โรคข้อ (Joint disease)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ : คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคข้อ (Joint disease) คือ โรค หรือ ภาวะผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้นกับข้อกระดูกต่างๆของร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติ คือ ปวด/เจ็บข้อ โดยเฉพาะเมื่อมีการเคลื่อนไหวใช้ข้อนั้น ๆ ส่งผลให้ใช้ข้อนั้นๆทำงานไม่ได้ และ/หรือ มีข้อ บวม แดง ร้อน และ/หรือ มีข้อยึดติด เคลื่อน ไหวไม่ได้ ทั้งนี้โรคข้อเกิดได้กับทุกๆข้อของร่างกาย

ข้อ หรือ ข้อต่อ (Joint) จัดเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนึ่ง เป็นส่วนรอยต่อที่อยู่ระหว่างกระดูก 2 ชิ้น มีหน้าที่ช่วยการเคลื่อนไหวต่างๆของกล้ามเนื้อและของกระดูกในการทำงานต่างๆ เช่น การลุก นั่ง เดิน ยืน หยิบ จับ สิ่งของ และเขียนหนังสือ เป็นต้น ซึ่งนอกจากการทำงานเพื่อการเคลื่อนไหวแล้ว ข้อยังช่วยในการรับน้ำหนักต่างๆอีกด้วย เช่น น้ำหนักตัว หรือในการยกสิ่ง ของต่างๆ

ทั่วร่างกายมีข้อต่างๆมากมายเป็นร้อยข้อ เช่น ข้อขากรรไกร ข้อกระดูกสันหลัง ข้อไหล่ ข้อแขน/ข้อศอก ข้อมือ ข้อนิ้ว ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อนิ้วเท้า

โรคต่างๆของข้อต่างๆ มีสาเหตุส่วนใหญ่เหมือนๆกัน ซึ่งเมื่อเกิดโรคอย่างเฉียบพลัน และรักษาได้หายภายในระยะเวลาเป็นสัปดาห์ มักเรียกว่า “โรคข้อเฉียบพลัน (Acute joint disease )” แต่ถ้าอาการค่อยๆเกิด แต่เรื้อรังนานเป็นเดือนหรือหลายๆเดือน โดยอาจมีอาการเฉียบพลันแทรกซ้อนได้เป็นระยะๆ เรียกโรคข้อในลักษณะนี้ว่า “โรคข้อเรื้อรัง (Chronic joint disease)”

โรคข้อ อาจเกิดขึ้นเพียงข้อใดข้อหนึ่งเพียงข้อเดียว หรือเกิดหลายๆข้อพร้อมกันได้ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ

โรคข้อ มักเกิดร่วมกับโรค ของกระดูก ของกล้ามเนื้อ และของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ทั้งนี้เพราะ เนื้อเยื่อ ของข้อ ของกระดูก และของกล้ามเนื้อ ล้วนจัดเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันเช่นเดียวกัน

โรคข้อ เป็นโรคพบบ่อยมาก พบในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยยิ่งอายุเพิ่มขึ้นก็จะยิ่งพบโรคข้อสูงขึ้น โดยเฉพาะ โรคข้อเสื่อม

โรคข้อ พบในผู้หญิงได้สูงกว่าในผู้ชาย ทั้งนี้เพราะผู้หญิงมีวัยหมดประจำเดือน ซึ่งฮอร์โมนเพศจะมีส่วนสัมพันธ์กับการเจริญเติบโต และการทำงานของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ดังนั้นเมื่อหมดประจำเดือน ฮอร์โมนเพศจะลดระดับลงอย่างมากมาย จึงส่งผลให้เกิดการเสื่อมของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันได้ ซึ่งรวมทั้งของ ข้อ ของกระดูก ของกล้ามเนื้อ และของเอ็น

โรคข้อมีสาเหตุจากอะไร?

