โรคกระดูก (Bone disease)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคกระดูก หรือ โรคของกระดูก (Bone disease) คือ ภาวะผิดปกติต่างๆที่ส่งผลให้การทำงานของกระดูกผิดปกติไป ส่งผลให้กระดูก เปราะ บาง อ่อนแอ ไม่แข็งแรง ผิดรูป และ/หรือหักในที่สุด

กระดูก (Bone) จัดเป็นเนื้อเยื่อในกลุ่มเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่แข็งแรงที่สุดในร่างกาย มีทั้ง หมด 206 ชิ้น กระจายอยู่ในทุกส่วน ตั้งแต่ศีรษะ/กะโหลกจนถึงนิ้วเท้า โดยมีหน้าที่

  • ให้การเจริญเติบโตของร่างกาย (ความสูง)
  • ช่วยการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยเป็นที่ยึดเกาะ ของกล้ามเนื้อ ของเอ็นกระดูก ของเอ็นกล้ามเนื้อ และเป็นส่วนประกอบของข้อ
  • คงรูปร่างๆของร่างกาย
  • ปกป้องอวัยวะภายในต่างๆ เช่น สมอง ปอด และหัวใจ
  • เป็นแหล่งเก็บสะสมเกลือแร่สำคัญ เช่น แคลเซียม(Calcium) และฟอสฟอรัส (Phosphorus)
  • ช่วยรักษาสมดุลของเกลือแร่ และภาวะความเป็นกรด-ด่างในร่างกายผ่านทางเกลือแร่ต่างๆที่สะสมอยู่ในกระดูก โดยเฉพาะแคลเซียมและฟอสฟอรัส
  • ช่วยกำจัดสารพิษออกจากเลือด เช่น โลหะหนักต่างๆ (เช่น ตะกั่ว) โดยนำมาสะสมอยู่ในกระดูกแทน
  • และนอกจากนี้ ในโพรงส่วนกลางของกระดูกทุกชิ้น มีเนื้อเยื่อ เรียกว่า ไขกระดูก (Bone marrow) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อสร้างเม็ดเลือดต่างๆ

โรคกระดูก เป็นโรคพบบ่อยในทั้ง 2 เพศ พบในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยในประเทศที่เจริญแล้วที่ซึ่งประชากรมีผู้สูงอายุมาก โรคกระดูกพรุนที่พบมากในผู้สูงอายุจะเป็นโรคหนึ่งที่เป็นปัญหาสาธารณสุขและเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดกระดูกหักในผู้สูงอายุ

โรคกระดูกมีสาเหตุจากอะไร? ชนิดใดที่พบได้บ่อย?

