โรคของคนชอบเก็บ-ไม่กล้าทิ้ง (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

โรคของคนชอบเก็บ

ทั้งนี้ American Psychiatric Association ได้กำหนดถึงเกณฑ์วินิจฉัยโรคชอบเก็บสะสมของว่าเป็นโรคทางจิตเวช (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders = DSM-5) ไว้ดังนี้

  • ไม่ยอมทิ้งของหรือแยกของ
  • มีความรู้สึกว่าจำเป็นต้องเก็บของนั้นไว้และความคิดในการทิ้งของจะทำให้อารมณ์เสีย
  • เนื่องจากการไม่ยอมทิ้งของ จึงทำให้ของวางระเกะระกะเต็มพื้นที่ไปหมด หากมีพื้นที่ใดที่เป็นระเบียบก็เป็นเพราะมีคนอื่นจัดให้
  • โรคนี้เป็นสาเหตุทำให้ไม่มีความสุขกับงาน สังคม ชอบเก็บตัวอยู่บ้าน
  • โรคนี้ไม่ได้เกิดจากการใช้ยาจากสาเหตุอื่น เช่น สมองได้รับการกระทบกระเทือน หรือ อาการผิดปกติทางจิต

การรักษาโรคนี้อาจมีปัญหาเพราะคนส่วนใหญ่ไม่คิดว่าตัวเองเป็นโรค หรือไม่เชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อตัวเองและคนรอบข้างที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา ในขณะที่หลายคนรู้ว่าตัวเองมีปัญหาแต่ก็ยังลังเลที่จะขอความช่วยเหลือ เพราะรู้สึกอายขายหน้าหรือผิดต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งการรักษาอาจทำได้ 2 อย่าง คือ จิตบำบัด (Psychotherapy) และการให้ยา (Medications)

จิตบำบัดด้วยการพูดคุย (Talk therapy) เป็นการรักษาเบื้องต้น ส่วนการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมบำบัด (Cognitive behavioural therapy = CBT) เป็นวิธีทางจิตบำบัดที่นิยมใช้มากที่สุดในการรักษาโรคชอบเก็บสะสมของ ซึ่งทำได้ด้วยการ

  • สำรวจตัวเองว่าทำไมจึงรู้สึกชอบที่จะเก็บสะสม
  • เรียนรู้ที่จะจัดการและแยกของออกเพื่อช่วยในการตัดสินใจได้ว่าสิ่งไหนควรทิ้ง
  • พัฒนาทักษะในการตัดสินใจและการจัดการ
  • เรียนรู้และฝึกที่จะผ่อนคลาย
  • เข้ารับการรักษาอย่างเป็นประจำและต่อเนื่องเพื่อสร้างนิสัยที่ดี

สำหรับยาที่นิยมใช้ในการรักษาโรคนี้เป็นยารักษาอาการซึมเศร้า (Antidepressant) ที่เรียกว่า ยากลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs)

ส่วนการดูแลรักษาตัวเองอาจทำได้ดังนี้

  • เข้ารับการรักษาตามโปรแกรมที่วางไว้
  • กินอาหารที่มีคุณค่า
  • ออกไปพบปะผู้คน เพื่อไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยว
  • เน้นไปที่เป้าหมาย จัดระเบียบ ใช้ชีวิตที่น่าอภิรมย์
  • ยอมรับการช่วยเหลือในการจัดบ้านให้เป็นระเบียบอย่างปลอดภัย
  • อาบน้ำและพยายามรักษาสุขอนามัยของร่างกาย

แหล่งข้อมูล

1. Hoarding disorder. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hoarding-disorder/basics/definition/con-20031337 [2016, September 8].

2. Hoarding disorder. http://www.nhs.uk/Conditions/hoarding/Pages/Introduction.aspx#why [2016, September 8].