โรคฉี่หนู (Leptospirosis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคฉี่หนู หรือ เล็ปโตสไปโรสิส(Leptospirosis) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียจากสัตว์มาสู่คน(เรียกว่า ซูโนสีส/zoonosis) โดยสามารถติดเชื้อโรคจากสัตว์ได้หลายชนิด เช่น หนู หมู วัว ควาย แพะ แกะ เป็นต้น แต่พบว่าสาเหตุมาจากหนูซึ่งเป็นแหล่งรังโรคมากที่สุด โดยเชื้อโรคมาจากในปัสสาวะของหนู จึงเรียกโรคนี้ว่า ‘ฉี่หนู’ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มีอาการที่หลากหลายแตกต่างกันไป แต่มียาปฏิชีวนะรักษา ความสำคัญคือ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต(ตาย)ได้ และผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคนี้แล้ว สามารถเป็นได้อีก

โรคฉี่หนูมีสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง?

 โรคฉี่หนู

โรคฉี่หนู เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียรูปเกลียว(เรียกว่า สไปโรชีต/spirochete) ชื่อ เล็บโตสไปร่า(Leptospira) ซึ่งมีหลายชนิด มีทั้งชนิดที่ก่อโรคและชนิดที่ไม่ก่อโรค ซึ่งในทางปฏิบัติ แบ่งชนิดเชื้อแยกย่อยตามวิธีการตรวจหาสารประกอบบนตัวแบคทีเรียจากเลือดของคน เรียกแต่ละชนิดย่อยว่า ซีโรวาร์ (Serovars) ซึ่งแบ่งออกได้มากกว่า 250 ซีโรวาร์

เชื้อโรคฉี่หนู อาศัยอยู่ในท่อไตเล็กๆ และอวัยวะเพศภายในของสัตว์หลาก หลายชนิดดังกล่าว แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว สัตว์จะไม่มีอาการใดๆปรากฏ(คือ สัตว์เหล่านั้นเป็นได้ทั้งรังโรค และพาหะโรค) ทั่วโลกพบสัตว์ที่มีเชื้อนี้มากกว่า 160 ชนิด ยกเว้นสัตว์ในเขตขั้วโลก โดยมีหนูเป็นแหล่งรังโรคที่สำคัญที่สุด พบทั้งใน หนูบ้าน หนูนา หนูพุก และหนูตะเภา ส่วนสัตว์ชนิดอื่น ได้แก่ หมู วัว ควาย แพะ แกะ ม้า นก กระรอก พังพอน แรคคูน รวมทั้งสุนัขด้วย สำหรับในแมว พบน้อยมาก ส่วนมากสัตว์ที่ไวต่อการรับเชื้อ มักจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอายุน้อย หรือลูกสัตว์ที่ไม่เคยได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่มาก่อน เชื้อบางชนิดย่อยซีโรวาร์ มีความ จำเพาะกับสัตว์บางชนิด และในสัตว์หนึ่งชนิด สามารถมีเชื้อได้หลายชนิดย่อยซีโรวาร์

ติดเชื้อฉี่หนูได้อย่างไร?

เชื้อโรคฉี่หนู เข้าสู่ร่างกายคน ผ่านทางผิวหนังที่มีบาดแผลหรือมีรอยขีดข่วน หรืออาจไชเข้าทางผิวหนังปกติที่เปียกชุ่มจากการแช่น้ำนานๆ หรือไชเข้าทางเยื่อบุต่างๆ เช่น เยื่อบุตา จมูก ปาก ดังนั้นการดื่มน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคก็อาจติดเชื้อได้ นอกจากนี้การสูดหายใจเอาละอองปัสสาวะที่มีเชื้อโรคก็อาจ จะติดเชื้อได้อีกด้วย คนที่ติดเชื้อโรคฉี่หนู ติดได้จากหลายทาง คือ

1. การสัมผัสปัสสาวะ เลือด หรือเนื้อเยื่อ จากสัตว์โดยตรง

2. การสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม เชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในท่อไตของสัตว์สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี เชื้อจะถูกขับออกมากับปัสสาวะของสัตว์ และปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำต่างๆ เช่น น้ำท่วมขัง น้ำตก แม่น้ำลำคลอง รวมทั้งดิน โคลน ได้นานหลายเดือน เคยมีรายงานว่าอยู่ได้นานถึง 6 เดือนในที่น้ำท่วมขัง โดยมีปัจจัยแวดล้อมเหมาะสม เช่น มีความชื้น แสงแดดส่องไม่ถึง และมีความเป็นกรดปานกลาง มักจะพบการระบาดในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน เนื่องจากเป็นฤดูฝนต่อหนาว มีน้ำขังได้สูง

