โรคติดเชื้อไมโคพลาสมา / มัยโคพลาสมา (Mycoplasma infections)

สารบัญ

บทนำ

โรคติดเชื้อไมโคพลาสมา หรือ โรคติดเชื้อมัยโคพลาสมา หรือโรคไมโคพลาสมา หรือ มัยโคพลาสมา (Mycoplasma infections) คือโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียในกลุ่ม Myco plasma ซึ่งจะติดต่อจากคนสู่คน โดยแบ่งโรคติดเชื้อชนิดนี้ออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ตามตำ แหน่งของการเกิดโรค คือการติดเชื้อที่ทำให้เกิดโรคทางระบบทางเดินหายใจ และการติดเชื้อที่ทำให้เกิดโรคของระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ โรคทั้งสองกลุ่มนี้ มียาปฏิชีวนะสำ หรับรักษา แต่ไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกัน ผู้ที่เคยติดเชื้อเป็นโรคมาแล้ว มีโอกาสติดเชื้อและเป็นโรคซ้ำได้อีก

โรคติดเชื้อไมโคพลาสมามีสาเหตุจากอะไร?

เชื้อในกลุ่มไมโคพลาสมา เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีขนาดเล็กที่สุดในแบคทีเรียกลุ่มที่สามารถมีชีวิตอยู่นอกร่างกายคนและสัตว์ได้ และเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีลักษณะพิเศษคือ ไม่มีผนังเซลล์เหมือนแบคทีเรียชนิดอื่นๆอีกหลายชนิด

การแยกเชื้อในกลุ่มนี้จากร่างกายของคน พบมีอยู่ 17 ชนิด (Species) แต่ส่วนใหญ่อา ศัยอยู่ในร่างกายของเราโดยไม่ทำให้เกิดโรค โดยมีอยู่เพียง 5 ชนิดที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ เชื้อชนิด Mycoplasma pneumonia ซึ่งทำให้เกิดโรคของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งรวมทั้งปอดบวม และ อีก 4 ชนิด คือ เชื้อชนิด Mycoplasma genitalium, Mycoplasma hominis, Ureaplas ma urealyticum และ Ureaplasma parvum ทำให้เกิดโรคของ ระบบทางเดินปัสสาวะ และระ บบสืบพันธุ์ (ระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี และระบบอวัยวะสืบพันธุ์ชาย)

การติดต่อของเชื้อชนิด Mycoplasma pneumonia เกิดจากการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วยที่ ไอ จาม ออกมา เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคนี้ ส่วนเชื้อชนิดอื่นๆที่เหลือ การติดเชื้อเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์

การติดเชื้อชนิด Mycoplasma pneumonia ส่วนใหญ่เกิดในช่วงอายุ 5-20 ปี เพศหญิงและเพศชายพบได้เท่าๆกัน พบได้ทั่วโลก เกิดขึ้นได้ประปรายตลอดทั้งปี แต่พบมากในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูหนาว การระบาดเป็นกลุ่มๆมักเกิดในที่มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่นและใกล้ชิดกัน เช่น ในโรงเรียน ค่ายทหาร เป็นต้น ส่วนการระบาดเป็นบริเวณกว้าง (Epidemics) มักเกิดขึ้นเป็นรอบ ๆ ทุกๆ 2-3 ปี

สำหรับการติดเชื้อชนิดอื่นๆสามารถพบได้ทุกเชื้อชาติทั่วโลกเช่นกัน ชายและหญิงพบได้เหมือนๆกัน แต่จะเป็นโรคแตกต่างกันตามอวัยวะของระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะระบบสืบ พันธุ์สตรี/ อวัยวะระบบสืบพันธุ์ชายที่แตกต่างกัน โดยโรคส่วนใหญ่จะพบในวัยเจริญพันธุ์ ไม่มีฤดูการระบาดที่จำเพาะ

เชื้อไมโคพลาสมาก่อโรคได้อย่างไร?

