเพื่อดูดซับรังสียูวี (UV radiation), และเซลล์ชนิดเมอร์เคล (Merkel cell) ซึ่งเป็นเซลล์รับสัมผัสจากการกดเบียดทับหรือการสัมผัสอย่างเบาๆ ทั้งนี้เซลล์ทั้งสามชนิดนี้สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งผิวหนังได้ตามชนิดต่างๆของเซลล์เหล่านั้นคือ มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (เกิดจากเซลล์ชนิดเมลาโนไซต์) ที่มีความรุนแรงโรคสูง, มะเร็งผิวหนังชนิดเมอร์เคล (เกิดจากเซลล์ชนิดเมอร์เคล) ที่มีความรุน แรงโรคปานกลาง, และชนิดเกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อบุผิว ซึ่งมีความรุนแรงโรคต่ำกว่ามะเร็งทั้งสองชนิดที่กล่าวแล้ว

นอกจากนั้นในหนังกำพร้ายังมีเซลล์ชนิดช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่อผิวหนังและต่อร่างกายด้วยเรียกว่า เซลล์ลานเกอร์ฮานส์ (Langerhans cell)

ข. หนังแท้: ประกอบด้วยเซลล์สำคัญคือ เซลล์ในกลุ่มเนื้อเยื่ออ่อน (Soft tissue) เช่น เซลล์ไฟโบรบลาส (Fibroblast) ซึ่งสร้างคอลลาเจน และเพื่อคงการยืดหยุ่น ความแข็งแรง และรูปทรงของผิวหนัง นอกจากนั้นยังประกอบด้วยหลอดเลือด หลอดน้ำเหลือง และเส้นประสาทต่างๆ

ในหนังแท้ยังมีต่อมต่างๆหลายชนิดเพื่อ

  • สร้างไขมัน สร้างเหงื่อ สร้างกลิ่น และสร้างขน
  • เพื่อการหล่อเลี้ยง ปกป้องผิวหนัง ช่วยผิวหนังในการทำหน้าที่ต่างๆ และ
  • ช่วยร่างกายขับของเสียออกทางเหงื่อ

ผิวหนังมีหน้าที่อย่างไร?

ผิวหนังมีหน้าที่หลายอย่าง คือ

  • ปกป้องเนื้อเยื่อและอวัยวะภายในทั้งหมดจากการไม่ดูดซึมสารแปลกปลอมที่ร่างกายไม่ต้องการหรือที่เป็นพิษต่อร่างกาย
  • ช่วยคงรูปร่างของร่างกาย
  • ปกป้องร่างกายจากแสงยูวีจากแสงแดด
  • ช่วยรักษาระดับอุณหภูมิภายในร่างกายให้คงที่ จากการขับเหงื่อและจากการขยายหรือ หดตัวของหลอดเลือด
  • ช่วยร่างกายกำจัดของเสียออกทางเหงื่อ
  • ช่วยร่างกายสร้างวิตามิน ดี โดยสังเคราะห์จากแสงแดด
  • รับความรู้สึกต่างๆเช่น หนาว ร้อน เจ็บ การกระแทก
  • ป้องกันร่างกายจากการรุกรานของเชื้อโรคและสารต่างๆ และยังสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคทั้งของผิวหนังเองและของร่างกาย

โรคผิวหนังมีโรคอะไรบ้าง?

ผิวหนังประกอบด้วยเซลล์หลากหลายชนิดดังกล่าวแล้ว ซึ่งเซลล์ทุกชนิดสามารถเกิดเป็นโรคได้ทั้งหมดตั้งแต่โรคที่มีความรุนแรงต่ำ เช่น เป็นสิว ไปจนถึงโรคความรุนแรงสูง เช่น โรคมะเร็ง

