โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคสมอง หรือ โรคทางสมอง หรือ โรคของสมอง (Brain disease หรือ Brain disorder) คือ โรคที่เกิดจากมีความผิดปกติของเซลล์ต่างๆในเนื้อเยื่อสมอง ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆทางสมอง เช่น อัมพฤกษ์อัมพาต สับสน ความจำเสื่อม เนื้องอก/มะเร็งสมองเป็นต้น ซึ่งโรคสมองมีสาเหตุได้หลากหลาย ดังจะกล่าวต่อไปใน ‘หัวข้อสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง’

อนึ่ง โรคสมอง ชื่ออื่น เช่น

  • Central nervous system disease
  • CNS disease
  • Central nervous system disorder
  • CNS disorder

โรคสมอง เป็นโรคพบทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งนี้พบโรคสมองในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิงประมาณ 2 เท่า

ในสหรัฐอเมริกา มีรายงานการเจ็บป่วยด้วยโรคทางสมองในผู้ใหญ่โดยเฉพาะที่เป็นโรคเรื้อรัง พบได้ประมาณปีละมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งในการนี้รวมทั้งผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทางสมองด้วย

ในสหรัฐอเมริกา มีรายงานตัวอย่างโรคทางสมอง 8 ลำดับที่พบบ่อย เรียงจากพบบ่อยที่สุดไปจนถึงที่พบน้อยที่สุด คือ โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอัลไซเมอร์, โรคลมชัก, อุบัติเหตุทางสมอง, โรคพาร์กินสัน, เนื้องอกและมะเร็งสมอง, โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (โรคเอมเอส/MS), และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส/ALS

สาเหตุสำคัญของโรคทางสมองที่ป้องกันได้ แต่ผู้คนมักจะลืมนึกถึง คือ สมองบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ซึ่งพบทุกอายุเช่นกัน โดยสาเหตุเกิดได้ทั้งจาก การคลอด, ปัญหาในครอบครัว, การเล่น, การกีฬา, การทำงาน, การเดินทาง, การใช้รถใช้ถนน, การทะเลาะวิวาท, การดื่มสุรา, การล้มในผู้สูงอายุ, และอุบัติเหตุจากอาการชัก

โรคสมองมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

โรคสมอง

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคสมองมีหลากหลาย เช่น

  • สาเหตุจากโรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต) : ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดในปัจจุบัน โดยมีปัจจัยเสี่ยงมาจาก โรคหลอดเลือดแดงแข็ง, โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคไขมันในเลือดสูง, และโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน, ซึ่งโรคต่างๆเหล่านี้สามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังได้กล่าวในรายละเอียดที่แยกเขียนแต่ละบทความแล้วในเว็บ haamor.com
  • สาเหตุจากความเสื่อมของเซลล์สมอง: ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ จากการเสื่อมตามธรรมชาติของเซลล์ทุกชนิดในร่างกายเมื่อสูงอายุขึ้น เป็นอีกสาเหตุที่พบบ่อยของโรคทางสมอง โดยโรคที่พบบ่อยคือ โรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสัน ที่เป็นสาเหตุที่มักพบในผู้สูงอายุ ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป แต๋ประมาณ 2% ของผู้ป่วยพบเกิดก่อนอายุ 65 ปี