สำหรับเชื้อชนิด Mycoplasma pneumonia ที่ก่อโรคในระบบทางเดินหายใจ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว เชื้อจะอาศัยกลุ่มของโปรตีนที่มีอยู่บนเยื่อหุ้มเซลล์ ไปเกาะติดกับเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบนหรือส่วนล่าง แล้วแบ่งตัวเพิ่มจำนวน เซลล์แบคทีเรียจะผลิตสารก่ออนุมูลอิสระชนิด Hydrogen peroxide ออกมา ซึ่งทำให้เซลล์เยื่อบุตายได้ เมื่อเซลล์ตาย เม็ดเลือดขาวก็จะเข้ามาเก็บกิน และปล่อยสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบและทำให้เกิดอาการตามมา นอกจากนี้มีการค้นพบว่าเชื้อชนิดนี้อาจมีการปล่อยสารพิษชนิด Exotoxin ชื่อว่า Com munity-acquired respiratory disease toxin (CARDS) ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายสารพิษของเชื้อที่ทำให้เกิดโรคไอกรน

ส่วนเชื้อชนิดอื่นๆ จะไปเกาะติดกับเยื่อบุท่อปัสสาวะหรือช่องคลอด และผลิตสารเคมีแอม โมเนียออกมา ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เซลล์เยื่อบุตายได้เช่นกัน

ในผู้ป่วยทั่วไปๆ เชื้อแบคทีเรียจะไม่ลุกลามลงไปลึกกว่าชั้นเยื่อบุผิวและไม่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด/กระแสโลหิต ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง หรือ มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในร่างกาย เช่น ใส่สายสวนปัสสาวะอยู่

โรคติดเชื้อไมโคพลาสมามีอาการอย่างไร?

อาการของโรคติดเชื้อไมโคพลาสมาแบ่งออกเป็น

  1. โรคทางระบบทางเดินหายใจ ระยะฟักตัวของโรคคือ ตั้งแต่รับเชื้อจนกระทั่งแสดงอาการ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งค่อนข้างยาวนานกว่าระยะฟักตัวของโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจจากเชื้อชนิดอื่นๆ และมีประมาณ 20% ที่ผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการ สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อและมีอาการนั้น ส่วนใหญ่จะมีอาการจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง (หลอดลม และปอด) คือ หลอดลมอักเสบ หรือ ปอดอักเสบ ปอดบวม และมีเพียงส่วนน้อยที่จะเกิดมีอา การของระบบทางเดินหายใจส่วนบน (จมูก ลำคอ ท่อลม) เช่น คออักเสบ ซึ่งมักจะพบในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี
  2. อาการของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนล่างของเชื้อชนิดนี้ คือ มีไข้ โดยไข้มักจะไม่สูงเกิน 38.9 องศาเซลเซียส (Celsius) ปวดศีรษะ และไอ ซึ่งมักไม่มีเสมหะ หากมีเสมหะ ก็จะเป็นสีขาว ไม่ใช่เหลืองหรือเขียว โดยอาการจะค่อยเป็นค่อยไป แต่เป็นอยู่ค่อนข้างนานเมื่อเทียบกับสาเหตุจากเชื้อชนิดอื่นๆ โดยอาจเป็นอยู่นานหลายสัปดาห์ ส่วนอา การอื่นๆที่อาจพบได้แต่เกิดขึ้นน้อย ได้แก่ ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายอุจจาระเหลว/ท้องเสีย การตรวจร่างกายโดยการฟังเสียงปอด มักไม่ได้ยินเสียงผิดปกติ ซึ่งแตกต่างจากการติดเชื้อไวรัส หรือ แบคทีเรียทั่วๆไปที่ทำให้เกิดปอดอักเสบ ในผู้ป่วยส่วนน้อย อาจมีอาการของระบบอื่นๆ นอกระบบทางเดินหายใจได้ เช่น
    • การเกิดผื่นแดงชนิดที่เรียกว่า Erythema multiforme คือ มีลักษณะเป็นปื้นนูนแดงที่มีรอยบุ๋มตรงกลางจากการตายของผิวหนัง มักพบในผู้ป่วยเพศชาย อายุน้อย โดยหากพบผื่นชนิดนี้ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นปอดบวม ก็จะค่อนข้างจำเพาะว่าเกิดจากการติดเชื้อไมโคพลาสมา ส่วนผื่นชนิดอื่นๆก็สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ไม่จำเพาะเหมือนผื่นชนิด Erythema multi forme เช่น ผื่นลมพิษ ผื่นชนิดตุ่มน้ำใส เป็นต้น
    • การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
    • การเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ ไขสันหลังอักเสบ
    • มีอาการปวดตามข้อ (Arthralgia) มีส่วนน้อยมากที่อาจเกิดข้ออักเสบ (Arthritis)
    • การเกิดเม็ดเลือดแดงแตกซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจาง (ภาวะซีด) และอาจมีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ

    อนึ่ง วิธีการก่อโรคของเชื้อที่ทำให้เกิดอาการในระบบอื่นๆนอกจากระบบทางเดินหายใจนั้นยังไม่ทราบชัดเจน

  3. อาการของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ มีไข้ เจ็บคอ คอ แดง ตาแดง คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดหู มีเพียงส่วนน้อยที่อาจคลำได้ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณคอโต ส่วนอาการที่ค่อนข้างจำเพาะต่อการติดเชื้อชนิดนี้ คือ อาการปวดหูจากเยื่อแก้วหูอักเสบ (Bullous myringitis) แต่พบได้น้อยมาก
  • โรคของระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ ในคนปกติบางคนที่ไม่มีอา การ สามารถคัดแยกเพาะเชื้อที่ทำให้เกิดโรคในกลุ่มนี้จากช่องคลอดของผู้หญิงหรือท่อปัสสาวะทั้งหญิงและชายได้ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์แล้ว จะมีโอกาสพบเชื้อเหล่านี้ได้มากขึ้น ในเด็กแรกคลอดเองก็สามารถตรวจพบเชื้อได้ โดยรับเชื้อมาจากมารดาขณะที่คลอดผ่านช่องคลอด แต่โดยส่วนใหญ่ไม่ได้ทำให้ทารกเกิดโรคและเชื้อก็จะหายไปได้เองในที่สุด สำ หรับในผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อและมีอาการนั้น ได้แก่อาการเหล่านี้
    1. ท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis) ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะบ่อย ปวดเวลาปัสสาวะใกล้เสร็จ ปัสสาวะขุ่น อาจมีคราบหนองเปื้อนกางเกงใน
    2. ต่อมลูกหมากอักเสบ (Prostatitis) และท่อเก็บอสุจิอักเสบ (Epididymitis) อาการได้แก่ มีไข้ ปัสสาวะบ่อย ปวดแสบเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะลำบาก ไม่พุ่ง ปวดเอว ปวดท้องน้อย ปวดบริเวณอัณฑะ
    3. การอักเสบในอุ้งเชิงกรานในเพศหญิง (Pelvic inflammatory disease) อา การ คือ มีไข้ ปวดท้องน้อย ตกขาวมาก เลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ
    4. ปัญหาอื่นๆ เช่น การเกิดรกอักเสบในทารกที่อยู่ในครรภ์ และอาจเป็นสาเหตุของการเป็นหมันทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย
  • อนึ่ง เชื้อในกลุ่มที่ทำให้เกิดอาการของระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์นี้ อาจเป็นสาเหตุของโรคอื่นๆได้ เช่น ข้ออักเสบ กลุ่มอาการ Reiter’s syndrome (กลุ่มอาการที่เกิดการอักเสบกับหลายๆอวัยวะโดยมีการติดเชื้อเป็นตัวกระตุ้น แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุต่ออวัยวะนั้นๆโดยตรง เช่น มีการอักเสบของ ข้อ ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ อวัยวะสืบพันธุ์ และตาอัก เสบ เกิดขึ้นพร้อมๆกัน) เป็นต้น

    แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อไมโคพลาสมาได้อย่างไร?

    แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อไมโคพลาสมาได้โดย

    1. การวินิจฉัยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
      1. อาการของระบบหายใจส่วนต้นนั้น ยากที่จะวินิจฉัยว่าเกิดจากเชื้อไมโคพลาสมา เนื่องจากอาการเหมือนกับการติดเชื้อชนิดอื่นๆที่ทำให้เกิดอาการของระบบหายใจส่วนต้น แต่หากผู้ป่วยมีอาการปวดหู และตรวจพบตุ่มน้ำใสที่เยื่อแก้วหูก็เป็นอาการแสดงที่บ่งว่าผู้ป่วยอาจกำลังติดเชื้อไมโคพลาสมาอยู่ การพิสูจน์ยืนยันว่า ติดเชื้อไมโคพลาสมาโดยอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการนั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก ไม่สะดวกในทางปฏิบัติ และไม่มีความจำเป็น เนื่องจากโรคไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้
      2. อาการของระบบทางเดินทางหายใจส่วนล่าง อาการของหลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบ/ปอดบวมจากเชื้อไมโคพลาสมาจะคล้ายกับสาเหตุจากเชื้ออื่นๆ การจะระบุว่าเกิดจากเชื้อชนิดนี้ หรือเชื้อชนิดอื่นๆก็ตามแทบเป็นไปไม่ได้ หากผู้ป่วยมีอาการเป็นระยะเวลา นาน หรือมีอาการของระบบอื่นๆเกิดร่วมอยู่ ก็อาจสันนิษฐานได้ว่าน่าจะเกิดจากเชื้อไมโคพลาส มา การตรวจทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้นอาจช่วยในการบ่งชี้ว่าผู้ป่วยน่าจะติดเชื้อชนิดนี้ ได้แก่
        • การเจาะเลือดผู้ป่วยในหลอดทดลองที่มีสารกันเลือดแข็งตัวแล้วนำไปแช่เย็นที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส เมื่อเอียงหลอดทดลอง จะเห็นเม็ดเลือดแดงตกตะกอนเกาะกันเป็นก้อน แต่เมื่ออุ่นเลือดที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เม็ดเลือดแดงก็จะเลิกเกาะตัวกัน เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Cold agglutinin ซึ่งอาจพบในโรคติดเชื้อรวมไปถึงโรคอื่นๆได้ แต่หากผู้ป่วยมีอาการของการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างร่วมกับมีการตรวจพบปรากฏการณ์นี้ ก็บ่งชี้ว่าน่าจะเกิดจากเชื้อไมโคพลาสมา
        • การเอกซเรย์ปอด พบเงาผิดปกติ ซึ่งมักจะไม่สัมพันธ์กับอาการของผู้ป่วย คือเงาที่ผิดปกติดูรุนแรง แต่อาการที่ปรากฏกลับไม่รุนแรง และมักพบเงาผิดปกติที่ปอดด้านล่าง
        • การตรวจเสมหะ ในผู้ป่วยที่มีเสมหะ เมื่อนำเสมหะไปตรวจย้อมสีดูเชื้อแบคทีเรีย (Gram stain) จะตรวจไม่เจอเชื้อ เนื่องจากเชื้อชนิดไมโคพลาสมาไม่มีผนังเซลล์ จึงไม่ติดสีใดๆ แต่หากเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นๆก็จะตรวจเห็นได้

          อนึ่ง สำหรับการตรวจที่จะพิสูจน์ยืนยันว่าผู้ป่วยติดเชื้อไมโคพลาสมา ได้แก่

        • การเพาะเชื้อจากเสมหะ หรือสิ่งคัดหลั่งจากหลอดลมที่ดูดออกมา การเพาะเชื้อใช้เวลาค่อน ข้างนานประมาณ 2-3 สัปดาห์ กว่าเชื้อจะขึ้นและพิสูจน์ได้ว่าเป็นเชื้อไมโคพลาสมา จึงไม่สะ ดวกในทางปฏิบัติและไม่ทันต่อการวินิจฉัย
        • การตรวจหาแอนติบอดี (Antibody/สารภูมิต้านทาน) ต่อเชื้อไมโคพลาสมา เพื่อให้มีความไวและความจำเพาะสูง ต้องเจาะเลือดตรวจ 2 ครั้ง ห่างกันนาน 2-4 สัปดาห์ จึงไม่สะดวกในทางปฏิบัติและไม่ทันต่อการวินิจฉัยเช่นกัน ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคนิคให้มีความไวในการตรวจพบเชื้อมากขึ้นในการตรวจเพียงครั้งเดียว
        • การตรวจหาองค์ประกอบทางโมเลกุลของเชื้อไมโคพลาสมา หรือสารก่อภูมิต้านทาน (Anti gen detection) โดยใช้เทคนิควิธีที่เรียกว่า PCR (Polymerase chain reaction) ซึ่งค่อนข้างแม่นยำและได้ผลรวดเร็ว แต่ราคาแพง
      3. การวินิจฉัยโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ อาการจากเชื้อชนิดนี้ไม่แตกต่างจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นๆ การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยติดเชื้อกลุ่มนี้เฉพาะจากอาการจึงไม่สามารถทำได้ การตรวจทางห้องปฏิบัติการในเบื้องต้น ที่อาจบ่งชี้ว่าอาจจะเป็นเชื้อกลุ่มนี้ ได้แก่ การนำปัสสาวะหรือหนองที่เก็บได้จากท่อปัสสาวะในผู้ที่มีอาการของท่อปัสสาวะอักเสบ หรือต่อมลูกหมากอักเสบ ไปย้อมสีดูเชื้อแบคทีเรีย (Gram stain) ซึ่งถ้าเป็นเชื้อในกลุ่มนี้ก็จะตรวจหาไม่เจอ ส่วนการตรวจที่จะเป็นการพิสูจน์ยืนยันชนิดของเชื้อนั้นต้องอาศัยการเพาะเชื้อ ซึ่งเฉพาะเชื้อชนิด Mycoplasma hominis เท่านั้นที่เพาะขึ้นในอาหารเพาะเชื้อธรรมดาทั่วไป ส่วนเชื้อชนิด Mycoplasma genitalium และ Ureaplasmaspp. ต้องอาศัยอาหารเพาะเชื้อชนิดพิเศษ ซึ่งปกติไม่มีในห้องปฏิบัติการทั่วๆไป ส่วนการตรวจหาแอนติ เจน (Antigen/สารก่อภูมิต้านทาน)ใช้เทคนิควิธีที่เรียกว่า PCR ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา

        สำหรับการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานของผู้หญิง มักจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดร่วม กัน จึงยากที่จะให้การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยกำลังติดเชื้อกลุ่มไมโคพลาสมาทั้งจากการย้อมสีดูเชื้อแบคทีเรีย หรือเพาะเชื้อ

        ดังนั้นโดยปกติ เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะหรือระบบสืบพันธุ์แล้ว ก็จะให้ยาปฏิชีวนะที่คลอบคลุมเชื้อหลายๆชนิดที่อาจเป็นสาเหตุ หากอาการไม่ดีขึ้น จึงจะอาศํยการตรวจพิเศษเพื่อหาชนิดของเชื้อต่อไป

    โรคติดเชื้อไมโคพลาสมารุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

    ความรุนแรงและผลข้างเคียงจากโรคติดเชื้อไมโคพลาสมา ได้แก่

    1. โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง และสามารถหายเองได้ในที่สุดแม้ไม่ได้รับยาปฏิชีวนะ แม้โรคจะก่ออาการอยู่ค่อนข้างนาน ในผู้ ป่วยที่เป็นปอดอักเสบ ปอดบวม สมรรถภาพการทำงานของปอดก็จะกลับมาเป็นปกติดี การให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อจะช่วยทำให้อาการหายเร็วขึ้น โดยจะหายภายใน 7-10 วัน มีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยที่อาการปอดอักเสบอาจรุนแรง และใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าสมรรถภาพการทำงานของปอดจะกลับมาปกติ ในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เชื้ออาจลุกลามเข้าสู่กระ แสเลือดและทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) ได้

      ในผู้ป่วยที่มีอาการของระบบอื่นๆนอกระบบทางเดินหายใจ อาการต่างๆ จะกลับ มาหายเป็นปกติได้ในที่สุด เว้นแต่อาการทางระบบประสาทและสมองที่อาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์ในการกลับมาทำงานได้เป็นปกติ มีเพียงส่วนน้อยมากที่อาจเกิดการสูญเสียการทำงานถาวร

    2. โรคติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ การศึกษาและรายงานต่างๆในเรื่องความรุนแรงโรคที่เกิดจากเชื้อในกลุ่มนี้ยังมีน้อย อีกทั้งการติดเชื้อของระ บบนี้มักเกิดจากเชื้อหลายชนิดร่วมกัน จึงยากที่จะประเมิน แต่โดยรวมแล้วอาการมักไม่รุนแรง แต่อาจทำให้เกิดปัญหาสำคัญตามมา เช่น การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานอาจทำให้มีลูกยากได้ และสำหรับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง อาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและอาการรุนแรงได้

    รักษาโรคติดเชื้อไมโคพลาสมาอย่างไร?