โรคข้อ

สาเหตุของโรคข้อ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบได้บ่อย คือ

  • การเสื่อมตามอายุ: เป็นสาเหตุโรคข้อที่พบได้บ่อยที่สุด เพราะเมื่อสูงอายุ เซลล์ต่างๆทั่วร่างกาย รวมทั้งของข้อ จะมีการเสื่อมลงตามธรรมชาติ และเนื่องจาก ข้อ เป็นอวัยวะที่ถูกใช้งานและรองรับน้ำหนักตลอดเวลา โอกาสเกิดโรคข้อเสื่อมจากอายุ จึงสูง
  • จากการใช้งานอย่างต่อเนื่อง และ/หรือซ้ำๆ (การบาดเจ็บซ้ำซาก) : จึงส่งผลให้เซลล์ของข้อมีการบาดเจ็บ เสียหายได้บ่อย และอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้เกิดโรคข้อได้ง่าย เช่น การใช้ข้อในงานคอมพิวเตอร์ การกีฬา งานเย็บปักถักร้อยต่างๆ เป็นต้น
  • จากการใช้ข้อผิดวิธี: เช่น การบิดตัว การเอี้ยวตัว การก้ม เงย และ/หรือการยกของหนัก
  • จากอุบัติเหตุต่อข้อ: เช่น อุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ จากการกีฬา เป็นต้น
  • จากโรคกระดูกพรุน: โดยเฉพาะที่เกิดกับกระดูกสันหลังที่ส่งผลให้เกิด ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง
  • จากความผิดปกติในกระบวนการใช้พลังงานจากอาหารของร่างกาย/กลุ่มอาการเมตาโบลิก (Metabolic syndrome) เช่น โรคเกาต์ โรคเกาต์เทียม
  • ข้ออักเสบจาก ข้อติดเชื้อโรค: ซึ่งมักเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่นจาก โรคหนองใน โรคซิฟิลิส (พบได้น้อย)
  • ข้ออักเสบ โดยข้อไม่ได้ติดเชื้อโดยตรง: เช่น โรคออโตอิมูน/ โรคภูมิต้านตนเอง, โรคข้อรูมาตอยด์, โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน, โรคชิคุนกุนยา
  • จากโรคทางพันธุกรรม หรือ ความพิการแต่กำเนิด: พบโรคกระดูกและข้อจากสาเหตุนี้ได้น้อย เช่น โรคในกลุ่มที่เรียกว่า Skeletal dysplasia

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อ?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อ ได้แก่

  • การสูงอายุ : จากการเสื่อมตามธรรมชาติของเซลล์ต่างๆทุกชนิด รวมทั้งของข้อ
  • ผู้หญิง: จากภาวะขาดฮอร์โมนเพศ (ในวัยหมดประจำเดือน) ที่ช่วยการเจริญเติบโต และให้ความแข็งแรงของเนื้อเยื่อของข้อ
  • จากการใช้ข้อเกินกำลังต่อเนื่อง: เช่น การยกของหนัก งานคอมพิวเตอร์ การเล่นกี ฬาหักโหม เป็นต้น
  • โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน: เพราะข้อจะต้องแบกรับน้ำหนัก โดยเฉพาะข้อเข่า และข้อกระดูกสันหลัง
  • โรคมะเร็ง: โดยทั่วไป โรคมะเร็งของข้อ คือ โรคมะเร็งกระดูกที่เกิดกับกระดูกในส่วนที่เป็นข้อ หรือโรคมะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เกิดในส่วนของข้อ ซึ่งโรคมะเร็งทั้ง 2 ชนิด พบได้ในทุกอายุ ทั้ง 2 เพศ แต่เป็นโรคมะเร็งที่พบได้น้อย

โรคข้อมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคข้อในทุกสาเหตุจะเหมือนกัน โดยที่พบบ่อย คือ

