โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ตอน 1 บทบาทของไต

โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังตอน-1

      

      ไต เป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดของร่างกาย มีความสำคัญต่อชีวิตคนเราไม่น้อยไปกว่าหัวใจและสมอง ฉะนั้นหากมีหัวใจที่แข็งแรง มีสมองที่ปราดเปรื่อง แต่ไตเสื่อม ชีวิตเราก็ไม่อาจอยู่ได้อย่างมีความสุข เพราะทุกอวัยวะในร่างกายล้วนมีหน้าที่ๆ ต้องรับรับผิดชอบ เช่นเดียวกัน ไตก็มีทำหน้าที่เปรียบเสมือนตัวกรองน้ำหรือกระชอนที่ใช้กรองของเสียที่อยู่ในเลือดและขับของเสียออกทางปัสสาวะ สร้างสารที่จำเป็นของร่างกาย เช่น ฮอร์โมน erythropoiesis และทำลายสารบางอย่าง ถ้าไตเป็นโรคก็จะทำให้เกิดการคั่งของเสียต่าง ซึ่งจะมีผลต่อสารอาหารและภาวะสุขภาพของร่างกายด้วย

      หน้าที่ของไต

      1. ควบคุมความสมดุลของน้ำ ในร่างกายมาจากการดื่มน้ำเข้าไปและจากอาหารที่รับประทานเข้าไปโดยตรง ร่างกายยังได้น้ำจากขบวนการเผาผลาญเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานอีกด้วย ร่างกายมอบหมายให้ไตทำหน้าที่เป็นชลประทานดูแลความสมดุลของน้ำ คือให้เก็บน้ำยามเมื่อร่างกายขาดแคลนน้ำ และคอยระบายน้ำเมื่อมีน้ำเกินความต้องการของร่างกาย ปกติไตจะระบายน้ำออกมาเป็นปัสสาวะเฉลี่ยวันละ 1-2 ลิตร

      2. ควบคุมความสมดุลของเกลือแร่ เกลือแร่ที่สำคัญที่ร่างกายต้องคอยปรับให้อยู่ในระดับที่พอดีต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส

      3.การขับถ่ายของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารประเภทโปรตีน (เนื้อสัตว์และอาหารประเภทถั่ว) ของเสียเหล่านี้ได้แก่ ยูเรีย ครีเอตินีน กรดยูริก และสารประกอบไนโตรเจนอื่นๆ ของเสียดังกล่าวหากไตไม่ขับออกไปจะเกิดการคั่งค้าง หรือที่เรียกว่า เกิดภาวะยูรีเมีย ซึ่งทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติในระบบต่างๆ เช่น ระบบทางเดินอาหาร เกิดอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้องรุนแรงได้ อาจมีเลือดออกผิดปกติในที่ต่างๆ

      4.สร้างฮอร์โมนบางชนิด เช่น ฮอร์โมนที่ควบคุมความดันโลหิต ฮอร์โมนที่กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง และฮอร์โมนที่ควบคุมปริมาณของแคลเซียมหรือความสมดุลของกระดูก

      ดังนั้นอาหารที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยลดของเสียและแร่ธาตุส่วนเกินที่ต้องกำจัดออกทางไต จึงช่วยปกป้องภาวะแทรกซ้อนจากเกลือแร่เกิน และชะลอการดำเนินโรคทำให้ผู้ป่วยล้างไตช้าลง แนวทางการรับประทานอาหารให้ได้รับสารอาหารที่เหมาะสมสามารถทำได้ดังนี้

  • ลดการรับประทานเนื้อสัตว์ เพื่อลดของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญโปรตีนที่ต้องขับออกทางไต
  • จำกัดปริมาณโซเดียม โดยหลีกเลี่ยงอาหารโซเดียมสูง และจำกัดการใช้เครื่องปรุงรสเพื่อป้องกันภาวะน้ำเกิน ซึ่งอาจเกิดผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ และความดันโลหิตสูง
  • ควบคุมปริมาณโพแทสเซียม เพื่อป้องกันความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ โดยหลีกเลี่ยงอาหารโพแทสเซียมสูง ซึ่งพบมากในผัก ผลไม้
  • ควบคุมปริมาณฟอสฟอรัส เพื่อป้องกันภาวะกระดูกเสื่อม โดยจำกัดฟอสฟอรัสทั้งที่อยู่ในอาหารตามธรรมชาติ (Organic phosphorus) เช่น เครื่องใน ไข่แดง ถั่ว นมและผลิตภัณฑ์จากนม และหลีกเลี่ยงการรับประทานฟอสฟอรัสที่มีอยู่ในวัตถุปรุงแต่งอาหาร (Inorganic phosphate หรือฟอสเฟตแอบซ่อน) เนื่องจากฟอสฟอรัสดังกล่าวสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดี

แหล่งข้อมูล:

  1. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิชาวักกะวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์.โภชนาการสำหรับผู้เป็นโรคไตเรื้อรัง. กรุงเทพฯ: บริษัท ไอดี ออล ดิจิตอล พริ้น จำกัด; 2560.
  2. ฉัตรภา หัตถโกศล. แนวทางโภชนบำบัดสำหรับผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง. [อินเตอร์เน็ต]. 2018 [เข้าถึงเมื่อ 30 พฤษภาคม 2561].เข้าถึงได้จาก: https://thedistrictweb.com/body/treat-chronic-kidney-disease/
  3. อาหารต้านโรค .โรคไต อาหารชะลอการเสื่อมของไต.พิมพ์ครั้งที่2. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แสงแดด;2552.