โรคติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

(Toxoplasmosis) คือโรคติดเชื้อปรสิตที่ชื่อ Toxoplas ma gondii ซึ่งเป็นปรสิตชนิดเซลล์เดียว โดยมีวงจรชีวิตอาศัยอยู่ในแมวและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต่างๆ รวมถึงคน การติดเชื้อในคนปกติทั่วไปมักไม่ทำให้เกิดอาการ แต่ในผู้ที่ร่างกายมีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องจะทำให้เกิดอาการที่รุนแรง เด็กทารกในครรภ์มีโอกาสติดเชื้อมาจากมารดา และทำให้เกิดความพิการตามมาได้

พบการติดเชื้อปรสิต Toxoplasma gondii ได้ทั่วโลก ยกเว้นบริเวณขั้วโลก โดยเฉลี่ยพบว่าประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรทั่วโลกมีเชื้อชนิดนี้อยู่ในร่างกาย การเก็บข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกา พบมีผู้ที่ติดเชื้ออยู่ประมาณ 20% ในขณะที่ประเทศเอลซัลวาดอร์ และฝรั่งเศส พบผู้ติดเชื้อได้มากถึง 75% ส่วนประเทศอื่นๆในแถบลาตินอเมริกา ยุโรป และแอฟริกา ก็พบมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 50% สำหรับประเทศไทยยังไม่มีรายงานที่ชัดเจน

การติดเชื้อปรสิตของทารกในครรภ์ พบมีรายงานตั้งแต่ 1 รายต่อทารกแรกคลอด 10,000 ราย ถึง 1 รายต่อทารกแรกคลอด 1,000 ราย

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิสคืออะไร?

โรคติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิส

วงจรชีวิตของเชื้อปรสิต Toxoplasma gondii อาศัยร่างกายแมวเป็นที่อยู่อาศัยและสืบ พันธุ์แบบใช้เพศ จึงเรียกแมวว่าเป็น ตัวให้อาศัยจำเพาะ/โฮสต์จำเพาะ/โฮสต์แท้ (Definitive host) และอาศัยร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ รวมถึงคนและนก เป็นที่อยู่อาศัยและสืบพันธุ์แบบไม่ใช้เพศ จึงเรียกคนและสัตว์อื่นๆ ว่าเป็นโฮสต์กึ่งกลาง/โฮสต์ขั้นกลาง (Interme diate host)

แมวจะรับเชื้อจากการกินสัตว์ที่มีเชื้อปรสิตชนิดนี้อยู่ เช่น หนู นก โดยเชื้อปรสิตที่อยู่ในร่างกายสัตว์เหล่านี้จะอยู่ในระยะการเจริญเติบโตที่เรียกว่า “เชื้อระยะ Bradyzoites” ซึ่งเชื้อระ ยะนี้จะอยู่ในถุงน้ำ (Cyst) ภายในเซลล์ของร่างกายสัตว์ เมื่อแมวกินเชื้อเข้าไป เชื้อจากถุงน้ำก็จะออกมา และเดินทางไปยังลำไส้เล็กของแมว แล้วเข้าไปอยู่ในเซลล์เยื่อบุของลำไส้แมว หลัง จากนั้นจะเปลี่ยนรูปร่างจากระยะ Bradyzoites กลายเป็น “เชื้อระยะ Merozoites” ซึ่งสามารถที่จะแบ่งตัวได้รวดเร็ว ทำให้เชื้อที่อยู่ในแมวมีปริมาณมากขึ้นได้ จากนั้นเชื้อระยะ Merozoites จะเปลี่ยนรูปร่างอีกครั้ง กลายเป็นเชื้อที่มีทั้งเพศผู้และเพศเมีย ซึ่งเมื่อการผสมพันธุ์เกิดขึ้น จะได้ถุงไข่ที่มีตัวอ่อนอยู่ เรียกว่า Oocyst และเรียกตัวอ่อนว่า Sporozoites ถุงไข่เหล่านี้จะปนออก มากับอุจจาระแมว โดยพบว่าแมวที่ติดเชื้อ 1 ตัวจะปล่อยถุงไข่ของปรสิตได้หลายล้านฟองใน ช่วงระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ และถุงไข่เหล่านี้สามารถคงอยู่ในดินทรายได้นานเป็นปี แมวที่ติดเชื้อครั้งหนึ่งแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่เกิดการติดเชื้อซ้ำอีก ดังนั้นการแพร่เชื้อของแมวจะเกิดเพียง 1 ครั้งในชีวิต และแมวส่วนใหญ่จะติดเชื้อตั้งแต่เป็นลูกแมวภายในอายุ 6 เดือน