ทั้งนี้ ในผู้ป่วยทั้งหมดพบเกิดในผู้หญิงมากกว่าในผู้ชายเล็กน้อย

  • สาเหตุจากการบาดเจ็บของสมอง: โดยสาเหตุนี้พบได้บ่อยเช่นกัน ผู้ชายพบเกิดบ่อยกว่าผู้หญิง ประมาณ 2-3 เท่า และพบเกิดได้ในทุกอายุ ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งสาเหตุนี้เป็นสาเหตุที่ส่วนใหญ่สามารถป้องกันได้
  • สาเหตุจากโรคลมชัก: โรคลมชักเป็นโรคที่ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยเกิดอาการชักโดยไม่ทราบสาเหตุว่า อะไรเป็นตัวทำให้เซลล์สมองทำงานผิดปกติจนส่งผลให้เกิดอาการชัก หรือลมชักขึ้น
  • สาเหตุจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (โรคเอมเอส): เป็นโรคพบได้น้อย ผู้หญิงพบบ่อยกว่าผู้ชายประมาณ 1-3 เท่า พบในทุกอายุ แต่พบได้สูงในช่วงอายุ 20-40 ปี ทั้งนี้พบโรคนี้ได้ประมาณ 2-150 รายต่อประชากร 100,000 คน (โดยขึ้นกับว่าเป็นรายงานจากที่ใด)
  • สาเหตุจากการติดเชื้อ: เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยกว่าในประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น การติดเชื้อโรคเอดส์ การติดเชื้อแบคทีเรีย หรือ โรคติดเชื้อไวรัส (เช่น โรคสมองอักเสบ, โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ) เป็นสาเหตุพบได้ในทุกอายุ โดยเพศหญิงและเพศชายมีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกัน
  • สาเหตุจากโรคเนื้องอกสมอง (มะเร็งสมอง): เป็นโรคที่พบบ่อยปานกลาง พบในผู้หญิงและในผู้ชายใกล้เคียงกัน โดยพบในทุกอายุตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบในเด็กได้สูงกว่า
  • สาเหตุจากโรคมะเร็งสมอง: เป็นโรคพบน้อย พบได้ในทุกอายุ โดยพบในเด็กสูงกว่าในผู้ใหญ่ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคได้ใกล้เคียงกัน โรคมะเร็งสมอง แบ่งเป็นสมองกลุ่มใหญ่ คือ
    • โรคมะเร็งที่เกิดจากเซลล์สมองเอง(Primary brain cancer) ซึ่งเป็นโรคที่พบได้น้อยและพบในเด็กสูงกว่าในผู้ใหญ่ และ
    • โรคมะเร็งของอวัยวะอื่นที่แพร่กระจายสู่สมอง/Secondary brain cancer (โรคมะเร็งระยะที่ 4) เช่น จากโรคมะร็งปอด หรือจากโรคมะเร็งเต้านม เป็นโรคที่พบได้บ่อยกว่าโรคมะเร็งสมองมาก และพบได้สูงกว่ามากในผู้ใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับในเด็ก
  • สาเหตุจากความผิดปกติแต่กำเนิด: เป็นสาเหตุที่พบน้อย เช่น
    • จากภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด
    • จากมารดาเจ็บป่วยติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ เช่น โรคหัดเยอรมัน หรือ โรคซิฟิลิส
    • จากมารดาได้รับสารพิษขณะตั้งครรภ์ เช่น ยาฆ่าแมลง หรือสารตะกั่ว
    • หรือจากมีความผิดปกติทางพันธุกรรม
  • สาเหตุจากหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral aneurysm) เป็นโรคพบประปราย โรคนี้พบในทุกอายุ โดยประมาณ 2% พบในเด็ก ผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสเกิดใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ประมาณ 80-90% เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม สาเหตุที่เหลือ เช่น
    • จากโรคความดันโลหิตสูง
    • เป็นผลข้างเคียงจากหลอดเลือดสมองติดเชื้อ
    • หรือเป็นผลข้างเคียงหลังมีอุบัติเหตุของสมอง
  • สาเหตุจากโรคออโตอิมมูน/ โรคภูมิต้านตนเอง เช่น โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี (SLE) เป็นสาเหตุที่พบได้น้อยมาก ประมาณ 1% ของโรคสมองทั้งหมด
  • สาเหตุจากสารพิษ หรือ ผลข้างเคียงจากยา หรือ ของเสียในร่างกาย: เช่น จากสารตะกั่ว, จากสาร/ยาเสพติด, จากผลข้างเคียงของยาบางชนิด (เช่น ยาสเตียรอยด์ และยาแก้ปวดในกลุ่มที่เป็นยาเสพติด เช่น มอร์ฟีน), สุรา, ภาวะตับวาย, ภาวะไตวาย

โรคสมองมีอาการอย่างไร?

อาการจากโรคทางสมองขึ้นทั้งกับสาเหตุและกับตำแหน่งที่เกิดโรค เพราะสมองในแต่ละตำแหน่งจะทำหน้าที่ต่างๆกัน

อาการโดยทั่วไปที่ช่วยแพทย์วินิจฉัยว่า โรคน่าเกิดจากโรคสมอง คือ

  • ปวดหัว ซึ่งจะปวดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอาการไม่สามารถหายได้จากการกิน ยาแก้ปวด ลักษณะการปวดอาจปวดเฉพาะจุด เช่น ที่ขมับ หรือปวดทั่วทั้งศีรษะ และมักร่วมกับการอาเจียน
  • สับสน ซึมลง
  • ความจำด้อยลง หลงลืมง่าย
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็น อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือหายใจไม่ได้จากกล้ามเนื้อหายใจอ่อนแรง
  • อาการชา ตามจุดต่างๆทั่วร่างกาย เช่น แขน ขา และ/หรือใบหน้า
  • เดินเซ
  • ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด สายตาพร่ามัว
  • คอแข็ง
  • ชัก
  • โคม่า