  • ปวด/เจ็บข้อ
  • ใช้ข้อไม่ได้จากปวด/เจ็บ หรือจากข้อยึดติด
  • อาการตามสาเหตุ เช่น
    • บวม แดง ร้อน และ/หรือร่วมกับ มีไข้ เมื่อเกิดจากข้ออักเสบ
    • ข้อผิดรูป เมื่อเกิดจากอุบัติเหตุ หรือเกิดจากโรคข้อเรื้อรัง เช่น ในโรคข้อรูมาตอยด์ เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยโรคข้อได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคข้อได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยต่างๆ ประวัติอุบัติเหตุ อาชีพ การกีฬา
  • การตรวจร่างกาย และการตรวจข้อที่มีอาการผิดปกติ และ
  • อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจภาพข้อ ด้วยการเอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ ซีทีสแกน และ/หรือ เอมอาร์ไอ
    • บางครั้งอาจมีการดูดน้ำจากข้อเพื่อการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ในการวินิจฉัย โรคเกาต์ โรคเกาต์เทียม
    • การย้อมเชื้อ หรือการเพาะเชื้อ จากน้ำในข้อ หรือ
    • อาจมีการตัดชิ้นเนื้อจากเนื้อเยื่อของข้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาโรคข้ออย่างไร?

การรักษาโรคข้อ คือ การรักษาสาเหตุ ร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ และการทำกายภาพบำบัด/กายภาพฟื้นฟูข้อ

ก. การรักษาสาเหตุ จะแตกต่างกันตามสาเหตุของการเกิดโรคข้อนั้นๆ เช่น

  • การใช้ยาปฏิชีวนะ เมื่อโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • การผ่าตัดใส่ข้อเทียม เมื่อข้อนั้นเสื่อมมาก เช่น การผ่าตัดข้อเข่า หรือ ข้อสะโพก
  • การกินยาต่างๆ เช่น ในโรคเกาต์ โรคเกาต์เทียม
  • หรือการลดน้ำหนัก ควบคุมน้ำหนัก เมื่อสาเหตุเกิดจากโรคอ้วน เป็นต้น

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น

  • การกินยาแก้ปวด
  • การพักใช้ข้อ
  • การพันผ้ายืดเพื่อช่วยพยุงข้อ หรือ การใส่เฝือก

ค. การทำกายภาพบำบัด/กายภาพฟื้นฟูข้อ ตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล และ/หรือของนักกายภาพบำบัดตลอดไป ทั้งในขณะอยู่โรงพยาบาล (เมื่อมีการรักษาในโรงพยา บาล) และเมื่ออยู่บ้าน

โรคข้อมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

โดยทั่วไป การพยากรณ์โรคของโรคข้อ คือ เป็นโรคที่ไม่ทำให้เสียชีวิต แต่จะส่งผลข้าง เคียงถึงคุณภาพชีวิตในการใช้ชีวิตประจำวัน และในการทำงาน จากการใช้ข้อไม่ได้ตามปกติ และจากอาการปวดข้อเรื้อรัง

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ เมื่อมีความผิดปกติต่างๆดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรือถ้าอาการเลวลงภายใน 24 ชั่วโมง ต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล หรือมาโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันที โดยเฉพาะเมื่อเป็นอาการเกิดจากอุบัติเหตุ และมีการบาดเจ็บของข้อจนข้อผิดรูป

ส่วนกรณีเมื่อรู้ตัวว่าเป็นโรคข้อ การดูแลตนเอง และการพบแพทย์/การมาโรงพยาบาล/การมาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ทำกายภาพบำบัด กายภาพฟื้นฟูตาม แพทย์ นักกายภาพบำบัด พยาบาล แนะนำ สม่ำเสมอ ตลอดไป
  • รักษาสุขภาพจิต เพราะดังกล่าวแล้วว่า โรคจะส่งผลถึงคุณภาพชีวิตเสมอ
  • ควบคุมน้ำหนัก ลดน้ำหนัก ไม่ให้เกิดโรคอ้วน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ และ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือาการต่างๆเลวลง
    • เมื่อมีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น ปวดท้องมากต่อเนื่อง วิงเวียนศีรษะมากต่อเนื่อง
    • เมื่อกังวลในอาการ