โรคกระดูก

สาเหตุของโรคกระดูกมีได้หลายสาเหตุ ที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • จากการสูงอายุ: ทั้งนี้เซลล์กระดูกจะเช่นเดียวกับเซลล์ทุกชนิดของร่างกาย ที่จะเสื่อมลงตามธรรมชาติเมื่ออายุสูงขึ้น โดยเฉพาะจากการลดน้อยลงของฮอร์โมนเพศที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานของเซลล์กระดูก ดังนั้น ‘โรคกระดูกเสื่อม/โรคกระดูกพรุน’ ในผู้สูงอายุจึงพบในผู้หญิงได้สูงกว่าในผู้ชาย จากการที่ผู้หญิงมีวัยหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นวัยที่รังไข่หยุดสร้างฮอร์โมนเพศ ทั้งนี้ในปัจจุบัน โรคกระดูกพรุน เป็นโรคกระดูกที่พบได้บ่อยที่สุด
  • กระดูกหัก (Bone fracture) จากอุบัติเหตุต่างๆ เช่น การใช้รถใช้ถนน การกีฬา การลื่นล้มในบ้าน โดยกระดูกชิ้นที่พบเกิดการหักได้บ่อย คือ กระดูกข้อมือ กระดูกสันหลัง และกระดูกสะโพก
  • จากภาวะขาดอาหาร โดยเฉพาะอาหารโปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามิน ดี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างกระดูก
    • ซึ่งภาวะขาดอาหาร ถ้าเกิดในเด็กจะส่งผลให้กระดูกไม่แข็งแรง อ่อนแอ เปลี่ยนรูปร่างได้ง่าย เรียกว่า ภาวะกระดูกน่วม/โรคกระดูกอ่อน(Osteomalacia) และโรคกระดูกอ่อนในเด็ก(Rickets) ส่งผลให้กระดูกหักได้ง่าย และร่างกายไม่เจริญเติบโต
    • ส่วนในผู้ใหญ่ภาวะขาดอาหารจะส่งผลให้เป็นอีกสาเหตุเกิดโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของกระดูกหัก
  • จากการติดเชื้อโรค(กระดูกอักเสบ) เช่นเดียวกับอวัยวะทั่วไป กระดูกสามารถติดเชื้อโรคได้ โดยมักเป็นผลข้างเคียงตามมาจากกระดูกหัก หรือการมีบาดแผลในเนื้อเยื่อที่ติดกับกระดูก เช่น การติดเชื้อกระดูกกรามจากโรคเหงือกอักเสบ หรือเกิดร่วมกับภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต ปัจจุบัน นับจากการมียาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพ สาเหตุนี้จึงพบน้อยลงมาก เพราะกระดูกติดเชื้อมักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่รักษาควบคุมได้ด้วยยาปฏิชีวนะ อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง อาจเกิดจากการติดเชื้อราได้
  • จากโรคมะเร็ง โรคมะเร็งกระดูก คือ
    • โรคมะเร็งของตัวกระดูกเอง/มะเร็งกระดูก (Primary bone cancer) เป็นโรคพบได้น้อย มักเกิดในเด็กโต และช่วงวัยรุ่น โดยพบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง
    • แต่โรคมะเร็งของอวัยวะอื่นๆทั่วร่างกาย เมื่ออยู่ในระยะแพร่กระจาย มักแพร่กระจายมายังกระดูก(Secondary bone cancer) ซึ่งโรคมะเร็งที่แพร่กระจายมายังกระดูกนี้ เป็นโรคที่พบได้บ่อย บ่อยกว่ามะเร็งของตัวกระดูกเองมาก และมักเป็นโรคมะเร็งของผู้ใหญ่ โดยโรคมะเร็งที่มักแพร่กระจายมายังกระดูก คือ โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งผิวหนัง เมลาโนมา โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งไต เป็นต้น
  • จากโรคเนื้องอก ชนิด Acromegaly (โรคสภาพโตเกินไม่สมส่วน) ของต่อมใต้สมอง ที่พบได้ประปรายทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย ในเด็กและในผู้ใหญ่ เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุเกิด แต่เนื้องอกชนิดนี้จะสร้างฮอร์โมนชนิดกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโต (Growth hormone)สูงเกินปกติ ส่งผลให้เนื้อเยื่อเกี่ยวพันโดยเฉพาะกระดูกเจริญเกินปกติ(แต่หักง่าย) ส่งผลให้ผู้ป่วยมีรูปร่างสูงใหญ่เกินคนทั่วไป
  • จากพันธุกรรม: เป็นโรคที่พบน้อยมาก เช่น โรค Osteogenesis imperfecta ที่ส่งผลให้กระดูกทุกชิ้น เปราะและหักง่ายตั้งแต่แรกเกิด

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูก?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูก คือ

  • ผู้สูงอายุ: โดยเฉพาะผู้หญิงตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป คือ ประมาณอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป หรือในผู้ที่หมดประจำเดือนก่อนวัย รวมทั้งผู้ที่ผ่าตัดรังไข่
  • คนทำงานที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ขับรถ หรือเล่นกีฬาผาดโผน
  • ขาดอาหาร ชอบกินอาหารในกลุ่มที่เรียกว่า อาหารขยะ (Junk food)

โรคกระดูกมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคกระดูกจากทุกสาเหตุ จะคล้ายคลึงกัน โดยอาการสำคัญที่สุด คือ

  • ปวดกระดูกชิ้นที่เกิดโรค
  • เคลื่อนไหวร่างกาย/กระดูก ได้ลดน้อยลง หรือไม่ได้เลย จากโรคข้อกระดูกร้าว และ/หรือกระดูกหัก
  • รูปร่างกระดูกผิดรูปไป
  • อาจมี/คลำได้ก้อนเนื้อในส่วนกระดูกที่เกิดโรคเมื่อเกิดจากโรคมะเร็ง

แพทย์วินิจฉัยโรคกระดูกได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคกระดูกได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ โรคประจำตัว การรักษาโรคต่างๆที่ผ่านมา
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจภาพกระดูกตำแหน่งเกิดอาการด้วย เอกซเรย์กระดูก และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ, หรือการสะแกนกระดูก(Bone scan)
  • การตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก (Bone density scan, DEXA)
  • การตรวจเลือด ดูค่าฮอร์โมนต่างๆ ตามอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น เมื่อสงสัยโรคของต่อมใต้สมอง
  • การย้อมเชื้อ หรือ การเพาะเชื้อ จากสารคัดหลั่ง/หนองที่เกิดในรอยโรคของกระดูก
  • อาจมีการตัดชิ้นเนื้อ ที่รอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เช่น เมื่อมีก้อนเนื้อในกระดูก

รักษาโรคกระดูกอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคกระดูก คือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การรักษาสาเหตุ: เช่น

  • การเข้าเฝือก หรือใส่เหล็กดามกรณีกระดูกหัก
  • การให้กินแคลเซียมเสริมอาหาร ร่วมกับการใช้ยาฮอร์โมนต่างๆกรณีโรคกระดูกพรุน
  • การรักษาโรคมะเร็งซึ่งขึ้นกับชนิดมะเร็ง และระยะโรคมะเร็ง เป็นต้น

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: ที่สำคัญ คือ

  • การให้ยาแก้ปวด
  • นอกจากนั้น คือ
    • การทำกายภาพบำบัด/กายภาพฟื้นฟู กล้ามเนื้อ และข้อ ที่อาจเกิดการฝ่อลีบ หรือการติดขัดจากไม่ได้เคลื่อนไหวจากมีโรคของกระดูก เป็นต้น

โรคกระดูกรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของโรคกระดูก ขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • โรคกระดูกพรุน: ไม่ทำให้เสียชีวิต แต่ทำให้เสียคุณภาพชีวิต
  • แต่โรคมะเร็งกระดูก หรือโรคมะเร็งที่แพร่กระจายมากระดูก: มีความรุนแรงสูง และเป็นสาเหตุเสียชีวิตได้

ส่วนผลข้างเคียงจากโรคกระดูกทุกสาเหตุ คือ

  • การเสียคุณภาพชีวิต จากอาการปวด และการที่ไม่สามารถเคลื่อนไหว ใช้ชีวิตประจำวัน หรือทำงานได้ตามปกติ

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร? พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเอง ที่สำคัญ คือ การพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อมีอาการดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ’

ส่วนเมื่อทราบว่าตนเองเป็นโรคกระดูก/ได้การวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว การดูแลตนเอง ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
  • เคลื่อนไหวร่างกายเสมอ ทำกายภาพบำบัด/กายภาพฟื้นฟูด้วยตนเองที่บ้าน เท่าที่จะทำได้ ตามแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน เพื่อให้ความแข็งแรงกับกระดูก
  • จำกัดอาหาร ไขมัน แป้ง และน้ำตาล เพิ่มผัก ผลไม้ให้มากๆ เพื่อควบคุมน้ำหนัก ลดน้ำหนัก ป้องกันโรคอ้วน เพราะจะทำให้กระดูกต้องทำงานหนักขึ้นจากการรองรับน้ำหนักตัว
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง หรือ ผิดปกติไปจากเดิม เช่น มีอาการปวดมากขึ้น เกิดอาการชาตามร่างกาย มีกล้ามเนื้ออ่อนแรง
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง ปวดท้องเรื้อรัง/ปวดท้องมากจากยาแก้ปวดที่แพทย์สั่ง
    • เมื่อกังวลในอาการ

การปฐมพยาบาลเมื่อมีการบาดเจ็บของกระดูก

เมื่อมีอุบัติเหตุ ควรสงสัยกระดูกหักเมื่อ

  • เคลื่อนไหวส่วนนั้นๆที่ได้รับอุบัติเหตุไม่ได้
  • ร่วมกับ
    • อาการเจ็บ/ปวดมาก
    • กระดูกส่วนนั้นผิดรูป หรือมีกระดูกโผล่ออกมา
    • อาจร่วมกับ อาการ บวม ห้อเลือด และ/หรือมีเลือดออกตรงกระดูกส่วนนั้น

*ซึ่งเมื่อมีกระดูกหัก การปฐมพยาบาล ใช้หลักการเช่นเดียวกับ การปฐมพยาบาลกล้ามเนื้อ และข้อที่บาดเจ็บ โดยเมื่อเกิดการบาดเจ็บของกระดูก ควรหาผู้ช่วยเหลือเสมอ และภายหลังการปฐมพยาบาล ควรรีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน

ทั้งนี้ หลักในการปฐมพยาบาล เรียกย่อว่า “PRICE” แพทย์บางท่านแนะนำเพียง “RICE” ซึ่งก็เช่นเดียวกับ PRICE เพียงแต่ตัด “P” ออกโดยให้รวมอยู่ใน “R และ C”

