โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ตอน 9 เทคนิคการทำอาหารโรคไตเรื้อรัง

โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังตอน-9

      

      อาหารของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง มักจะถูกกำหนดให้กินอาหารที่มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ต้องควบคุมโปรตีน โซเดียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส เป็นต้น ผู้ที่ดูแลเรื่องอาหารจึงต้องหาวิธีในการดัดแปลงอาหารให้กับผู้ป่วยให้สามารถรับประทานอาหารได้อย่างอร่อยและได้รับพลังงานและสารอาหารที่เพียงพอ เพราะความเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ทำให้ขาดความสุขในการใช้ชีวิตไปส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นหากสามารถทำอาหารให้กับผู้ป่วยได้อย่างน่ากินและอร่อย ย่อมจะช่วยชดเชยส่วนที่ขาดหายไปได้

  • เพิ่มสีสันในการทำอาหาร อาจจะดัดแปลงการใช้ผักต่างๆ อย่างละนิดอย่างละหน่อย ผสมกันเพื่อให้ดูมีสีสันน่ารับประทาน เช่น กะหล่ำปลี พริกหวาน มะเขือเทศ แครอท สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนการใช้ผักในตกแต่งสีสันในแต่ละมื้ออาหาร หรือนำผักที่มีโพแทสเซียมปานกลางผสมกับผักที่มีโพแทสเซียมต่ำ
  • เพิ่มรสชาติของอาหารให้หลากหลาย เนื่องจากผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงการปรุงรสด้วยเกลือโซเดียม ซึ่งมีมากในเครื่องปรุงรสอาหารนั่นคือ รสเค็มนั่นเอง เพิ่มความหลากหลายโดยให้มี รสเผ็ด รสเปรี้ยว รสหวาน รสขม เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยต้องยึดติดกับการกินอาหารรสจืด ชืดอย่างเดียว
  • กลิ่นหอมของอาหาร เป็นสิ่งสำคัญเมื่อได้สูดดม ทำให้ชวนอยากรับประทาน สามารถดัดแปลงใช้กลิ่นของเครื่องเทศได้หลากหลายชนิด เช่น ใบกระวาน กานพลู ขิง ข่า ตะไคร้ ใบโหรพา ใบมะกรูด กลิ่นของเครื่องเทศหลายชนิดสามารถกระตุ้นให้เกิดความอร่อย มีรสเฉพาะตัว มีความอร่อยนุ่มนวล มีโซเดียมจากธรรมชาติจะชวนให้ผู้ป่วยเกิดความอยากรับประทานอาหารได้
  • ควรเลือกอาหารสดใหม่ หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง อาหารสุกๆดิบ อาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก อาหารที่ผ่านกระบวนการถนอมอาหารทั้งหลาย
  • หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในการปรุงอาหาร เช่น ผงชูรส ผงฟู สารกันบูด สารกันเชื้อรา สารแต่งสี
  • จัดเมนูอาหารให้หลากหลาย ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน ให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการออกเมนูอาหาร หรือทำอาหารด้วยกัน เพื่อให้ผู้ป่วยจะได้ไม่เบื่ออาหาร
  • ใช้ข้าว แป้ง ที่ไม่มีโปรตีน (แป้งปลอดโปรตีน) ทำอาหารให้กับผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับพลังานที่เพียงพอ เช่น วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ สาคู แป้งท้าวยายม่อม แป้งมัน ฯลฯ

      ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจะเป็นโรคที่ถูกจำกัดเรื่องอาหารการกินอย่างเข้มงวด จนดูเหมือนว่าชีวิตนี้จะไม่สามารถหาความอร่อยๆที่ถูกปากได้อีกต่อไป แต่ความจริงแล้วยังสูตรอาหารที่อร่อยๆ รสชาติดีอีกมากมายที่ผู้ป่วยสามารถรับประทานได้ เพียงแต่ปรับความคุ้ยเคยกับรสที่ถูกปรุงแต่งด้วยซอส เกลือ น้ำปลา มาเป็นการสัมผัสกับรสธรรมชาติของอาหารแท้ๆที่สดใหม่ ซึ่งใช้เทคนิคการปรุงรสให้ออกมาได้อย่างลงตัว เราก็จะพบความอร่อยจากเนื้อแท้ของอาหารได้อย่างง่ายๆ ชีวิตเราก็เป็นสุขได้แม้จะป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง ก็เพราะเรารู้ว่าจะเลือกรับประทานอาหารอย่างไรนั่นเอง ในตอนถัดไปผู้เขียนได้ดัดแปลงเมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังโดยใช้แป้งปลอดโปรตีน เพื่อเพิ่มพลังงานให้กับผู้ป่วยสำหรับผู้ป่วยที่ต้องจำกัดโปรตีน

      

แหล่งข้อมูล:

  1. อาหารต้านโรค .โรคไต อาหารชะลอการเสื่อมของไต.พิมพ์ครั้งที่2. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แสงแดด;2552.