3. การติดต่อจากคนสู่คนพบได้น้อยมาก ที่อาจพบได้คือ ผ่านทางการมีเพศ สัมพันธ์ ผ่านทางหญิงตั้งครรภ์ไปสู่ทารกในครรภ์ และผ่านทางน้ำนมไปสู่ลูก

ทั้งนี้ บุคคลกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค ได้แก่ เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน คนงานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ กรรมกรขุดท่อระบายน้ำ เหมืองแร่ คนงานโรงฆ่าสัตว์ สัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ห้องทดลอง ร้านขายสัตว์เลี้ยง ทหาร/ตำรวจที่ปฏิบัติ งานตามป่าเขา ในกลุ่มประชาชนทั่วไป มักเกิดเมื่อ มีน้ำท่วม บ้านมีหนูมาก ผู้ที่ปรุงอาหาร หรือรับประทานอาหารที่ไม่สุก หรือปล่อยอาหารทิ้งไว้โดยไม่ปิดฝา ในประเทศที่พัฒนาแล้ว มักจะเจอในกลุ่มบุคคลที่ทำกิจกรรมพักผ่อนทางน้ำ เช่น เล่นเรือแคนู วินเซิร์ฟ และสกีน้ำ

โรคฉี่หนูมีอาการอย่างไร?

เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะเข้าสู่กระแสเลือด กระจายไปสู่อวัยวะต่างๆ และแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้น โดยที่เชื้อจะไปทำให้หลอดเลือดเล็กๆ ในอวัยวะต่างๆ เกิดการอักเสบเป็นหลัก และอาจเข้าไปทำลายเซลล์โดยตรง ทำให้เซลล์ตายและเกิดอาการตามอวัยวะต่างๆได้ หลังจากนั้น ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (แอนติบอดี/Antibody/สารภูมิต้านทาน) ขึ้นมาทำลายเชื้อโรค เชื้อโรคก็จะหมดไป แต่อาจทำให้มีอาการต่างๆ เกิดขึ้นมาอีกจากปฏิกิริยาระหว่างเชื้อโรคและภูมิคุ้มกันนั่นเอง

เมื่อเชื้อโรคเข้าสูร่างกาย จะใช้เวลาประมาณ 2-26 วัน(เฉลี่ย 1-2 สัปดาห์) จึงจะปรากฏอาการ(ระยะฟักตัว) ผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะมีอาการแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ

1. ไม่มีอาการ ประมาณ 15-40% ของคนที่ติดเชื้อ ไม่แสดงอาการให้ปรากฏ

2. อาการแสดงแบบไม่รุนแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อและมีอาการ จะอยู่ในกลุ่มนี้ อาการจะแบ่งเป็น 2 ช่วง โดยในช่วงแรก ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหลังลูกตา ไอ เจ็บคอ เจ็บหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน และอาการปวดกล้ามเนื้อที่เป็นลักษณะจำเพาะของโรคนี้คือ ปวดน่องขาทั้ง 2 ข้าง อาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อหลังและท้องร่วมด้วยได้ สาเหตุเกิดจากเชื้อโรคเข้าไปทำลายเซลล์กล้ามเนื้อ อาการอื่นๆ เช่น เยื่อบุตาบวม มีเลือดออกที่เยื่อบุตา มีผื่นที่อาจเป็นจุดแดงราบ จุดแดงนูน หรือจุดเลือดออก ตากลัวแสง มีอาการสับสน ไอเป็นเลือด ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ และ/หรือ รักแร้โต ตับ ม้ามโต อาจมีตัวเหลืองเล็กน้อย ปวดท้องจากตับอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ หรือถุงน้ำดีอักเสบ ปวดตามข้อ อุจจาระร่วง อาการจะเป็นอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์แล้วหายไป

