โรคบิดมีตัว โรคบิดอะมีบา (Amebic dysentery)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคบิดมีตัว โรคบิดอะมีบา (Amebic dysentery หรือ Amebiasis หรือ Amoebiasis) เป็นโรคบิดชนิดหนึ่งจากลำไส้ติดเชื้อเชื้อบิดอะมีบา ซึ่งเป็นสัตว์เซลล์เดียวที่เป็นปรสิต มีชื่อว่า Entamoeba histolytica

โรคบิดมีตัว เป็นโรคพบบ่อยในประเทศในเขตร้อนที่ยังมีการสาธารณสุขไม่เพียงพอ หรือในแหล่งชุมชนที่อาศัยอยู่อย่างแออัด เช่น ในค่ายผู้อพยพ หรือคนที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก

ทั่วโลกพบโรคบิดมีตัวประมาณ 50ล้านรายต่อปี และเสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 1 แสนรายต่อปี โดยพบสูงประมาณ 50%ของประชากรในบางท้องถิ่นของ อเมริกากลาง อาฟริกา และเอเชีย

ส่วนในประเทศไทย รายงานสถิติรวมโรคบิดทุกสาเหตุจากกระทรวงสาธารณสุข ในภาพรวม พบโรคบิดลดลงอย่างต่อเนื่อง ปีพ.ศ. 2549 รายงานโรค 30.77 ราย ต่อประชากร 1แสนคน ในปีพ.ศ. 2557 รายงาน 10.28 รายต่อประชากร 1 แสนคน

โรคบิดมีตัว เป็นโรคติดต่อ จาก ‘อุจจาระถึงปาก (Fecal-oral transmission)’ คือจากการกินอาหาร ดื่มน้ำ ใช้น้ำ ที่มีเชื้อโรคเจือปน และจากการที่เชื้อโรคติดมือ และเข้าปากโดยตรง หรือเชื้อโรคสัมผัสแผลและเยื่อเมือก (เช่น เยื่อดวงตาตา) โดยตรงอาจจากมือสกปก

โรคบิดมีตัวพบเกิดได้ในคนทุกอายุตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ โดยในเด็กโรคมักมีความรุนแรงสูงกว่าในผู้ใหญ่ และพบในผู้หญิงและในผู้ชายใกล้เคียงกัน

โรคบิดมีตัวไม่ใช่โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และไม่มีตัวนำโรค (Vector) ติดต่อได้โดยตรงจากเชื้อปนเปื้อนในอุจจาระ สู่อาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ และมือ เข้าสู่ปาก

วงจรชีวิตของเชื้อบิดมีตัว มี 2 รูปแบบ หรือ 2 ระยะ คือ

  • เป็นถุงหุ้ม หรือ ‘ซีส (Cyst)’ ซึ่งโรคจะติดต่อจากคนสู่คน หรือจากอุจจาระเข้าสู่ปากได้ในระยะที่เป็น ซีส แต่ระยะนี้ไม่สามารถก่อให้เกิดอาการได้
  • อีกระยะของตัวเชื้อบิดมีตัว เรียกว่า ‘Trophozoites ‘ คือ เชื้อบิดมีตัวระยะที่สามารถก่อโรคได้เมื่ออยู่ในคน

เมื่ออยู่ภายนอกร่างกาย เชื้อระยะ Trophozoites จะตาย ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ แต่เชื้อระยะเป็นซีส จะตายต่อเมื่ออยู่ในภาวะแห้งแล้ง ไม่มีน้ำ โดยเชื้อระยะเป็นซีส จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้นอกร่างกายนาน 2-3 เดือนเมื่ออยู่ใน ที่มีความชื้น อุจจาระ น้ำ และในอาหาร

เชื้อบิดมีตัวทั้ง 2 ระยะ ไม่สามารถฆ่าให้ตายด้วยสารคลอรีน (Chlorine) ที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคในน้ำ แต่ฆ่าตายได้ด้วย 2% ทิงเจอร์ไอโอดีน (Tincture of iodine) และน้ำต้มอุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส (Celsius) ขึ้นไป

โรคบิดมีตัวเกิดจากอะไร? ก่อโรคได้อย่างไร?