แพทย์วินิจฉัยโรคสมองได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคสมอง ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติกินยาต่างๆ ประวัติการได้รับอุบัติเหตุ
  • การตรวจร่างกายทั่วไป
  • การตรวจร่ากายทางระบบประสาท
  • การตรวจต่างๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับ อาการผู้ป่วย สิ่งที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจเลือด ดูการติดเชื้อต่างๆ
    • ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalography ย่อว่า EEG)
    • ตรวจภาพสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ ซีทีสแกน และ/หรือเอมอาร์ไอ
    • ตรวจหลอดเลือดสมองด้วยการฉีดสีเข้าในหลอดเลือด (Angiography)
    • ตรวจน้ำไขสันหลัง/การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar puncture) และ
    • บางครั้งอาจต้องตัดชิ้นเนื้อจากสมองเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาโรคสมองอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคสมอง คือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาตามอาการ

ก. การรักษาสาเหตุ: เช่น

  • การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อโรคเกิดจากการติดเชื้อ
  • การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น รักษาโรคหลอดเลือดสมอง/ อัมพาต โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน ตามแต่ละสาเหตุ
  • นอกจากนั้น เช่น
    • การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อชะลอการเสื่อมของเซลล์สมอง เช่น การกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน โดยจำกัดปริมาณอาหารให้เหมาะสมกับการใช้พลังงานของร่างกาย เพื่อป้องกันโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
    • การออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
    • การทำกายภาพบำบัด กายภาพฟื้นฟู ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด
    • การรักษาสุขภาพจิต
    • การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)

ข.การรักษาตามอาการ: เช่น

  • ยาแก้ปวด
  • ยาแก้คลื่นไส้-อาเจียน
  • ยากันชักยาต้านชัก
  • การทำกายภาพบำบัด/กายภาพฟื้นฟู

โรคสมองรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

โดยทั่วไป โรคสมองจัดเป็นโรครุนแรงถึงแม้หลายโรคจะรักษาได้หาย แต่ผู้ป่วยมักยังมีความพิการหลงเหลืออยู่ตลอดชีวิตไม่มากก็น้อย เช่น ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือปัญหาในด้านความจำ เป็นต้น

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองที่สำคัญ คือเมื่อมีอาการดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้ออาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล หรือไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

ส่วนภายหลังเมื่อทราบว่าตนเองมีโรคสมอง การดูแลตนเองหลังพบแพทย์แล้ว คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่ง ให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อการมีสุขภาพกายและสุขภาพ จิตที่แข็งแรง
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน
  • ออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • ทำกายภาพบำบัด กายภาพฟื้นฟู ตามแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ อย่าหมดกำลังใจ
  • รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง หรืออาการผิดไปจากเดิม เช่น ปวดศีรษะมากขึ้น แขนขาอ่อนแรงมากขึ้น มีไข้สูง เริ่มมีแผลกดทับ
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง
    • เมื่อกังวลในอาการ

มีการตรวจคัดกรองโรคสมองไหม?

ปัจจุบันยังไม่มีการตรวจคัดกรองโรคสมองโดยตรง แต่สามารถตรวจคัดกรองโรคบางโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมอง ได้จาก การตรวจสุขภาพประจำปี เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง

มีการตรวจคัดกรองโรคสมองไหม?

การป้องกันโรคสมอง คือการหลีกเลี่ยงสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ที่หลีกเลี่ยงได้ ที่สำคัญคือ

  • ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตในเรื่องการกินอาหาร คือกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ ครบถ้วนในทุกวัน ในปริมาณที่เหมาะสมไม่ให้เกิด โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ
  • เลิกบุหรี่/ไม่สูบบุหรี่ จำกัดการดื่มสุรา (อ่านเพิ่มเติมใน อาหารป้องกันโรคมะเร็ง)
  • ป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อโรคสมอง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน และโรคมะเร็งต่างๆ
  • ระมัดระวังอุบัติเหตุในชีวิตประจำวัน เช่น ใช้หมวกนิรภัยเมื่อขับขี่จักรยานยนต์ รัด เข็มขัดนิรภัยเมื่อขับรถยนต์ และสวมใส่เครื่องป้องกันศีรษะเสมอ ขึ้นกับประเภทกีฬา และการงานอาชีพ รวมทั้งการเมาไม่ขับ
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ลดโอกาสติดเชื้อ และการเป็นโรคทางจิตเวช
  • การตรวจสุขภาพประจำปี คัดกรองโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคมะเร็งซึ่งโรคที่มีวิธีตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง)

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Central_nervous_system_disease [2020,Jan18]
  2. https://www.healthline.com/health/brain-disorders [2013,Jan2].
  3. https://www.caregiver.org/incidence-and-prevalence-major-causes-brain-impairment [2020,Jan18]