โรคจุดภาพชัดเสื่อม (ตอนที่ 1)

โรคจุดภาพชัดเสื่อม

ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรกว่า 65 ล้านคน เป็นประชากรผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 12 และคาดว่าอีก 30 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุถึงร้อยละ 32 ถือเป็นประเทศที่มีการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วมาก ดังนั้นการเตรียมพร้อมด้านมาตรการต่าง ๆ ทั้งเชิงสุขภาพและสังคม เพื่อรองรับการดูแลผู้สูงอายุจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

นายแพทย์ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันพฤหัสบดีในสัปดาห์ที่สองของเดือนตุลาคมทุกปีเป็นวันจักษุโลก โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 8 ตุลาคม เพื่อให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลรักษาดวงตา

โดยราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย เล็งเห็นว่าสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การดูแลโรคทางดวงตาให้แก่ผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย ซึ่งโรคหนึ่งที่มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ คือ โรคจุดภาพชัดเสื่อม อันเป็นสาเหตุของตาบอดอันดับหนึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และเป็นสาเหตุของตาบอดอันดับสามของประเทศไทย

จากผลสำรวจเกี่ยวกับสาเหตุตาบอดและสายตาเลือนลางในประเทศไทยพบว่า มีผู้ป่วยโรคจุดภาพชัดเสื่อมในระยะเริ่มต้น จำนวนร้อยละ 2.7 ของประชากรอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป คิดเป็น 1,815,020 คน และระยะลุกลาม จำนวนร้อยละ 0.3 คิดเป็น 201,669 คน

นายแพทย์ไพศาล อธิบายว่า โรคจุดภาพชัดเสื่อมมักเกิดขึ้นตามการเสื่อมสภาพของร่างกายตามอายุขัย สามารถพบได้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังพบร่วมกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น พันธุกรรม การติดเชื้อในตา ผู้ที่มีสายตาสั้นมากๆ หรือผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ

นายแพทย์ไพศาล อธิบายต่อว่า สำหรับโรคจุดภาพชัดเสื่อมระยะลุกลาม สามารถทำให้ตาบอดได้จากการมีเส้นเลือดผิดปกติอยู่ใต้จุดภาพชัด ซึ่งจะรั่วซึมและแตกง่าย ทำให้เลือดออกหรือมีน้ำและไขมันรั่วไปสะสมจนเกิดจุดภาพชัดบวม โดยผู้ป่วยจะเริ่มจากมองเห็นภาพตรงกลางบิดเบี้ยว ต่อมาจะเกิดการการทำลายเนื้อเยื่อเซลล์ประสาทตาบริเวณดังกล่าว จนทำให้ผู้ป่วยมองตรงกลางภาพมืดลงในที่สุด

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมียาฉีดเข้าวุ้นตาซึ่งสามารถทำให้ผู้ป่วยกลับมาเห็นภาพชัดเจนขึ้น หรือทำให้อาการคงที่ ซึ่งต่างจากอดีตที่ใช้แสงเลเซอร์ในการรักษา ทำให้การมองเห็นคงที่แต่ไม่สามารถทำให้การมองเห็นดีขึ้นได้และด้วยวิวัฒนาการด้านการรักษาที่ดีขึ้นมากในปัจจุบัน หากสามารถตรวจพบอาการได้เร็วขึ้นก็จะทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นครอบครัวที่มีผู้สูงวัย จึงควรหันมาให้ความดูแลและใส่ใจผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิดอาจเริ่มต้นด้วยวิธีการตรวจง่ายๆ โดยให้ผู้สูงอายุลองปิดตาทีละข้าง แล้วมองในระยะไกลๆ หากมีสายตาผิดปกติ เมื่อมองไปไกลๆ จะพบว่าตาแต่ละข้างนั้นจะเห็นภาพต่างกันหรือมีความชัดเจนของภาพไม่เท่ากัน ซึ่งอาจเกิดจากโรคตาก็ได้

แหล่งข้อมูล

1.จักษุแพทย์ฯ แนะลูกหลาน ชวนผู้สูงวัยตรวจโรคจุดภาพชัดเสื่อม. http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1444126823[2015, October 26].