เมื่อคนกินอาหารที่ปนเปื้อนถุงไข่ของปรสิตเข้าไป น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กจะย่อยเปลือกของถุงไข่ให้แตกออก เชื้อปรสิตก็จะออกมาแล้วเข้าไปอยู่ในเซลล์เยื่อบุของลำไส้ จากนั้นเชื้อจะเปลี่ยนรูปร่างจากระยะ Sporozoites เป็นระยะ Tachyzoites ซึ่งเชื้อจะแบ่ง ตัวเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว จนถุงขยายขนาดใหญ่ และทำให้เซลล์เยื่อบุของลำไส้แตกออก เชื้อก็จะเข้าไปอยู่ในเซลล์อื่นๆ และแบ่งตัวต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดและระบบน้ำเหลือง และเดินทางเข้าไปอยู่ในเซลล์ของอวัยวะได้ทุกอวัยวะในร่างกายของเรา

ร่างกายของคน พยายามที่จะกำจัดเชื้อตั้งแต่เมื่อเชื้อเข้าสู่ลำไส้ โดยเซลล์เม็ดเลือดขาวบริเวณลำไส้ จะสร้างแอนติบอดี (สารภูมิต้านทาน/Antibody) ชนิด IgA (Immunoglobu lin A) ขึ้นมาเพื่อกำจัดปรสิต ส่วนเชื้อที่เข้าสู่เซลล์ร่างกายของเราได้แล้ว ร่างกายจะส่งเม็ดเลือดไปทำลายและจับกินปรสิต และสร้างแอนติบอดีชนิด IgM (Immunoglobulin M) และ IgG (Immunoglobulin G) เข้ามาช่วยเม็ดเลือดขาวในการจับกินปรสิต เชื้อปรสิตก็จะเปลี่ยนรูปร่างจากระยะ Tachyzoites มาเป็นระยะ Bradyzoites ซึ่งจะหยุดการแบ่งตัวเพื่อขยายพันธุ์ และสร้างถุงน้ำล้อมรอบตนเองภายในเซลล์ของร่างกายคนเรา ซึ่งเรียกว่า Tissue cyst เชื้อปรสิตที่อยู่ในรูปแบบนี้ จะไม่ถูกเซลล์เม็ดเลือดขาวเข้ามาทำลายและจับกิน เมื่อเวลาผ่านไป เชื้ออาจมีการแบ่งตัวเพื่อทดแทนเชื้อที่ตายไป ทำให้เชื้อสามารถอยู่กับร่างกายไปได้ตลอดอา ยุขัยของเรา โดยไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ เซลล์ของร่างกายที่เชื้อจะเข้าไปอยู่และสร้าง Tissue cyst ขึ้นมา สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกอวัยวะของร่างกาย แต่ส่วนใหญ่มักพบในเซลล์สมอง เซลล์ในลูกตา ในกล้ามเนื้อลาย และในกล้ามเนื้อหัวใจ

ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต่างๆ รวมทั้งนก เมื่อกินอาหารที่ปนเปื้อนถุงไข่ของปรสิตเข้าไปก็จะเกิด Tissue cyst เช่นเดียวกับในคน

ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันฯบกพร่อง เช่น ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV), ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิ คุ้มกันฯเพื่อปลูกถ่ายอวัยวะ, หรือให้ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง เม็ดเลือดขาว เป็นต้น เซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยเหล่านี้ จะมีปริมาณลดลงหรือทำหน้าที่ได้ไม่ปกติ หากเพิ่งมีการติดเชื้อนี้ เชื้อที่เข้าสู่ระยะ Tachyzoites จะสามารถแบ่งตัวไปได้เรื่อยๆ โดยไม่เปลี่ยนรูปร่างมาเป็นระ ยะ Bradyzoites และไม่เกิด Tissue cyst เชื้อปรสิตนี้ก็จะไปทำให้เกิดพยาธิสภาพขึ้นได้ในหลายๆอวัยวะ และผู้ป่วยก็จะมีอาการที่รุนแรง หากเคยติดเชื้อและมี Tissue cyst อยู่แล้ว เชื้อที่อยู่ในระยะ Bradyzoites จะเปลี่ยนรูปร่างมาอยู่ในระยะ Tachyzoites แล้วแบ่งตัวเพิ่มจำนวน จนเข้าสู่กระแสเลือด และกระจายไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย และทำให้เกิดอาการที่รุนแรงได้เช่นกัน เรียกว่าเชื้อเกิด “การปลุกฤทธิ์คืนมา (Reactivation)”

ทั้งนี้ คนจะรับเชื้อปรสิตนี้มาได้จากหลายทาง ได้แก่

  • การกินอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระแมวที่มีเชื้อนี้ ซึ่งอาจเกิดจากผู้เลี้ยงแมวทำการเก็บอุจจาระแมว แล้วไม่ได้ล้างมือให้สะอาดก่อนการปรุงหรือจับอาหารที่กิน ในผู้ที่ไม่ได้เลี้ยงแมวก็อาจติดมาจากการทำสวน หรือเล่นในสวนแล้วมือเปื้อนดินทราย ซึ่งแมวพเนจรมักชอบอุจจาระในที่เหล่านี้ หรืออาจเกิดจากกินผักผลไม้สดที่เปื้อนดินทรายก็ได้ สำหรับตามตัวของแมว ไม่พบถุงไข่ตามขนของแมวที่มีเชื้อนี้ การลูบขนแมวจึงไม่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะติดเชื้อ
  • การกินเนื้อดิบของสัตว์ที่เป็น Intermediate host ซึ่งมีพยาธิอยู่ในระยะ Tissue cyst หากคนเรากิน Tissue cyst เข้าไป เมื่อลงสู่ลำไส้ น้ำย่อยจะย่อยให้ถุงน้ำแตกออก เชื้อปรสิตนี้ที่อยู่ในระยะ Bradyzoites ก็จะออกมา และเปลี่ยนรูปร่างเป็นระยะ Tachyzoites และเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับการกินถุงไข่ (Oocyst) โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากการกินเนื้อหมู เนื้อแกะ เนื้อแพะ และเนื้อกวาง บางครั้งพบจากการกินนมแพะที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีการฆ่าเชื้อที่ถูก ต้อง แต่สำหรับในวัว และควาย แทบไม่พบ Tissue cyst ในเนื้อ โอกาสการติดเชื้อจากการกินเนื้อวัวและควายจึงพบได้น้อยมาก
  • ในบางครั้งเราอาจไม่ได้กินเนื้อสัตว์ดิบโดยตรง แต่ใช้ภาชนะ มีด เขียง หรืออุป กรณ์ครัวอื่นๆ สัมผัสกับเนื้อสัตว์ดิบ แล้วไม่ได้ล้างให้สะอาด แล้วนำเอาอุปกรณ์เหล่านั้นไปสัม ผัสกับอาหาร หรือน้ำที่เราจะทานเข้าไป ก็ทำให้มีโอกาสกินถุงน้ำที่มีเชื้อปรสิตนี้เข้าไปได้เช่น กัน
  • ที่พบได้น้อยมากคือ ติดจากการได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ซึ่งอวัยวะนั้นมีเชื้อปรสิตนี้อยู่ ก็ทำให้ผู้รับอวัยวะติดเชื้อปรสิตได้ หรืออาจเกิดจากการได้รับเลือดจากผู้ที่มีเชื้อปรสิตนี้อยู่ในกระแสเลือด
  • เด็กทารกในครรภ์มีโอกาสได้รับเชื้อปรสิตนี้ผ่านทางรกจากมารดา ที่เพิ่งมีการติดเชื้อในระหว่างที่ตั้งครรภ์ได้ โดยหากมารดาติดเชื้อนี้ในการตั้งครรภ์ช่วง 3 เดือนแรก โอกาสที่จะถ่ายทอดเชื้อนี้ไปสู่ทารกมีประมาณ 15-25% แต่ทารกที่คลอดออกมา มักจะมีอาการที่รุนแรง ในขณะที่มารดาที่ติดเชื้อนี้ในการตั้งครรภ์ระยะ 3 เดือนหลัง โอกาสที่ทารกจะรับเชื้อมีมากถึง 60-65 % แต่ส่วนใหญ่ทารกจะไม่มีอาการ ยิ่งติดเชื้อนี้ในช่วง 1 สัปดาห์ใกล้คลอด โอกาสที่ทา รกจะรับเชื้อมีเกือบ 100%

โรคติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิสมีอาการอย่างไร?

แบ่งอาการและอาการแสดงตามกลุ่มของผู้ติดเชื้อโรคติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิส ได้ดัง นี้

1. การติดเชื้อของทารกในครรภ์ (Congenital toxoplasmosis) ทารกที่ติดเชื้ออาจ จะเกิดอาการได้ ดังนี้

  • ทารกอาจเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์ หรือเสียชีวิตเมื่อแรกคลอด
  • เกิดอาการเมื่อแรกคลอด ได้แก่ ตัวเล็กกว่าปกติ น้ำหนักน้อย ตัวเหลือง ตับม้ามโต ศีรษะเล็ก ซีดจากภาวะโลหิตจาง มีจุดเลือดออกตามผิวหนังจากเกล็ดเลือดต่ำ ตากระตุก มีอาการชัก หากได้รับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง จะพบหิน ปูนเกาะที่สมอง พบช่องน้ำในสมองกว้าง เพราะมีน้ำในช่องสมองมากผิดปกติ (Hydrocephalus)
  • ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย และไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา เชื้อปรสิตนี้จะยังคงอยู่ในร่างกายของทารก และอาจเกิด Reactivation ขึ้นมาเป็นระยะๆ ทำให้เด็กมากกว่า 80% เมื่อโตขึ้นจะมีอาการต่างๆ ได้แก่ การมองเห็นค่อยๆแย่ลงจนอาจถึงขั้นตาบอดจากจอตาอักเสบ ปัญญาอ่อน หูหนวก โรคลมชัก เป็นต้น

2. การติดเชื้อในคนที่ระบบภูมิคุ้มกันฯปกติ

  • ประมาณ 80-90% ของผู้ที่ติดเชื้อจะไม่มีอาการ หรือ อาการแสดงใดๆ
  • ประมาณ 10-20% จะแสดงอาการคือ มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ซึ่งอาจโตต่อมเดียวหรือหลายต่อม และมักจะไม่เจ็บ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณอื่นๆที่อาจพบโตได้ เช่น รักแร้ บริเวณศีรษะด้าน หลัง ไหปลาร้า ขาหนีบ
  • ประมาณ 20-30% ของผู้ป่วยที่มีอาการ อาจมีต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัวได้
  • และประมาณ 20-40% ของผู้ป่วยที่มีต่อมน้ำเหลืองโตจะมีไข้ อ่อนเพลีย และปวดศีรษะร่วมด้วย
  • มีส่วนน้อยที่อาจเจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดท้อง มีผื่นนูนแดงตามผิวหนัง โดยระยะฟักตัวตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งแสดงอาการคือ 10-20 วัน อาการต่างๆจะหายไปใช้เวลานานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน

3. การติดเชื้อในคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันฯบกพร่อง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะเคยติดเชื้อปรสิตนี้มาก่อน แล้วเกิดภาวะภูมิคุ้มกันฯบกพร่องตามมาในภายหลัง เชื้อปรสิตที่อยู่ในร่างกายจึงเกิด Reactivation ขึ้นมา และไปทำให้เกิดพยาธิสภาพในหลายๆอวัยวะ ส่วนน้อยเกิดจากการติดเชื้อปรสิตนี้ใหม่เป็นครั้งแรก อวัยวะที่อาจเกิดพยาธิสภาพ ได้แก่

  • สมองอักเสบ และ/หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นพยาธิสภาพที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้ ป่วยจะมีอาการ ได้แก่ ซึม ระดับการรู้สึกตัวลดลง มีไข้ ชัก ปวดศีรษะ แขน-ขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด บางรายอาจมีอาการทางจิตด้วย เช่น กระวนกระวาย หวาดระแวง เป็นต้น
  • ปอดอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้ ไอ ไม่มีเสมหะ หอบเหนื่อย
  • จอตาอักเสบ พบได้ค่อนข้างน้อย อาการคือ ปวดลูกตา ตากลัวแสง มีจุดดำๆลอยไปมา และการมองเห็นจะค่อยๆแย่ลง
  • พยาธิสภาพอื่นๆที่อาจพบได้ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ต่อมใต้สมองอักเสบ ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะขาดฮอร์โมนหลายๆชนิด และเป็นเบาจืด (อาการปัสสาวะมีปริมาณมาก และบ่อย)

อนึ่ง เมื่อมีอาการต่างๆดังได้กล่าวแล้ว ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ โดย เฉพาะในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ผิดปกติ/บกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือในหญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิสอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิสได้โดย