โดยทั่วไปแบ่งโรคผิวหนังเป็น 2 กลุ่มใหญ่ตามสาเหตุหลัก คือ

ก. โรคผิวหนังที่เกิดจากเซลล์ของผิวหนังเอง ซึ่งรวมทั้งเซลล์ของต่อมต่างๆของผิวหนังด้วย ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักมีอาการเฉพาะผิวหนัง ไม่มีอาการอื่นๆร่วมด้วย ซึ่งการรักษาโรคในกลุ่มนี้ อาจโดยแพทย์โรคผิวหนัง (Dermatologist/เดอร์มาโตโลจีส/แพทย์สาขาตจวิทยา) หรือ แพทย์ทั่วไป (ซึ่งอาจปรึกษาแพทย์โรคผิวหนังในภายหลัง เมื่อผู้ป่วยมีอาการซับซ้อนทางผิว หนัง)

ข. อาการทางผิวหนังจากเป็นอาการหนึ่งของโรคทางร่างกายอื่นๆ ซึ่งผู้ป่วยจะมีทั้งอาการทางผิวหนัง ร่วมกับอาการของโรคต้นเหตุ: เช่น

  • มะเร็งหลอดอาหารกระจายมาผิวหนังโดยคลำได้เป็นปุ่มก้อนเนื้อที่ผิวหนัง: ซึ่งนอกจากมีปุ่มก้อนเนื้อกระจายที่ผิวหนังแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการของมะเร็งหลอดอาหารร่วมด้วย เช่น กลืนลำบาก ผอมลงมาก น้ำลาย/เสลดอาจมีเลือดปน
  • มีผื่นที่ผิวหนัง เช่น จากโรคหัด หรือผื่นจากการแพ้ยา หรือจากฝุ่นละออง ซึ่งโรคในกลุ่มนี้ ผู้ป่วยมักมีอาการของโรคนั้นๆร่วมด้วยเสมอ เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยตัวเมื่อผื่นเกิดจากโรคหัด หรือมีอาการจาม มีน้ำมูก เมื่อผิวขึ้นผื่นจากแพ้ฝุ่นละออง หรือมีประวัติผื่นขึ้นหลังกินยา/ใช้ยา

ซึ่งแพทย์ผู้ให้การรักษาโรคในกลุ่มนี้มักเป็นแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์เฉพาะทางโรคนั้นๆ ซึ่งบางครั้งจะปรึกษาขอความเห็นจากแพทย์โรคผิวหนังตามดุลพินิจของแพทย์ที่ให้การดูแลผู้ป่วย

*อนึ่ง บาดแผลจากอุบัติเหตุเช่น มีดบาดหรือถูกยิง ไม่จัดเป็นโรคผิวหนัง แต่จัดเป็นผู้ป่วย/โรคด้านศัลยกรรม

โรคผิวหนังมีสาเหตุจากอะไร?

โรคผิวหนัง เกิดได้จากมากมายหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยคือ

  • ต่อมต่างๆของผิวหนังอุดตันและ/หรือติดเชื้อ เช่น เป็นสิว, สิวอุดตัน
  • การติดเชื้อซึ่งติดเชื้อได้ทั้ง แบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา เช่น ฝีต่างๆ กลาก เกลื้อน โรคเริม โรคงูสวัด โรคไฟลามทุ่ง
  • จากโรคออโตอิมมูน/ภูมิแพ้ตนเอง (ภูมิต้านตนเอง) เช่น โรคพุ่มพวง/โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี
  • จากโรคภูมิแพ้ เช่น ผื่นคันจากการสัมผัส ขนสัตว์ หรือเกสรดอกไม้
  • จากการแพ้สารต่างๆ เช่น ผื่นจากการแพ้ยา
  • จากการขาดวิตามินบางชนิดเช่น ภาวะขาดวิตามินบี3
  • จากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง ผิวหนังจึงติดเชื้อได้ง่าย เช่น ในโรคเอดส์
  • จากโรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของผิวหนังเช่น โรคหนังแข็ง (Scleroderma) และโรคแผลเป็นนูน
  • จากผลของฮอร์โมน เช่น การขึ้นฝ้าในคนท้อง
  • จากสูงอายุ (เซลล์ผิวหนังเสื่อมตามอายุ) เช่น กระผู้สูงอายุ
  • ไฝ ต่างๆ
  • โรคทางพันธุกรรม เช่น ปานผิวหนังชนิดต่างๆ (เช่น ปานแดงในเด็กเล็ก)
  • จากการถูกแสงแดดจัดเรื้อรัง ซึ่งนอกจากเป็นปัจจัยให้เซลล์ผิวหนังเสื่อมก่อนวัยแล้ว ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังด้วย

โรคผิวหนังมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคผิวหนังขึ้นกับสาเหตุ ที่อาจพบได้เช่น

  • ผิวหนังขึ้นผื่น
  • เป็นจุดหรือเป็นดวง
  • เป็นปื้น
  • เป็นผื่นนูน
  • เป็นแผ่น
  • เป็นตุ่มเนื้อ
  • เป็นตุ่มน้ำ
  • เป็นตุ่มเลือด
  • เป็นตุ่มพอง
  • เป็นตุ่มหนอง
  • เป็นติ่งเนื้อ
  • เป็นถุงน้ำ
  • เป็นแผล
  • เป็นแผลเปื่อย
  • เป็นแผลแตก
  • เป็นแผลรอยแยก
  • ภาวะหลอดเลือดฝอยพอง
  • ปาน
  • ไฝ
  • หูด (โรคหูด)
  • ก้อนเนื้อ
  • แผลเรื้อรัง
  • บวม แดง คัน และ/หรือ สีของผิวหนังผิดปกติเช่น สีคล้ำ สีออกแดง/ชมพู หรือสีออกม่วง
  • โรคผิวหนัง อาจเกิดร่วมกับอาการต่างๆของโรคทุกระบบอวัยวะ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ เช่น
    • อาการของการติดเชื้อ: เช่น มีไข้ มีได้ทั้ง ไข้สูง ไข้ต่ำ ไอ เจ็บคอ ตาแดง
    • อาการของภูมิแพ้: เช่น ตาแดง มีน้ำตาไหล น้ำมูก
    • โรคเลือด: เช่น จุดเลือดออก หรือจ้ำห้อเลือด
    • ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน เช่น ผิวชื้น เหงื่อออกมาก ผมร่วง คันทั้งตัวโดยไม่มีผื่น หรือเป็นลมพิษง่าย เล็บเปราะ
    • ฯลฯ

แพทย์วินิจฉัยโรคผิวหนังได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคผิวหนังได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการติดโรคคนใกล้ชิด ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจดูความผิดปกติของผิวหนัง ทั้งลักษณะผื่นหรือตุ่มหรือก้อนเนื้อ รูปร่าง สี และตำแหน่งที่เกิดโรค รวมทั้งการสอบถามถึงอาการร่วมต่างๆ
  • บางครั้งอาจมีการขูดผิวหนังตรวจส่องกล้องจุลทรรศน์ดูการติดเชื้อ หรือดูลักษณะของเซลล์ (การตรวจทางเซลล์วิทยา) หรือ
  • การเพาะเชื้อ
  • อาจมีการตรวจเลือดตามสาเหตุที่แพทย์สงสัยเช่น ผื่นในโรคเอดส์ และ
  • บางครั้งอาจตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาโรคผิวหนังได้อย่างไร?

การรักษาโรคผิวหนังขึ้นกับสาเหตุ และการรักษาตามอาการ เช่น

ก. การรักษาสาเหตุ: เช่น

  • การรักษาความสะอาดเมื่อเกิดจากสิว ร่วมกับการกินยา/ทายาปฏิชีวนะเมื่อเกิดจากสิวติดเชื้อ
  • การรักษาด้วยการผ่าตัดเมื่อเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง
  • การรักษาโรคของต่อมไทรอยด์ เมื่อสาเหตุจากโรคต่อมไทรอยด์

ข. การรักษาตามอาการ: เช่น ยาแก้คัน ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ตามอาการผู้ป่วย

โรคผิวหนังรุนแรงไหม?

ความรุนแรงของโรคผิวหนังขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • ไม่รุนแรงเมื่อเป็น สิว ฝ้า กระ หรือ ขึ้นผื่นจากโรคติดเชื้อที่ไม่รุนแรง เช่น หัด อีสุกอีใส เริม
  • รุนแรงปานกลางเมื่อเป็น มะเร็งผิวหนัง ชนิด Basal cell carcinoma
  • รุนแรงมากมากเมื่อเป็นโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา / มะเร็งไฝ

ดูแลผิวหนังอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลผิวหนังโดยทั่วไป และการพบแพทย์/มาโรงพยาบาล คือ

  • รักษาความสะอาดผิวหนังเสมอโดยการใช้สบู่ที่อ่อนโยน
  • ปกป้องผิวหนังจากแสงแดดเมื่อต้องโดนแดดจัดหรือทำงานกลางแจ้งเช่น ใส่เสื้อแขนยาว ใส่หมวกปีกกว้าง และ/หรือทายากันแดด
  • กินอาหารมีประโยชน์ครบทั้งห้าหมู่ทุกวัน เพิ่มผักและผลไม้ เพื่อชะลอผิวเสื่อมก่อนวัย
  • เลือกเครื่องสำอางและเครื่องใช้ต่างๆชนิดที่อ่อนโยนต่อผิวเช่น ครีมบำรุงผิว น้ำยาโกนหนวด รวมทั้งยาสีฟัน และทิชชูทำความสะอาด
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นจัด ผิวจะแห้งมาก (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง ผิวแห้ง) ผิวเสื่อมได้ง่าย
  • เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ทำลายเซลล์ผิวหนังและยังเป็นสาเหตุของหลอดเลือดตีบ ผิวหนังจึงเสื่อมง่ายจากขาดเลือด
  • เรียนรู้ชีวิต ควบคุมความเครียด เพราะเป็นสาเหตุของสิวและผิวหน้าย่นได้ก่อนวัย
  • หลีกเลี่ยงสารที่ก่ออาการแพ้ต่อผิวหนัง
  • รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคผิวหนัง
  • สังเกตผิวหนังตนเองเสมอ เช่น ขณะอาบน้ำและแต่งตัว เมื่อพบก้อนเนื้อผิดปกติที่โตเร็ว หรือมีแผลแตก ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
  • ควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เช่น
    • เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆร่วมกับอาการทางผิวหนัง เช่น มีข้ร่วมกับการเกิดผื่น
    • มีผื่นขึ้นหลังการกินยาต่างๆ
    • เมื่อผิวหนังผิดปกติไปจากเดิมโดยเฉพาะเป็นก้อนเนื้อ ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ
    • เมื่อมีความกังวลในการผิดปกติของผิวหนัง ทั้งนี้เพราะโรคผิวหนังเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุดังกล่าวแล้วตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงโรครุนแรงอย่างโรคมะเร็ง

*อนึ่ง อาการสำคัญของมะเร็งผิวหนัง ซึ่งเมื่อมีอาการเหล่านี้ ควรต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ ได้แก่

  • มีแผลเรื้อรัง แผลไม่หายหลังจากดูแลตนเองภาย ใน 2 สัปดาห์ หรือ
  • มีก้อนเนื้อโตเร็ว หรือ
  • เป็นไฝ/ปาน โตเร็ว ขอบไม่เรียบ ฝังตัวลึกในผิวหนัง และแตกเป็นแผลเลือดออกเรื้อรัง

ป้องกันโรคผิวหนังได้อย่างไร?

วิธีป้องกันโรคผิวหนังเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ การดูแลตนเองฯ’ ซึ่งที่สำคัญคือ

  • หลีกเลี่ยงแสงแดดจัดเรื้อรัง เพราะเป็นต้นเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคผิวหนังหลายชนิด รวมทั้งมะเร็งผิวหนัง
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน เพื่อความแข็งแรง และชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนัง
  • ดูแลรักษาความสะอาดผิวหนังเสมอ
  • สังเกตและหลีกเลี่ยงสารต่างๆที่ก่อการระคายเคืองหรือก่ออาการแพ้ต่อผิวหนัง

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, D., Hausen, S., Longo, D., and Jamesson, J.(2001). Harrrison’s: Principles of internal medicine. New York. McGraw-Hill
  2. https://emedicine.medscape.com/article/1294744-overview#showall[2019,Dec28]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Skin_condition[2019,Dec28]