โรคบิดมีตัว

โรคบิดมีตัวเกิดจากการติดเชื้อบิดอะมีบา (Entamoeba histolytica) โดยเชื้อนี้มีคน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชั้นสูง คือ พวกลิง (Primate) เป็นรังโรค แต่มีรายงานพบในอุจจาระของแมวและสุนัขได้บ้าง

วงจรชีวิตของเชื้ออะมีบา เริ่มด้วยการเป็นถุงหุ้ม (Cyst หรือ ซีส) และตัวเชื้อโรคระยะที่เรียกว่า Trophozoites ซึ่งอยู่ในลำไส้ใหญ่ของคน ปนออกมาในอุจจาระ และอุจจาระนี้ปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ จากสุขอนามัย และการสาธารณสุขที่ไม่ดี รวมทั้งจากมือที่ไม่สะอาดที่เปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อนี้ สัมผัสช่องปาก ซีสจะไม่ถูกย่อยด้วยกรดในกระเพาะอาหาร แต่ Trophozoites จะเสียชีวิตจากกรดในกระเพาะอาหาร

จากกระเพาะอาหาร ซีส จะเข้าสู่ลำไส้ และแตกตัว เจริญเติบโตเป็น Trophozoites ในลำไส้เล็กส่วนปลายและในลำไส้ใหญ่ โดยTrophozoites ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่โดยไม่ก่อให้เกิดอาการ กล่าวคือ ไม่ก่อให้เกิดโรค แต่คนคนนั้นสามารถแพร่เชื้อบิดได้เช่นเดียวกับคนติดโรคบิด (เป็นพาหะโรค) ทั้งนี้ เพียงประมาณ 10-20% ของคนที่ได้รับเชื้ออะมีบา เท่านั้นจึงจะมีอาการ (เชื่อว่า อาจเกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานของร่างกาย รวมกับปริมาณ และสายพันธ์ของเชื้ออะมีบา) โดย

โรคหรืออาการ เกิดจาก Trophozoites ไชทำลาย และก่อให้ผนังลำไส้อักเสบ เป็นแผล ส่งผลให้เกิดอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือด หรือที่เรียกว่า โรคบิด โดยส่วนน้อยของเชื้อ ประมาณ 1% จะไชเข้ากระแสโลหิต และไปก่อโรค โดยทำให้เกิด การอักเสบเป็นฝีหนองตามอวัยวะต่างๆ เช่น ที่ตับ สมอง และผิวหนัง

ซีส และTrophozoites บางส่วนจะปนในอุจจาระ ปนเปื้อนในอาหาร น้ำ และมือ กลับเข้าสู่ปาก วนเวียนเป็นวงจรไปเรื่อยๆ ที่เรียกว่า การติดต่อ โดยอุจจาระ–สู่ปาก (Fecal-oral transmission) อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังที่เป็นแผล หรือเยื่อเมือกได้โดยตรง เช่น เยื่อดวงตา เป็นต้น

เมื่อติดเชื้อ ประมาณ 90% จะเป็นการติดเชื้อที่ลำไส้เล็กส่วนติดกับลำไส้ใหญ่และที่ลำไส้ใหญ่

ส่วนอีกประมาณ 10% เชื้อจะเข้ากระแสโลหิต และก่อให้เกิดการอักเสบเป็นฝีหนองตามอวัยวะต่างๆ เช่น ผิวหนัง ปอด ตับ และสมอง ซึ่งจะมีธรรมชาติของโรคและการรักษาแตกต่างกันออกไป ขึ้นกับว่าเกิดการอักเสบเป็นฝีหนองกับอวัยวะใด เช่น โรคปอดอักเสบ หรือโรคสมองอักเสบ เมื่อมีการติดเชื้อที่ปอด หรือมีการติดเชื้อที่สมอง เป็นต้น

*อนึ่ง บทความนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะโรคที่เกิดในลำไส้เท่านั้น

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคบิดมีตัว?

คนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดบิดมีตัว ได้แก่

  • คนในประเทศเขตร้อนที่อาศัยอยู่ในแหล่งที่การสาธารณสุขไม่ดี
  • คนที่ท่องเที่ยวในเขตร้อนที่การสาธารณสุขไม่ดี
  • คนที่อาศัยในที่แออัด และการสาธารณสุขไม่ดี เช่น ค่ายอพยพ ค่ายทหาร
  • มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก

โรคบิดมีตัวมีอาการอย่างไร?