  • ในหลายประเทศ ยังไม่แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ตรวจคัดกรองหาเชื้อ Toxo plasma gondii เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูง และพบผลบวกลวงได้บ่อย แต่ในบางประเทศก็แนะ นำให้ตรวจ โดยเมื่อเริ่มมาฝากครรภ์จะทำการตรวจเลือด หากตรวจแล้วไม่พบแอนติบอดี (Anti body/สารภูมิต้านทาน) ต่อเชื้อปรสิต ซึ่งแปลว่าไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็จะทำการตรวจเลือดหาแอนติบอดีฯเป็นระยะๆ เพื่อดูว่าจะเกิดการติดเชื้อนี้ขึ้นมาในระหว่างตั้งครรภ์หรือไม่
  • หากหญิงตั้งครรภ์มีอาการ และอาการที่น่าสงสัยว่ากำลังมีการติดเชื้อ Toxo plasma gondii หรือการตรวจอัลตราซาวด์ครรภ์ในระหว่างการตั้งครรภ์ พบเด็กมีความผิดปกติ เช่น น้ำหนักน้อย ศีรษะเล็ก หรือการตรวจคัดกรองแล้วพบมีค่าแอนติบอดีฯขึ้น แพทย์จะตรวจพิสูจน์ยืนยันโดยเจาะเลือด เพื่อตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อปรสิตทั้งชนิด IgG และ IgM โดยหากเพิ่งมีการติดเชื้อปรสิต จะตรวจพบค่า IgM แต่ค่า IgG จะตรวจไม่พบ และอีก 2-3 สัปดาห์ต่อมา จะตรวจหาแอนติบอดีซ้ำอีกครั้ง เพื่อป้องกันผลบวกลวง หรือใช้การตรวจหาสารพันธุ กรรมของเชื้อ โดยเทคนิคเฉพาะทางห้องปฏิบัติการที่เรียกว่า วิธี PCR (Polymerase chain reaction)
  • มารดาที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเกิดการติดเชื้อปรสิตในระหว่างที่ตั้งครรภ์ การจะวินิจฉัยว่าทารกในครรภ์ติดเชื้อด้วยหรือไม่ ต้องอาศัยการเจาะน้ำคร่ำไปตรวจหาสารพันธุ กรรมของเชื้อโดยเทคนิควิธี PCR
  • ในกรณีที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยขณะที่ตั้งครรภ์ หากเด็กแรกคลอดที่เกิดมามีน้ำหนักตัวน้อยเมื่อเทียบกับอายุครรภ์ ตัวเหลือง ตับม้ามโต ศีรษะเล็ก มีจุดเลือดออกตามผิว หนัง แพทย์จะนึกถึงสาเหตุที่มาจากการติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ซึ่งมีเชื้อหลายชนิดที่ทำให้เกิดอาการคล้ายๆกันได้ เช่น เชื้อไซโตเมกาโลไวรัส (CMV, อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส) เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคซิฟิลิส เชื้อไวรัส Herpes simplex เป็นต้น การจะพิสูจน์ว่าเป็นผลจากเชื้อ Toxoplasma gondii ต้องอาศัยการเจาะเลือดตรวจหาแอนติบอดีของเชื้อปรสิตชนิด IgM หรือตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อโดยเทคนิควิธี PCR
  • ในคนที่มีภูมิคุ้มกันฯปกติที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ การวินิจฉัยจึงไม่สามารถทำได้ เว้นแต่จะได้รับการเจาะเลือดตรวจหาแอนติบอดีฯ ซึ่งในกรณีปกติทั่วไป จะไม่มีการตรวจนี้
  • คนที่มีภูมิคุ้มกันฯปกติที่ติดเชื้อแล้วมีอาการและอาการแสดง ซึ่งจะไม่จำ เพาะ เนื่องจากมีเชื้อโรคหลายๆชนิดทำให้เกิดอาการคล้ายๆกับที่กล่าวข้างต้นได้ การวินิจฉัยจึงเป็นไปได้ยาก หากแพทย์ไม่ได้นึกถึงเชื้อปรสิตชนิดนี้ การที่แพทย์นึกถึงและได้เจาะเลือดตรวจ หาแอนติบอดีต่อเชื้อปรสิตนี้ ทั้งชนิด IgG และ IgM หรือตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อโดยเทคนิควิธี PCR ก็จะเป็นการยืนยันการวินิจฉัยได้
  • ในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันฯบกพร่อง เนื่องจากมักเกิดการติดเชื้อได้หลายชนิดและพร้อมๆกัน การวินิจฉัยจึงมักเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อหลายๆชนิดไปพร้อมๆกัน ซึ่งการพิ สูจน์ว่าเกิดจากเชื้อนี้ จะใช้วิธีเดียวกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันฯปกติดังได้กล่าวแล้ว

ผลข้างเคียงและการพยากรณ์โรคของโรคติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิสเป็นอย่างไร?

เด็กทารกที่ติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทั้งที่มีอาการหรือไม่มีอาการ หากไม่ได้รับการวินิจ ฉัยว่าเกิดจากเชื้อปรสิตนี้ และไม่ได้รับยาปฏิชีวนะรักษา เมื่อโตขึ้นก็จะมีอาการต่างๆ เช่น ปัญญาอ่อน เป็นโรคลมชัก การมองเห็นแย่ลงจนตาบอด หูหนวก

ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันฯปกติ มีส่วนน้อยมากที่อาจเกิดอาการรุนแรง เช่น เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และ/หรือ สมองอักเสบ ทำให้มีอาการ ซึม สับสน และชักได้ อาจเกิด ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อลายอักเสบ ตับอักเสบ หรือจอตาอักเสบ

ในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันฯบกพร่อง มีโอกาสเสียชีวิตได้โดยเฉพาะจากการเกิดพยาธิสภาพที่สมอง

รักษาโรคติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิสอย่างไร?

การรักษาโรคติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิส ได้แก่

  • ทารกในครรภ์ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อนี้ หรือมารดาที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อนี้ในช่วง 16 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ และ/หรือร่วมกับการทำอัลตราซาวด์ทารกในครรภ์ พบช่องน้ำในสมองกว้างกว่าปกติ (Hydrocephalus) อาจเลือกรักษาโดยการทำแท้งเพื่อยุติการตั้งครรภ์ สำหรับทารกที่ไม่ได้รับการเจาะน้ำคร่ำตรวจ ในมารดาที่มีการติดเชื้อ, หรือตรวจไม่พบการติดเชื้อในทารก, หรือมารดาเกิดการติดเชื้อในการตั้งครรภ์ช่วงหลังๆ, การรักษาคือการให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อปรสิตนี้ ซึ่งจะช่วยลดอาการต่างๆของทารกที่อาจเกิดตั้งแต่แรกคลอดหรือเมื่อทารกโตขึ้นได้ รวมทั้งอาจช่วยลดอัตราการถ่ายทอดเชื้อจากมารดาสู่ทารกได้
  • ทารกแรกคลอดที่มีอาการและอาการแสดง และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นจากเชื้อ Toxoplasma gondii การรักษาต้องให้ยาปฏิชีวนะ โดยมักจะให้ต่อเนื่องไปประมาณ 1 ปี และมีการนัดตรวจร่างกาย โดยเฉพาะการตรวจตาเป็นระยะๆ รวมถึงประเมินพัฒนาการ ระดับสติปัญ ญา และการได้ยิน
  • ในคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันฯปกติ ที่มีอาการและอาการแสดงของโรค หากอาการไม่รุนแรง การรักษาหลักคือการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาแก้ปวด ยาลดไข้ แต่การให้ยาปฏิชีวนะรักษาไม่จำเป็น เนื่องจากผู้ป่วยสามารถหายได้เอง อีกทั้งยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษา จะฆ่าเชื้อที่อยู่ในระยะ Tachyzoites แต่ไม่สามารถกำจัดเชื้อในระยะ Bradyzoites ได้ ดังนั้นการที่ผู้ติดเชื้อจะกินหรือไม่กินยาปฏิชีวนะ เชื้อในระยะ Bradyzoites ก็จะยังคงอยู่ และเกิด Tissue cyst ได้เหมือนกัน สำหรับผู้ติดเชื้อที่เกิดอาการรุนแรง เช่น อาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ การรักษาต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมไปกับการรักษาแบบการรักษาประคับ ประคองตามอาการ
  • ในคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันฯบกพร่อง การรักษาหลักคือการให้ยาปฏิชีวนะร่วมกับการรักษาแบบประคับประคองฯ สำหรับในผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผลเลือดมีค่าเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 T-cell lymphocyte ต่ำกว่า 100 cell/uL หากตรวจเลือดพบแอนติบอดีต่อปรสิตนี้ชนิด IgG ซึ่งแปลว่ามีการติดเชื้อมาก่อน จะให้ยาสำหรับป้องกันเชื้อที่อาจเกิด Reactivation ขึ้นมา

โรคติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิสมีการดูแลตนเองและการป้องกันอย่างไร?