    แนวทางในการรักษาโรคติดเชื้อไมโคพลาสมา ได้แก่

    1. โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่สามารถพิสูจน์ยืน ยันการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยกำลังติดเชื้อไมโคพลาสมาอยู่ แพทย์จึงทำการรักษาตามอาการของโรคติดเชื้อทางระบบหายใจทั่วๆไป ในภาพรวม คือ

      หากเป็นอาการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนต้น จะให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ให้ยาลดไข้/ยาแก้ปวด ยาลดน้ำมูก เป็นต้น แต่หากตรวจร่างกายพบ Bullous myringitis ซึ่งบ่งชี้ว่าน่าจะเป็นจากเชื้อไมโครพลาสมา แพทย์ก็จะให้ยาปฏิชีวนะ

      สำหรับการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง/ปอด หากมีอาการไม่รุนแรง ก็จะให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ให้ยาลดไข้/แก้ปวด แก้ไอ เป็นต้น แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรียหลายๆชนิดที่อาจเป็นสาเหตุ โดยพิจารณาตามอายุของผู้ป่วย โรคประจำตัว และการระบาดตามพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งยาปฏิชีวนะที่ใช้ส่วนใหญ่ก็จะครอบคลุมเชื้อไมโคพลาสมาด้วย หากผู้ป่วยมีอาการบ่งชี้ว่าน่าจะเป็นการติดเชื้อไมโคพลาสมา เช่น มีอาการอยู่นานหลายวัน ตรวจร่างกายพบผื่นชนิด Erythema multiforme แพทย์ก็จะให้ยาปฏิชีวนะที่ตรงกับเชื้อ

      สำหรับผู้ป่วยที่อาการรุนแรง ก็จะต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ให้ยาบรรเทาตามอา การ ให้สารน้ำทางหลอดเลือด และแพทย์จะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่คลอบคลุมเชื้อหลายๆชนิด ซึ่งก็จะครอบคลุมเชื้อไมโคพลาสมา โดยให้เป็นยาฉีดเข้าหลอดเลือด หากอา การและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆบ่งชี้ว่าน่าจะเป็นจากเชื้อไมโคพลาสมา แพทย์ก็จะให้ยาที่ตรงกับเชื้อมากขึ้น

    2. โรคติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะและระบบอวัยวะสืบพันธุ์ เมื่อผู้ป่วยมีอาการอักเสบของอวัยวะในกลุ่มนี้ แพทย์ก็จะให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดที่อาจเป็นสาเหตุ ซึ่งก็จะครอบคลุมเชื้อไมโคพลาสมาด้วย ส่วนการรักษาอื่นๆก็เป็นการรัก ษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ ให้ยาแก้ปวด เป็นต้น

    ป้องกันโรคติดเชื้อไมโคพลาสมาได้อย่างไร?

    การป้องกันโรคติดเชื้อไมโคพลาสมา ได้แก่

    1. การป้องกันการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ใช้หลักการเดียวกันกับการป้องกันโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทั่วๆไป เช่น พยายามหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น แออัด หรือใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูก/หน้ากากอนามัยหากจำเป็น การล้างมือบ่อยๆ ล้างมือทุกครั้งก่อนปรุงอาหารหรือทานอาหาร การใช้ช้อนกลางทานอาหาร เป็นต้น
    2. การป้องกันการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะและระบบอวัยวะสืบพันธุ์ คือ การไม่สำส่อนทางเพศ ส่วนการใช้ถุงยางอนามัยอาจไม่สามารถช่วยป้องกันได้
    3. ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อนี้

    ควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

    การดูแลตนเองและการพบแพทย์ คือ

    1. ผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ให้การดูแลตนเองเหมือนโรคติดเชื้อระ บบทางเดินหายใจทั่วๆ ไป เช่น ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ หากมีอาการไม่รุนแรงสามารถ ทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เช่น การไปทำงาน การไปเรียนหนังสือ แต่ควรใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร ไม่ใช้ของส่วน ตัวร่วมกับผู้อื่น สำหรับเด็กเล็กๆที่ยังดูแลตัวเองได้ไม่ดี ควรหยุดเรียน ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านเดียว กัน ไม่จำเป็นต้องแยกห้องอยู่ แต่ควรแยกห้องนอน
    2. ผู้ที่มีอาการของการติดเชื้อทางเดินหายใจที่มีอาการรุนแรง เช่น ไอมากจนเหนื่อย อ่อนเพลียหรือมีอาการมานานมากกว่า 1 สัปดาห์ ควรพบแพทย์
    3. ผู้ที่มีอาการของระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด ปวดท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน ตกขาวมาก ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม

    บรรณานุกรม

    1. William M. McCormack, Mycoplasma infections, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition,Braunwald ,Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001.
    2. http://emedicine.medscape.com/article/223609-overview#showall [2013, July17].
    Updated 2013, July 17