หลักการปฐมพยาบาลข้อที่บาดเจ็บ มีดังนี้

เมื่อมีอุบัติเหตุข้อบาดเจ็บ การปฐมพยาบาล ใช้หลักการเช่นเดียวกับ การปฐมพยาบาล กล้ามเนื้อ และกระดูก ที่บาดเจ็บ โดย

  • เมื่อเกิดการบาดเจ็บของข้อ ควรหาผู้ช่วยเหลือเสมอ และ
  • ภายหลังการปฐมพยาบาล ถ้าเป็นการบาดเจ็บรุนแรง เช่น ปวด/เจ็บข้อมาก, ข้อส่วนที่บาดเจ็บผิดรูป บวมมาก, หรือมีเลือดออกจากแผลมาก, ควรรีบมาโรงพยาบาลฉุกเฉิน
  • แต่ถ้าอาการไม่มาก อาจรอดูอาการได้ประมาณ 1-2 วัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการเลวลง ควรรีบด่วนมาโรงพยาบาล

***** หมายเหตุ โทรศัพท์เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน เบอร์เดียวทั่วประเทศไทย คือ “โทรฯ 1669” สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข (สพฉ.) ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ หลักในการปฐมพยาบาล เรียกย่อว่า “PRICE” แพทย์บางท่านแนะนำเพียง “RICE” ซึ่งก็เช่นเดียวกับ PRICE เพียงแต่ตัด “P” ออกโดยให้รวมอยู่ใน “R และ C”

  • P คือ Protect การรีบป้องกันไม่ให้การบาดเจ็บลุกลามมากขึ้น โดยการไม่เคลื่อนไหวส่วนที่บาดเจ็บ อาจโดยการดามด้วยวัสดุที่แข็งแรง (เช่น ไม้ กระดาษหนังสือพิมพ์หนาๆ) การพันด้วยผ้ายืด (Elastic bandage) หรือการคล้อง (เช่น คล้องแขน) ทั้งนี้จะใช้วิธีการใดขึ้นกับตำแหน่งที่บาดเจ็บ
  • R คือ Rest การไม่ใช้งานข้อที่บาดเจ็บ เช่น ไม่ใช้ข้อแขนด้านนั้น ไม่ลงน้ำหนักข้อเท้าด้านนั้น เป็นต้น อย่างน้อยภายใน 24 ชั่วโมงหลังบาดเจ็บ
  • I คือ ICE การประคบบริเวณที่บาดเจ็บด้วยน้ำแข็ง/ความเย็น เพื่อลดอาการปวด/เจ็บ ลดบวม ลดการเลือดออก และลดการอักเสบ (ชนิดไม่ติดเชื้อ) ของเนื้อเยื่อข้อจากการบาดเจ็บ แต่อย่าใช้ความเย็นจัด เพราะหลอดเลือดจะหดตัว เนื้อเยื่อจะขาดเลือดได้ และแต่ละครั้งของการประคบไม่ควรนานเกิน 15-20 นาทีเพื่อป้องกันเนื้อเยื่อขาดเลือดเช่นกัน อาจประคบบ่อยทุก 1-2 ชั่วโมงในวันแรกของการบาดเจ็บ และควรประคบต่อเนื่องอีก 1-2 วัน แต่ลดความถี่ในการประคบลงได้ตามความเหมาะสมกับอาการ เช่น ทุก 3-4 ชั่วโมง หรือตามแพทย์แนะนำ (เมื่อได้พบแพทย์แล้ว)
  • C คือ Compress พันส่วนที่บาดเจ็บด้วยผ้ายืด เพื่อช่วยไม่ให้มีการเคลื่อนที่ ช่วยลดอาการบวม และช่วยลดการมีเลือดออก ทั้งนี้ต้องพันไม่ให้แน่น ต้องพันพอให้มีเลือดไหลเวียนในส่วนนั้นได้สะดวก การพันแน่นจะส่งผลให้เนื้อเยื่อขาดเลือดและเกิดอาการบวม ทั้งนี้ควรพันผ้ายืดไว้อย่างน้อย 72 ชั่วโมง หรือตามแพทย์แนะนำ (เมื่อได้พบแพทย์แล้ว)
  • E คือ Elevate คือ พยายามยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูงอย่างน้อยในช่วง 24 ชั่วโมงแรกของการบาดเจ็บ (ถ้าสามารถทำได้) เช่น แขน ขา เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต ลดแรงดึงดูดของโลก จะช่วยลดอาการบวมได้

