โรคประจำตัว โรคพื้นเดิม โรคเบื้องหลัง (Underlying disease)

โรคประจำตัว ตามความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมาย ถึง โรคที่ติดตัวอยู่เป็นประจำ รักษาไม่หายขาด ซึ่งคำในภาษาอังกฤษที่ผู้เขียนแปลเองว่า น่า จะตรงกับ คำว่า Underlying disease ที่พจนานุกรมศัพท์แพทย์ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2547 ให้คำแปลว่า โรคพื้นเดิม หรือ โรคเบื้องหลัง

ทั้งนี้ โรคประจำตัว ทางการแพทย์มีความหมายเช่นเดียวกับพจนานุกรม คือ โรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยเจ็บป่วยอยู่แล้ว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน แล้วต่อมา ผู้ป่วยเกิดเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆหรือที่เรียกว่าโรคในปัจจุบัน เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง(โรคปัจจุบัน) ที่มีโรคประจำตัว (โรคพื้นเดิม/โรคเบื้องหลัง) คือ โรคเบาหวาน เป็นต้น

ทั้งนี้โรคประจำตัวจะส่งผลต่อโรคปัจจุบันเสมอ โดย

  • อาจเป็นสาเหตุร่วมของโรคปัจจุบัน เช่น ผู้ป่วยโรคนกเขาไม่ขัน (โรคปัจจุบัน) อาจมีโรคเบาหวานที่เป็นโรคประจำตัว เป็นสาเหตุร่วมที่ทำให้เกิด นกเขาไม่ขัน
  • เป็นสาเหตุที่ทำให้สุขภาพร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ จึงส่งผลถึงการรักษาโรคปัจจุบันให้ได้ผลรักษาที่ไม่ดี และติดเชื้อ แทรกซ้อนได้ง่าย เช่น ผู้ ป่วยโรคเบาหวาน เมื่อเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ โรค/อาการมักรุนแรงกว่าคนทั่วไป
  • เป็นสาเหตุให้มีการอักเสบ และ/หรือภาวะผิดปกติของเนื้อเยื่อต่างๆทั่วร่างกาย (เช่น ในโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคท่อเลือดแดงแข็ง) จึงส่งผลต่อการพยากรณ์โรคปัจจุบัน ให้มีผลการรักษาที่ไม่ดีเท่าที่ควร เช่น ผู้ป่วยโรคไตที่มีโรคเบาหวานร่วมด้วย เป็นต้น
  • เป็นสาเหตุให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆจากการรักษาสูงขึ้น เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นโรคมะเร็ง ผลข้างเคียงจากรังสีรักษาและ/หรือยาเคมีบำบัดจะสูงขึ้น หรือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ จะส่งผลให้แผลผ่าตัดติดเชื้อได้ง่าย หรือแผลผ่าตัดติดช้า เป็นต้น

ดังนั้น ในการรักษาโรคปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องรักษาและควบคุมโรคประจำตัว/โรคพื้นเดิม /โรคเบื้องหลัง ให้ได้ดีด้วยเสมอ ซึ่งจะช่วยให้การพยากรณ์โรค/ผลการรักษาดีขึ้น ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนทั้งที่เกิดจากตัวโรคเองและจากการรักษาโรคให้ลดน้อยลงได้