โรคจุดภาพชัดเสื่อม (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

โรคจุดภาพชัดเสื่อม

ระหว่างนี้แพทย์อาจทดสอบสภาพจอตาด้วยการให้มองตารางตรวจจุดภาพชัด (Amsler grid) โดยให้สังเกตว่าตารางสี่เหลี่ยมที่เห็นเป็นเส้นตรงและมีขนาดเท่ากันหรือไม่ กรณีที่ตามีปัญหาอาจพบว่า ตารางไม่ชัดหรือโค้งเป็นลักษณะคลื่น บิดเบี้ยว ขาดจากกัน พร่ามัว หรือบางพื้นที่หายไปจากพื้นที่ที่มองเห็น

ซึ่งถ้าผลตรวจแสดงถึงการเป็นโรคจุดภาพชัดเสื่อม แพทย์อาจทำการตรวจเอกซเรย์หลอดเลือด (Angiography) ด้วยการฉีดสีเข้าทางหลอดเลือดที่แขน สีจะไหลผ่านหลอดเลือดไปยังตา หากมีหลอดเลือดใหม่หรือหลอดเลือดรั่วหรือมีเลือดในจุดภาพชัด ภาพเอกซเรย์จะสามารถบอกได้ถึงตำแหน่งและชนิดที่เป็น

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคจุดภาพชัดเสื่อม มีเพียงการป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงหรือชะลออาการไม่ให้เป็นมากขึ้น โดยวิธีดังต่อไปนี้

  • ให้ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ (Anti-angiogenesis drugs) ที่ตาซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคจุดภาพชัดเสื่อม
  • ให้วิตามิน ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า วิตามินซี วิตามินอี เบต้าแคโรทีน สังกะสี และทองแดง อาจช่วยลดความเสี่ยงของการสูญเสียการมองเห็นในโรคจุดภาพชัดเสื่อมในระยะกลางเป็นต้นไปได้
  • ใช้เลเซอร์ (Laser therapy) ที่ทำให้เกิดความร้อน เพื่อทำลายหลอดเลือดที่โตผิดปกติในจุดภาพชัด
  • การรักษาด้วยวิธีโฟโต้ไดนามิก (Photodynamic therapy = PDT) เป็นการรักษาโดยใช้ยา Verteporfin ซึ่งเป็นสารไวแสงร่วมกับเลเซอร์ที่ไม่ทำให้เกิดความร้อน โดยการฉีดยาเข้าเส้นเลือดที่แขน ยาจะไหลไปตามหลอดเลือดและถูกดูดซึมโดยหลอดเลือดที่งอกใหม่หรือที่กำลังเติบโต เมื่อมีการยิงเลเซอร์เพื่อกระตุ้นการทำงานของยา ยาจะช่วยหยุดการสร้างหลอดเลือดใหม่ ชะลอการเติบโต และลดอัตราการมองไม่เห็นได้
  • ใช้เครื่องมือช่วยในการมองเห็น (Low vision aids) ซึ่งอาจใช้เลนซ์ขยายหรือระบบอิเล็คโทรนิคที่ช่วยในการขยายภาพให้ใหญ่ขึ้น

นอกจากนี้นักวิจัยยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิธีการรักษาดังนี้

  • Submacular surgery เป็นการผ่าตัดเอาหลอดเลือดที่ผิดปกติออก
  • Retinal translocation เป็นการผ่าตัดที่ย้ายจุดภาพชัดไปจากบริเวณหลอดเลือดที่ผิดปกติ เพื่อป้องกันการทำร้ายเรติน่า หลักจากนั้นจึงใช้เลเซอร์ในการรักษาหลอดเลือดที่ผิดปกติ

สำหรับการป้องกันโรคนี้สามารถทำได้โดย

  • ไม่สูบบุหรี่
  • รักษาระดับความดันโลหิตให้ปกติ
  • ออกกำลังกายอยู่เสมอ
  • รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
  • กินผักใบเขียว ผลไม้ และปลา

แหล่งข้อมูล

1. Age-Related Macular Degeneration Overview. http://www.webmd.com/eye-health/macular-degeneration/age-related-macular-degeneration-overview[2015, October 29].

2. Macular degeneration facts. http://www.medicinenet.com/macular_degeneration/article.htm[2015, October 29].