ประมาณ 1-3 วันต่อมา อาการจะกลับมาเป็นอีก ซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่งของโรคนี้ สาเหตุเกิดจากร่างกายเริ่มผลิตสารภูมิคุ้มกันต้านทานโรค มาต่อสู้กับเชื้อโรค ปฏิกิริยาระหว่างตัวเชื้อกับสารภูมิคุ้มกันต้านทาน ทำให้เกิดอาการขึ้น อาการจะค่อนข้างหลากหลายกว่าอาการช่วงแรกแต่มีความรุนแรงที่น้อยกว่า เช่น อาจจะปวดกล้ามเนื้อที่น่องเพียงเล็กน้อย แต่ที่เป็นลักษณะ เฉพาะของอาการในช่วงที่ 2 คือ เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการต้นคอแข็ง ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน บางรายอาจไม่มีอาการ แต่ถ้าตรวจน้ำไขสันหลัง(CSF, Cerebrospinal fluid) จะพบมีเซลล์เม็ดเลือดขาวขึ้นสูง อาการอาจจะเป็นอยู่ 2-3 วัน หรืออาจนานหลายสัปดาห์ แต่ในที่สุดอาการจะหายไปโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น

3. อาการแสดงแบบรุนแรง อาจเรียกว่า วายล์ซินโดรม/Weil’s syndrome (ผู้ที่ค้นพบกลุ่มอาการนี้ชื่อ Weil ซึ่งค้นพบเมื่อ ปี คศ. 1886 นับเป็นเวลา 30 ปี ก่อนพบเชื้อโรคต้นเหตุ) ประมาณ 5-10 % ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะอยู่ในกลุ่มนี้ มีอัตราการตายประมาณ 10% เริ่มต้น อาการจะเหมือนผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง ซึ่งจะเป็นอยู่ 4-9 วัน ต่อมาจะมีตัวเหลือง ตาเหลือง(อาการดีซ่าน)มาก ซึ่งเกิดจากเชื้อโรคไปทำลายเซลล์ตับ นอกจากนี้เชื้อโรคทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดเล็กๆในอวัยวะต่างๆแบบรุนแรง และเป็นบริเวณกว้าง ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำออกจากหลอดเลือด นำมาสู่ภาวะช็อก และเกิดภาวะไตวายฉับพลัน ทำให้ไม่มีปัสสาวะออกมา เกิดของเสียคั่งในร่างกาย ระบบเกลือแร่ขาดสมดุล และอาจทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที อาจเกิดภาวะเลือดออกง่าย เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ปัสสาวะเป็นเลือด มีเลือดออกในปอดซึ่งอาจทำให้ไอเป็นเลือดรุนแรงได้ หอบเหนื่อยมาก จนกระทั่งเกิดภาวะหาย ใจล้มเหลว มีเลือดออกในลำไส้ทำให้อุจจาระเป็นเลือด มีจุดเลือดออกหรือจ้ำเลือดตามตัว นอกจากนี้อาจเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ จน กระทั่งเกิดภาวะหัวใจวาย และในที่สุดก็ทำให้อวัยวะต่างๆทั่วร่างกายเกิดภาวะล้มเหลว และเสียชีวิต(ตาย)ในที่สุด

อนึ่ง สำหรับในหญิงตั้งครรภ์ การติดเชื้ออาจทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อได้โดยผ่านทางรก ซึ่งอาจทำให้แท้งบุตร ถ้าเป็นการตั้งครรภ์ในช่วงแรก หรืออาจทำให้ทารกตายในครรภ์ถ้าเป็นการตั้งครรภ์ในช่วงหลัง แต่ทั้งหมดนี้พบได้น้อย

แพทย์วินิจฉัยโรคฉี่หนูได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคฉี่หนู จากอาการ จากการตรวจร่างกาย รวมทั้งประวัติอาชีพการทำงาน สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย การสัมผัสกับแหล่งน้ำต่างๆ และอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการช่วยเสริม เช่น