ผู้ที่ได้รับเชื้อบิดมีตัว มีเพียงประมาณ 10-20% เท่านั้นที่เชื้อจะก่อโรค(ก่อให้เกิดอาการ) ที่เหลือประมาณ 80-90% จะไม่มีอาการแต่แพร่เชื้อได้ (เป็นพาหะโรค) แต่พบว่าพาหะโรคเหล่านี้ ประมาณ 4-10% จะแสดงอาการภายในระยะเวลา 1 ปี

ในกลุ่มที่เกิดอาการ มักเกิดอาการในช่วง 1-4 สัปดาห์ หลังได้รับเชื้อ (ระยะฟักตัวของโรค)

โรคบิดมีตัว ทั่วไปอาการมักไม่ค่อยรุนแรง ที่พบได้บ่อย คือ

  • ท้องเสีย อุจจาระเป็นมูกเลือด มีกลิ่นเหม็นเน่า ประมาณอย่างน้อย 3-8 ครั้ง ต่อวัน และมีแก๊สมากในท้อง
  • ปวดท้องในตำแหน่งทั่วๆไป อาการปวดมักมีลักษณะเป็นการปวดบิด แต่ไม่รุนแรงมาก และปวดเบ่งทุกครั้งที่ถ่ายอุจจาระ
  • อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาจคลื่นไส้ และอาเจียน น้ำหนักลด/ผอมลง
  • มีไข้ มีได้ทั้งไข้สูง หรือไข้ต่ำ

แพทย์วินิจฉัยโรคบิดมีตัวอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคบิดมีตัวได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ถิ่นที่อยู่อาศัย ประวัติการเดินทาง การทำงาน
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจอุจจาระ
  • การตรวจเชื้อในอุจจาระ
  • การเพาะเชื้อจากอุจจาระ
  • การตรวจหาสารก่อภูมิต้านทาน (Antigen) ของเชื้อจากอุจจาระ
  • การตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทาน (Antibody)
  • และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับ อาการผู้ป่วย ความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจภาพช่องท้องด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
    • และ/หรือการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

รักษาโรคบิดมีตัวอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคบิดมีตัว คือ การให้ยาฆ่าเชื้อบิดมีตัว และ การรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การให้ยาฆ่าเชื้อบิด:

  • โดยทั่วไปเป็นยากิน ประมาณอย่างน้อย 7-10 วัน เช่นยา Metronidazole
  • แต่ถ้าผู้ป่วยอาเจียนมากอาจจำเป็นต้องให้ยาทางหลอดเลือดดำ
  • *ทั้งนี้การให้ยาฆ่าเชื้อบิดมีตัว ให้การรักษาทั้งผู้ที่มีอาการและผู้ที่เป็นพาหะโรค

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น

  • ยาลดไข้
  • ยาแก้ปวดท้อง
  • และการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเมื่อ อ่อนเพลีย กินได้น้อย เป็นต้น

*ทั้งนี้ ถึงแม้จะมีการถ่ายอุจจาระวันละหลายครั้ง แต่แพทย์ไม่แนะนำให้กินยาแก้ท้องเสีย เพราะมักเป็นสาเหตุให้อาการต่างๆดังกล่าวแล้วเลวลง

โรคบิดมีตัวรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

โรคบิดมีตัว ที่เกิดกับลำไส้ มักไม่รุนแรง รักษาได้หายภายในระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ทั้งนี้ ภายหลังการรักษา เมื่อกลับไปสัมผัสโรคอีก ก็มีโอกาสติดเชื้อครั้งใหม่ได้อีก

ในผู้ป่วยที่เกิดฝี/หนองตามอวัยวะต่างๆนอกลำไส้ อาการมักรุนแรงกว่า และอาจเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดฝีหนองในสมอง

อย่างไรก็ตามความรุนแรงของโรคจะขึ้นกับ

  • สายพันธ์ย่อยของเชื้อ
  • ปริมาณเชื้อที่ร่างกายได้รับ
  • และสุขภาพร่างกายผู้ป่วย

