โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ตอน 7 ความสำคัญของน้ำ

โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังตอน-7

      

      น้ำ เป็นอาหารที่ไม่ให้พลังงานแต่ก็มีประโยชน์ต่อร่างกายไม่แพ้อาหารในหมวดอื่นๆ น้ำมีหน้าที่พาสารอาหารต่างๆเข้าสู่กระแสเลือด และนำของเสียออกจากร่างกาย ร่างกายประกอบด้วยน้ำร้อยละ 60 ในคนปกติมีไตในการทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของน้ำในร่างกาย แม้น้ำหนักของไตจะมีเพียงข้างละ 150 กรัม แต่มีเลือดที่ออกมาจากหัวใจมายังไตถึงร้อยละ 25 และทำหน้าที่กรองของเหลววันละ 150 ลิตร ขึ้นอยู่กับอัตราการกรองของไต โดยฮอร์โมนที่สำคัญในกระบวนการนี้คือ arginine vasopressin (AVP) และ renin-angiotensin system หากร่างกายได้รับน้ำมาก ไตก็จะขับส่วนเกินออกมาเป็นปัสสาวะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าได้รับน้ำน้อยไตก็ขับออกมาเป็นปัสสาวะน้อยลง แต่ในคนที่เป็นโรคไตเรื้อรังไตไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ ไม่ว่าจะได้รับน้ำมากหรือน้อยก็ตาม ถ้าร่างกายได้รับน้ำมากไปก็จะเกิดการคั่งค้างในตัวจนเกิดอาการเป็นพิษจากน้ำ ทำให้ ภาวะน้ำท่วมปอด หัวใจวายเฉียบพลัน ความดันโลหิตสูง หรือเกิดอาการซึม ชัก หมดสติได้ หรือถ้าได้รับน้ำน้อยก็จะเกิดอาการทางสมองได้เช่นกัน คืออาการซึมและชักได้

      ผู้เป็นโรคไตเรื้อรังโดยทั่วไปจะได้รับน้ำประมาณ 1-2 ลิตร/วัน จากการดื่มน้ำ จากอาหาร ผลไม้ ขนม และทุกอย่างที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ โดยน้ำที่ดื่มควรเป็นน้ำเปล่า และควรหลีกเลี่ยง ชา กาแฟ โอวัลติน น้ำอัดลมทุกชนิด น้ำหวานทุกประเภท แต่หากผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ร่วมด้วย อาจดื่มน้ำหวาน เช่น น้ำแดง น้ำเขียว ในปริมาณที่แพทย์กำหนด ซึ่งเราสามารถคำนวณหาปริมาณน้ำที่เหมาะสมที่ควรดื่มในแต่ละวัน โดยคำนวณจากปัสสาวะของเมื่อวาน บวกกับ 500 มิลลิลิตร ( 500 นี้คำนวณมาจากการสูญเสียน้ำทางเหงื่อและลมหายใจ) ฉะนั้นสมมุติถ้าปัสสาวะไปเมื่อวานเท่ากับ 800 มิลลิลิตร บวกกับ 500 มิลลิลิตร เท่ากับ 1,300 มิลลิลิตร ดังนั้นวันนี้เราควรได้รับปริมาณน้ำจากทุกที่ไม่เกิน 1,300 มิลลิลิตร

      ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยง อาหารที่ทำให้เกิดการกระหายน้ำ ได้แก่ อาหารรสจัด เผ็ดจัด เค็มจัด หรือหวานจัด อาหารที่มีผงชูรสเป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมขบเคี้ยว อาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารดังกล่าวล้วนทำให้เกิดการกระหายน้ำส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการดื่มน้ำเกินจากความต้องการของร่างกายได้

      

แหล่งข้อมูล:

  1. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิชาวักกะวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์.โภชนาการสำหรับผู้เป็นโรคไตเรื้อรัง. กรุงเทพฯ: บริษัท ไอดี ออล ดิจิตอล พริ้น จำกัด; 2560.
  2. โรคไต อาหารชะลอการเสื่อมของไต. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แสงแดด;2552.
  3. สิรกานต์ เตชะวนิช,วีรเดช พิศประเสริฐ, ส่งศรี แก้วถนอม,อุปถัมภ์ ศุภสินธุ์. Nutrition Review .กรุงเทพฯ: สมาคมผู้ให้อาหารทางหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย; 2560.