การดูแลตนเองและการป้องกันการติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิส ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ดิบ หากเป็นเนื้อชิ้นใหญ่ ควรผ่านความร้อนอย่างน้อย 63 องศาเซลเซียสทั่วถึงทั้งชิ้น (โดยวัดจากส่วนที่หนาที่สุดของเนื้อ) เป็นเวลานาน 30 นาที แล้วทิ้งไว้อย่างน้อย 3 นาทีก่อนกิน ส่วนเนื้อที่หั่นเป็นชิ้นๆ ควรผ่านความร้อนอย่างน้อย 71 องศาเซลเซียส หากเป็นเนื้อเป็ดไก่ ควรผ่านความร้อนอย่างน้อย 74 องศาเซลเซียส หากไม่ต้องการนำเนื้อไปผ่านความร้อน อาจแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสเป็นเวลาหลายวันก่อนนำมากิน
  • ภาชนะและอุปกรณ์ครัวต่างๆ ที่นำมาสัมผัสกับเนื้อสัตว์ดิบ ควรล้างด้วยสบู่ หรือน้ำยาล้างจานให้สะอาดก่อนนำมาใส่อาหารหรือน้ำที่จะกิน
  • หากจะทำสวน ควรสวมถุงมือ เพื่อป้องกันการสัมผัสกับดินซึ่งอาจมีอุจจาระแมวปนเปื้อน
  • ล้างผักและผลไม้ที่เปื้อนดินให้สะอาด ผลไม้ควรล้างและปอกเปลือกก่อนกิน
  • หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับเลี้ยงแมวตัวใหม่เข้ามาในบ้าน โดยเฉพาะลูกแมวอายุไม่เกิน 6 เดือน หากมีแมวที่เลี้ยงอยู่ในบ้าน ไม่ควรทำหน้าที่เก็บอุจจาระแมวเอง ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสแมว และก่อนปรุงหรือรับประทานอาหาร
  • ผู้ที่เลี้ยงแมว ไม่ควรให้แมวกินเนื้อสัตว์ดิบ และไม่ควรให้แมวเข้าห้องครัว หรือกินอาหารร่วมกับคน ควรมีกระบะทรายให้แมวอุจจาระเป็นที่เป็นทาง เก็บอุจจาระทิ้งให้ถูกสุข ลักษณะ เปลี่ยนทรายและทำความสะอาดกระบะทรายอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเป็นไปได้ควรเลี้ยงแมวเป็นระบบปิด เพื่อป้องกันแมวล่าสัตว์กินเอง
  • ยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อ Toxoplasma gondii ทั้งในคนและในแมว

เรื่องอื่นๆ

เชื้อปรสิต Toxoplasma gondii พบได้ทั้งในแมวป่าและแมวบ้าน แต่การสำรวจการติดเชื้อในประชากรแมวที่เป็นแมวบ้าน พบมีแมวที่ติดเชื้ออยู่ประมาณ 30-40% หากเป็นแมวพเนจรที่นิสัยดุ จะพบอัตราการติดเชื้อมากกว่านี้ เพราะแมวจะล่าสัตว์และกินเนื้อดิบเป็นอาหาร อย่างไรก็ตามมีการศึกษาจากหลายแห่งพบว่า หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี หรือบุคคลทั่วไปที่มีแมวโตเลี้ยงไว้ในบ้าน ไม่ทำให้ความเสี่ยงการในการติดเชื้อนี้เพิ่มขึ้น แต่หากมีลูกแมวในบ้านหลายตัว พบมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

มีบางการศึกษาพบว่าผู้หญิงที่เคยติดเชื้อ Toxoplasma gondii มาก่อน และมีระดับของแอนติบอดีต่อเชื้อสูง หากตั้งครรภ์จะมีโอกาสได้ลูกชายประมาณ 72% ซึ่งโดยปกติจะมีโอกาสประมาณ 51%

นอกจากสัตว์บกที่เลี้ยงลูกด้วยนมและนกแล้ว การสำรวจยังพบเชื้อปรสิตนี้ในตัวนากทะ เล ซึ่งคาดว่าอาจมาจากหอย หรือปลาน้ำจืดที่กินเศษซากอาหาร ซึ่งอาจปนเปื้อนอุจจาระแมวที่มีเชื้ออยู่ เมื่อหอยหรือปลาน้ำจืดมาอยู่แถวปากแม่น้ำ นากทะเลที่มากินสัตว์เหล่านี้ จึงติดเชื้อเข้าไปได้

บรรณานุกรม

  1. Lloyd H.Kasper, Toxoplasma infection , in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald ,Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Toxoplasma_gondii [2014,Jan7].
  3. Jeffrey Jones, Adraina Lopez, Marianna Wislson, Am Fam Physician. 2003 May 15;67(10):2131-2138.