ในส่วน ผลข้างเคียงจากโรคบิดมีตัว พบได้น้อยมาก ที่อาจพบได้ เช่น

  • เชื้อแพร่เข้ากระแสโลหิตและก่อให้เกิดการอักเสบติดเชื้อเป็นฝีหนองของอวัยวะต่างๆ ดังกล่าวแล้ว
  • หรือเชื้อในลำไส้ก่อการอักเสบเรื้อรังจากไม่ได้รับการรักษา จนเกิดเป็นก้อนเนื้อขนาดใหญ่ ก่อให้เกิดภาวะลำไส้อุดตันได้ (ปวดท้องมาก ไม่ถ่ายอุจจาระ ไม่ผายลม คลื่นไส้ อาเจียนมาก)
  • นอกจากนั้น การเป็นบิดฯเรื้อรัง มักก่อให้เกิดภาวะขาดอาหาร ผอมลง/น้ำหนักลด และอ่อนเพลีย เป็นต้น

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นบิดมีตัว ที่สำคัญ คือ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอเมื่อมีอุจจาระเป็นมูกเลือด เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่นๆ

และเมื่อหลังพบแพทย์แล้ว การดูแลตนเอง คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง
  • และพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • นอกจากนั้น คือ
    • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) อย่างเคร่งครัด เพื่อ ลดโอกาสติดโรคซ้ำ และลดโอกาสแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
    • ช่วงมีอาการ ปวดท้อง ท้องเสีย ควรกินอาหารอ่อน ย่อยง่าย รสจืด (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ’ประเภทอาหารทางการแพทย์’)
    • รักษาความสะอาดอาหารและน้ำดื่มเสมอ กินแต่อาหารสุก ใหม่ๆ ระมัดระวังการกินน้ำแข็ง ผัก ผลไม้ต้องล้างให้สะอาด
    • ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เมื่อ
    • มีอาการต่างๆผิดปกติไปจากเดิม เช่น ปวดท้องมากขึ้น อุจจาระเป็มมูกเลือดมากขึ้น
    • หรืออาการต่างๆเลวลง เช่น ถ่ายเป็นมูกเลือด ปวดท้อง มากขึ้น หรือ ปวดศีรษะ หรือไอ หรือไข้ไม่ลง
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่ง จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น วิงเวียนศีรษะมาก ท้องผูกมากต่อเนื่อง
    • กังวลในอาการ

ป้องกันโรคบิดมีตัวอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคบิดมีตัว ดังนั้น การป้องกันโรคบิดมีตัว โดยทั่วไป คือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ล้างมือเสมอโดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
  • ล้างผัก ผลไม้ ให้สะอาด
  • รักษาความสะอาดในทุกขั้นตอนของการปรุงอาหาร
  • น้ำดื่ม น้ำใช้ ต้องสะอาด อาหารต้องสุก น้ำแข็งต้องสะอาด
  • ระมัดระวัง อาหาร น้ำดื่มที่ขายข้างทาง
  • ระมัดระวัง เรื่องอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษ เมื่อไปยังถิ่นที่ยังขาดสุขอนามัย
  • ควรใช้ถุงยางอนามัยชายเสมอเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
  • มีส่วนร่วมในชุมชน ในการช่วยกันรักษาสุขอนามัยชุมชน และถ่ายอุจจาระเฉพาะในส้วมเสมอ

บรรณานุกรม

  1. วรณัน เจริญหิรัญยิ่งยศ และศิริลักษณ์ อนันต์ณัฐศิริ. (2005). Amebiasis. วารสารอายุรศาสตร์อีสาน.4, 11-16.
  2. Haque, R. et al. (2003). Amebiasis. N Engl J Med. 348, 1565-1573.
  3. Petri, W., and Singh, U. (1999). Diagnosis and management of amebiasis. Clinical Infectious Diseases. 29, 1117-1125.
  4. https://www.cdc.gov/parasites/amebiasis/general-info.html [2019,Jan5]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Amoebiasis [2019,Jan5]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/212029-overview#showall [2019,Jan5]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Entamoeba_histolytica [2019,Jan5]
  8. https://www.canada.ca/en/public-health/services/laboratory-biosafety-biosecurity/pathogen-safety-data-sheets-risk-assessment/entamoeba-histolytica-pathogen-safety-data-sheet.html [2019,Jan5]
  9. http://www.boe.moph.go.th/Annual/AESR2015/aesr2558/Part%201/07/dysentery.pdf [2019,Jan5]