มีการตรวจคัดกรองโรคข้อไหม?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรอง (ตรวจให้พบโรคตั้งแต่ยังไม่มีอาการ) ในโรคข้อ ทั้งนี้รวมถึงโรคมะเร็งด้วย ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีที่สุด คือ

  • เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังได้กล่าวแล้วในหัวข้ออาการ ควรพบแพทย์ภายใน 2-3 วันถ้าอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเอง หรือรีบพบแพทย์ใน 24 ชั่วโมง เมื่ออาการเลวลง หรือไปโรงพยาบาลฉุกเฉินตั้งแต่แรกเมื่อมีอาการรุนแรง เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรงทันที เป็นต้น อีกประการ คือ การดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคข้อ (จะกล่าวถึงในหัวข้อ การป้องกัน)

ป้องกันโรคข้อได้อย่างไร?

การป้องกันโรคข้อให้เต็มร้อยเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะโรคที่เกิดจาก อายุ พันธุกรรม และโรคมะเร็ง แต่โรคที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆโดยเฉพาะการบาดเจ็บของข้อ อาจป้องกันได้โดย

  • ในการทำงานที่ต้องใช้การออกแรงหรือกีฬาต่างๆ ควรต้องรู้จักการใช้งานข้ออย่างถูกวิธี
  • รู้จักวิธีที่ถูกต้องในการใช้ข้อ โดยเฉพาะ ในการยกของหนัก ยืน นั่ง เดิน ก้ม การใช้ข้อซ้ำๆ ต่อเนื่อง
  • รู้จักวิธีพักใช้ข้อ เมื่อเป็นการใช้ข้อซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นประจำ เช่นในงานอาชีพ เช่น งานเย็บปักถักร้อย งานคอมพิวเตอร์ นักกีฬา
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบทุกวัน เพื่อความแข็งแรงของเซลล์ต่างๆ รวม ทั้งของเนื้อเยื่อข้อ เพราะเช่นเดียวกับเซลล์ทุกชนิดของร่างกาย เซลล์เนื้อเยื่อข้อ ต้องการอาหารที่มีประโยชน์ในการทำงาน การเจริญเติบโต และการซ่อมแซมเซลล์ที่ เสียหาย สึกหรอ
  • ออกกำลังบริหารข้ออย่างถูกวิธี สม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ เพื่อป้องกันข้อยึดติด
  • ป้องกัน ควบคุม รักษาโรคต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยง (ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง) ให้เกิดโรคข้อ
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีสุขภาพ แข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ ซึ่งรวมทั้งการติดเชื้อของข้อ

บรรณานุกรม

  1. https://patient.info/doctor/first-aid-in-general-practice [2019,Nov30]
  2. https://www.niams.nih.gov/health-topics/kids/healthy-joints [2019,Nov30]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Joint [2019,Nov30]
  4. http://www.abs.gov.au/AUSSTATS/abs@.nsf/0/9E7B7AFA9DF69E20CA2571F60017A972?OpenDocument [2019,Nov30]
  5. https://medlineplus.gov/jointdisorders.html [2019,Nov30]
  6. http://www.arthritiscare.org.uk/LivingwithArthritis/Self-management/Takingcareofjoints/ [2019,Nov30]
  7. https://www.versusarthritis.org/about-arthritis/ [2019,Nov30]