  • P คือ Protect: การรีบป้องกันไม่ให้การบาดเจ็บลุกลามมากขึ้น โดยการไม่เคลื่อนไหวส่วนที่บาดเจ็บ ด้วยการดามส่วนที่เจ็บ/หัก ด้วยวัสดุที่แข็งแรง
  • R คือ Rest: การไม่ใช้งาน ไม่ลงน้ำหนัก กระดูกที่บาดเจ็บ
  • I คือ ICE: การประคบบริเวณที่บาดเจ็บด้วยน้ำแข็ง/ความเย็น เพื่อลดอาการปวด/เจ็บ ลดบวม ลดการเลือดออก และลดการอักเสบ (ชนิดไม่ติดเชื้อ) ของเนื้อเยื่อจากการบาดเจ็บ แต่อย่าใช้ความเย็นจัด เพราะหลอดเลือดจะหดตัว เนื้อเยื่อจะขาดเลือดได้ และแต่ละครั้งของการประคบไม่ควรนานเกิน 15-20 นาที เพื่อป้องกันเนื้อเยื่อขาดเลือดเช่นกัน อาจประคบบ่อยทุก 1-2 ชั่วโมงในวันแรกของการบาดเจ็บ และควรประคบต่อเนื่องอีก 1-2 วัน แต่ลดความถี่ในการประ คบลงได้ตามความเหมาะสมกับอาการ เช่น ทุก 3-4 ชั่วโมง หรือตามแพทย์แนะนำ (เมื่อได้พบแพทย์แล้ว)
  • C คือ Compress: พันส่วนที่บาดเจ็บด้วยผ้ายืด เพื่อช่วยไม่ให้มีการเคลื่อนที่ ช่วยลดอาการบวม และช่วยลดการมีเลือดออก ทั้งนี้ต้องพันไม่ให้แน่น ต้องพันพอให้มีเลือดไหลเวียนในส่วนนั้นได้สะดวก การพันแน่นจะส่งผลให้เนื้อเยื่อขาดเลือดและเกิดอาการบวม ทั้งนี้ควรพันผ้ายืดไว้อย่างน้อย 72 ชั่วโมง หรือตามแพทย์แนะนำ (เมื่อได้พบแพทย์แล้ว)
  • E คือ Elevate: คือ พยายามยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูงอย่างน้อยในช่วง 24 ชั่วโมงแรกของการบาดเจ็บ (ถ้าสามารถทำได้) เช่น เมื่อมีการบาดเจ็บที่ แขน ขา เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต ลดแรงโน้มถ่วง/แรงดึงดูดของโลก จะช่วยลดอาการบวมได้

มีการตรวจคัดกรองโรคกระดูกไหม?

โรคกระดูกที่สามารถมีการตรวจคัดกรองได้ (การตรวจให้พบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ) คือ โรคกระดูกพรุน ด้วยการตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูก (Bone density scan, DEXA) ซึ่งเริ่มตรวจได้

  • ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป (ทั้ง 2 เพศ)
  • ในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ 50 ปี
  • ในผู้หญิงที่ผ่าตัดรังไข่
  • หรือ ตามคำแนะนำของแพทย์

ป้องกันโรคกระดูกได้อย่างไร?

การป้องโรคกระดูกที่สำคัญ คือ

  • ป้องกันโรคกระดูกพรุน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคกระดูกพรุน) ซึ่งที่สำคัญ คือ
    • การออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพสม่ำเสมอ
    • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ ครบถ้วนในทุกวัน ร่วมกับกินแคลเซียมเสริมอาหารทุกวัน เริ่มในอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยควรปรึกษาแพทย์ พยาบาล เภสัชกรก่อนการซื้อกินเอง เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากยาแคลเซียม และเพื่อให้ได้รับปริมาณแคลเซียมที่เหมาะสม
  • ระมัดระวังกระดูกหักจากอุบัติเหตุต่างๆ เช่น
    • การสวมใส่เครื่องป้องกันในการเล่นกีฬา หรือขับรถ
    • การจัดสถานที่ต่างๆในบ้าน ในที่ทำงาน เพื่อลดอุบัติเหตุ การล้มลื่น
    • การสวมใส่รองเท้าที่ลดการลื่นล้ม เป็นต้น
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน เพื่อชะลอกระดูกเสื่อมก่อนวัยอันควร
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ เพราะการออกกำลังกายจะส่งผลกระตุ้นการทำงานของเซลล์กระดูก เสริมสร้าง และซ่อมแซมเซลล์กระดูกที่บาดเจ็บเสียหายได้เป็นอย่างดี

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Bone [2019,June8]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Bone_disease [2019,June8]
  3. https://medlineplus.gov/bonediseases.html [2019,June8]