  • การตรวจเลือด ได้แก่ ตรวจซีบีซี(CBC) จะพบมีเม็ดเลือดขาวขึ้นสูง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เม็ดเลือดขาวจะขึ้นสูงมาก เกล็ดเลือดต่ำลงเล็กน้อย ตรวจค่าการตกตะกอนของเลือด(ESR: Erythrocyte sedimentation rate) ค่าจะขึ้นสูง ตรวจค่าน้ำดี ค่าจะขึ้นสูง ตรวจค่าการทำงานของตับ จะขึ้นสูงเล็กน้อย ตรวจค่าน้ำย่อย(เอนไซม์)ตับอ่อน ก็อาจขึ้นสูง ถ้ามีตับอ่อนอักเสบร่วมด้วย ในผู้ป่วยที่อาการรุน แรง ค่าการแข็งตัวของเลือดจะผิดปกติ และค่าการทำงานของไตจะผิดปกติ โดยมีค่าสารของเสียในเลือดสูงขึ้น
  • การตรวจน้ำไขสันหลัง ในผู้ป่วยที่มีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะพบเม็ดเลือดขาวในน้ำไขสันหลังสูงขึ้น อาจมีโปรตีนสูงขึ้นด้วย
  • การตรวจปัสสาวะ จะพบเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และโปรตีน ซึ่งปกติจะไม่มีสิ่งเหล่านี้ในปัสสาวะ

ทั้งนี้ การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเพาะกับโรคฉี่หนู คือ การเพาะเชื้อจากเลือด น้ำไขสันหลัง หรือ ปัสสาวะ และการตรวจหาสารภูมิคุ้มกันต้านทานต่อเชื้อเลปโตสไปร่า ซึ่งการตรวจเหล่านี้จะต้องใช้เวลานานและมีค่าความแม่นยำไม่ค่อยสูง ในการวินิจฉัยจึงต้องอาศัยประวัติ อาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้น แล้วพิจารณาให้การรักษา โดยไม่จำเป็นต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเพาะต่อเชื้อโรค

รักษาโรคฉี่หนูได้อย่างไร?

การรักษาหลักของโรคฉี่หนู คือ ให้ยาปฏิชีวนะเพื่อไปฆ่าเชื้อโรค ในผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มอาการไม่รุนแรง จะให้ในรูปแบบยากิน และรักษาแบบผู้ป่วยนอก ส่วนในผู้ป่วยกลุ่มอาการรุนแรง แพทย์มักให้นอนโรงพยาบาล และให้ยาปฏิชีวนะทาง หลอดเลือดดำ

นอกจากนี้ จะให้การรักษาประคับประคองตามอาการไปร่วมกัน เช่น การเช็ดตัวเพื่อลดไข้ ให้ยาลดไข้ ให้ยาแก้ปวด ให้ยาแก้ไอ และแก้อาเจียน ในผู้ป่วยกลุ่มอาการรุนแรง ต้องมีการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ หรืออาจต้องให้เลือด และ/หรือเกล็ดเลือด หรือในกรณีที่มีไตวาย อาจต้องฟอกเลือด และถ้าเกิดภาวะหายใจล้มเหลว ก็ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น

โรคฉี่หนูมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง? เป็นโรครุนแรงไหม?

ตามที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า เมื่อร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคขึ้นมาแล้ว เชื้อเลปโตสไปร่าก็จะถูกกำจัดไปจากร่างกาย แต่ยกเว้นที่ ตา กับท่อไตเล็กๆ ที่เชื้อโรคอาจจะยังคงอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน การที่เชื้อโรคยังคงอยู่ในตา จึงมีโอกาสที่ทำให้ผู้ป่วยบางคน เกิดอาการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุภาย ในลูกตา (Chronic uveitis) หรือม่านตา(Iritis)ได้

ควรดูแลตนเองอย่างไร? ป้องกันโรคฉี่หนูได้อย่างไร?

การดูแลตนเอง และการป้องกันโรคฉี่หนู คือ

1. ควบคุมกำจัดหนูในบริเวณที่อยู่อาศัยของคน โดยเฉพาะในบริเวณ บ้านพักอาศัย สถานที่ทำงาน ร้านอาหาร ตลาด แหล่งพักผ่อน และสถานที่ท่องเที่ยว

2. หลีกเลี่ยงอาหารค้างคืนโดยไม่มีภาชนะปกปิด เพราะอาจมีหนูมากินได้

3. ควรสวมชุดป้องกัน เช่น รองเท้าบู๊ต ถุงมือยาง ถุงเท้ายาง เมื่อต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ที่อาจมีเชื้อโรค หรือ ต้องทำงานในน้ำ หรือต้องลุยน้ำ ลุยโคลน

4. รีบอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายโดยเร็วหากสัมผัสกับปัสสาวะของสัตว์ที่อาจมีเชื้อโรค หรือแช่/ย่ำลงไปในแหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ

5. หลีกเลียงการใช้น้ำ หรือลงไปว่ายน้ำในแหล่งน้ำที่อาจจะมีเชื้อโรคปน เปื้อนอยู่ เช่น แหล่งน้ำนั้นเป็นที่กินน้ำของ วัว ควาย หมู

6. เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ ควรแยกบริเวณที่เลี้ยงสัตว์กับที่อยู่อาศัยของคนให้ชัดเจน เช่นมีคอกกั้น ไม่ให้สัตว์เข้ามาเพ่นพ่านในบริเวณบ้านได้ ภาชนะใส่น้ำ อาหารสำหรับสัตว์ ห้ามนำมาใช้ร่วมกับคน

7. ในสัตว์ มีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกันไม่ให้สัตว์ที่ติดเชื้อเกิดแสดงอาการ แต่อาจไม่ได้ป้องกันการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายของสัตว์ ดังนั้นแม้จะฉีดวัคซีนให้สัตว์แล้ว สัตว์เหล่านั้นอาจยังสามารถรับเชื้อโรคและแพร่เชื้อโรคสู่คนได้ในที่สุด

8. สำหรับในคน มีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกันไม่ให้เป็นโรค แต่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนัก เพราะในการฉีดวัคซีน 1 ครั้ง จะป้องกันได้เพียงบางชนิดย่อยของเชื้อเท่านั้น ถ้าเกิดไปได้รับเชื้อชนิดย่อยอื่นๆ ที่ไม่มีในวัคซีน ก็ทำให้ติดเชื้อและเกิดโรคได้ในที่สุด และการฉีดให้ครอบคลุมทุกเชื้อชนิดย่อย (ซึ่งมีมาก กว่า 250 ชนิด/ซีโรวาร์) ก็เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะอาจต้องฉีดเป็นร้อยเข็ม และการหาวัคซีนให้ครบทุกเชื้อชนิดย่อยก็เป็นไปไม่ได้ และที่สำคัญไม่ได้ป้องกันได้ตลอดชีวิตเหมือนวัคซีนชนิดอื่นๆ จึงไม่มีการแนะนำให้ฉีดวัคซีน

9. ผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคนี้แล้ว จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดย่อยที่ทำให้เกิดโรคที่เป็นในครั้งนั้นได้เกือบตลอดชีวิต แต่ภูมิคุ้มกันนี้ไม่ได้ป้องกันต่อเชื้อชนิดย่อยอื่นๆ ดังนั้นถ้าติดเชื้อชนิดย่อยตัวใหม่ ก็จะเป็นโรคได้อีก

10. การมีผู้ป่วยอยู่ในบ้าน ไม่จำเป็นต้องแยกห้องนอน สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วม กันได้ ถ้าอาการมีเพียงเล็กน้อย ก็สามารถไปทำงานได้ตามปกติ เพียงแต่ให้ระวังเรื่องการขับถ่ายให้ถูกสุขลักษณะ คือถ่ายลงส้วม ราดน้ำให้สะอาด ล้างมือทุกครั้งหลังถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ เพราะปัสสาวะของผู้ป่วยอาจมีเชื้อโรคได้ ควรงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ การให้นมบุตร แม้ว่าโอกาสที่จะติดจากคนสู่คนจะน้อยมากก็ตาม

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อ

1. เมื่อมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น ไข้ ไอ ปวดศีรษะ ให้สังเกตุว่ามีอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณน่องขา ถ้ามี ควรรีบพบแพทย์ หรือเมื่อมีอาการอื่นๆตามระบบต่างๆ ทั่วร่างกายพร้อมๆกันดังกล่าวแล้ว

2. บุคคลกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ถ้ามีไข้ และหรือมีอาการผิดปกติดังที่กล่าวในข้างต้น ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

บรรณานุกรม

  1. Peter Speelman, leptospirosis, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
  2. https://emedicine.medscape.com/article/220563-overview#showall [[2019,Jan12]
  3. http://www.wpro.who.int/mediacentre/factsheets/fs_13082012_leptospirosis/en/ [[2019,Jan12]