โรคดึงผมตนเอง (ตอนที่ 2)

โรคดึงผมตนเอง-2

อาการของโรคดึงผมตนเองประกอบด้วย

  • ดึงผมตนเองหรือขนตามที่ต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก
  • รู้สึกเครียดก่อนการดึงหรือตอนที่พยายามจะไม่ดึง
  • รู้สึกสบายใจหรือได้รับการปลดปล่อยหลังจากดึงเรียบร้อยแล้ว
  • สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนถึงผมที่หลุดหายไปหรือบางลงหรือล้านเป็นหย่อมๆ รวมถึงขนคิ้ว ขนตาที่บางตา หร็อมแหร็ม
  • ชอบกัด เคี้ยว หรือกินผมที่ดึงออกมา
  • ชอบเล่นผมที่ดึงออกมาหรือขยี้ผมกับริมฝีปากหรือใบหน้า
  • พยายามที่จะหยุดการดึงผมตัวเองหรือดึงให้น้อยลงแต่ก็ไม่สำเร็จ
  • กังวลใจหรือมีปัญหาที่ที่ทำงาน โรงเรียน หรือในสังคม เกี่ยวกับการดึงผมตนเอง

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่คนที่เป็นโรคดึงผมตนเองมักจะชอบดึงผิว กัดเล็บ หรือกัดริมฝีปากตัวเอง บางครั้งก็ชอบดึงขนสัตว์เลี้ยงหรือตุ๊กตาหรือวัสดุอื่น เช่น เสื้อผ้าหรือผ้าห่ม โดยไม่ให้ใครเห็นและพยายามที่จะปกปิดความผิดปกติดังกล่าว

ผู้ป่วยโรคดึงผมตนเองสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

  • Focused – เป็นกลุ่มที่ตั้งใจดึงผมเพื่อบรรเทาความเครียดหรือความกังวล เพราะการดึงผมทำให้ผ่อนคลาย หรือทำให้ความเครียด ความกังวลลดลง
  • Automatic - เป็นกลุ่มที่ดึงผมโดยไม่รู้ตัวขณะกำลังทำกิจกรรมอื่น เช่น เมื่อรู้สึกเบื่อ กำลังอ่านหนังสือ หรือดูทีวี

หรือผู้ป่วยบางคนอาจเป็นได้ทั้งสองลักษณะ ขึ้นกับสถานการณ์และอารมณ์ โดยบางครั้งสภาพที่เป็นอยู่อาจกระตุ้นให้เกิดความอยากดึงผมตัวเองด้วย เช่น การนั่งเท้าศีรษะกับฝ่ามือหรือระหว่างการหวีผม

โรคดึงผมตนเองสามารถเกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก 2 แบบ คือ

  • อารมณ์ด้านลบ (Negative emotions) – ผู้ป่วยโรคนี้หลายคนจะใช้การดึงผมตัวเองเป็นการจัดการกับความรู้สึกด้านลบ เช่น เครียด วิตกกังวล เบื่อ เหงา อ่อนล้า หรือคับข้องใจ
  • ความรู้สึกด้านบวก (Positive feelings) - ผู้ป่วยโรคนี้มักจะใช้การดึงผมตัวเองเป็นการแสดงถึงความพอใจสบายใจ และจะดึงต่อไปเพื่อรักษาความรู้สึกด้านบวกนี้ไว้

โรคดึงผมตนเองเป็นความผิดปกติเรื้อรังระยะยาว หากไม่ทำการรักษาอาการจะแย่ลง เช่น ผู้หญิงที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเมื่อมีประจำเดือนจะมีอาการแย่ลง บางคนอาจมีอาการกลับไปกลับมาเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี

แหล่งข้อมูล:

  1. Trichotillomania (hair-pulling disorder). http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/trichotillomania/home/ovc-20268509 [2017, August 19].
  2. Trichotillomania. http://www.webmd.com/anxiety-panic/guide/trichotillomania#1 [2017, August 19].
  3. Trichotillomania. http://www.nhs.uk/conditions/trichotillomania/Pages/introduction.aspx [2017, August 19].